คืบหน้าอีกรอบ กลไกคุ้มครองผู้บริโภคใหม่ของประเทศไทย ร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ผ่านวุฒิสภาแล้ว แต่น่าเสียดายที่สมาชิกวุฒิสภาไม่เห็นด้วยให้องค์การสามารถฟ้องคดีแทนผู้บริโภคได้ พร้อมเพิ่มงบประมาณในการสนับสนุนจาก ๓ บาทเป็น ๕ บาท และหากคณะกรรมการปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ ไม่เป็นอิสระ ไม่เป็นกลาง ต้องโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
วานนี้ 31 ม.ค. 55 อาคารรัฐสภา ๑ ชั้น ๒ ห้องประชุมรัฐสภา องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ผ่านการพิจารณาทั้ง 3 วาระในชั้นของวุฒิสภาแล้วโดยมี พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.องค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่) พ.ศ... หลังจากที่ประชาชนเฝ้ารอการเกิดขององค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคนี้มานานกว่า 14 ปี เมื่อวานนี้ที่ประชุมวุฒิสภาได้มีมติ ผ่านวาระ 3 เห็นชอบร่างพ.ร.บ. องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. .... ด้วยคะแนนเสียง 82 เสียงต่อ 7เสียง งดออกเสียง 2เสียง
นายสมชาย แสวงการ ประธานกรรมาธิการกล่าวว่า “การพิจารณาในชั้นวุฒิสภา ได้เพิ่มงบประมาณในการดำเนินการขององค์การอิสระ ฯ จาก 3 บาทต่อหัวประชากรเป็น 5 บาทต่อหัวประชากร ส่วนการฟ้องคดีที่คณะกรรมาธิการแก้ไขเมื่อวุฒิสภาไม่เห็นด้วยก็น่าเสียดาย แต่ก็ต้องถือว่าเรื่องฟ้องคดีเป็นประเด็นที่ทั้งชั้นสส. และสว. เห็นตรงกัน ถึงแม้องค์การนี้จะไม่สามารถฟ้องคดีได้ ก็สามารถสนับสนุนให้ผู้บริโภคตื่นตัว ใช้สิทธิของตนเองและสนับสนุนองค์กรผู้บริโภคอื่นๆ ให้ดำเนินการฟ้องคดีแทนผู้บริโภคได้” ประธานกรรมาธิการกล่าว
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่ารู้สึกดีใจที่องค์การอิสระ ฯ ผ่านวุฒิสภา เพราะองค์การนี้จะทำหน้าที่สำคัญ เช่น ให้ความเห็นเพื่อให้มีการคุ้มครองผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ตรวจสอบหน่วยงานของรัฐให้คุ้มครองผู้บริโภคเป็นหลัก ดูแลผู้ประกอบการเป็นรอง คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริงพร้อมชื่อสินค้าที่มีปัญหา สนับสนุนให้ผู้บริโภครู้เท่าทันการตลาดสินค้าและบริการ เพราะหากใครฟังวิทยุชุมชน ดูเคเบิ๊ลทีวี หรือใช้โซเชียลมีเดียทั้งหลาย ก็จะเห็นว่าการโฆษณาที่เกินจริงเป็นเท็จเต็มบ้านเต็มเมือง ไม่ว่าจากกรณีป้าเช็ง น้ำผลไม้รักษาโรค ยาลดความอ้วน สินค้าความงาม อาหารเสริมอ้างสรรพคุณเป็นยารักษาโรค เป็นต้น
พร้อมทั้งกล่าวเสริมว่า “รู้สึกผิดหวังที่วุฒิสภาไม่ให้องค์การอิสระฯทำหน้าที่ฟ้องคดีแทนผู้บริโภค เพราะกังวลเรื่องการฟ้องร้องแพทย์ ทั้งที่กฎหมายเขียนให้ฟ้องคดีแทนผู้บริโภคในกรณีที่เป็นประโยชน์สาธารณะ หากพิจารณาในปัจจุบันองค์กรผู้บริโภค หรือผู้บริโภคก็สามารถฟ้องคดีได้ด้วยตนเอง แต่องค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภคระดับประเทศไม่สามารถฟ้องคดีได้ เพราะสมาชิกวุฒิสภาบางท่านอาจจะเข้าใจผิดว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายของ NGOs ซึ่งไม่ใช่ และองค์การนี้ก็ไม่ใช่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพราะไม่ได้ใช้อำนาจรัฐในการให้คุณหรือโทษผู้ประกอบการ และไม่ใช่ NGOs เพราะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ
และหวังว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะเห็นชอบตามที่วุฒิสภาแก้ไขถึงแม้จะมีการปรับเปลี่ยนสาระในกฎหมายบ้าง แต่ก็เป็นการปรับเปลี่ยนเพื่อให้องค์กรนี้มีประสิทธิภาพ ทำงานได้มากขึ้น และโปร่งใส ตรวจสอบได้ และหากกระทำไม่ถูกต้องก็มีความผิด สามารถตรวจสอบการทำงานขององค์กรนี้ได้มากขึ้นเพราะหาก สส. ไม่เห็นชอบก็จะล่าช้าไปอีกในการที่จะมีองค์การนี้ทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 61” เลขาธิการมูลนิธิ เพื่อผู้บริโภคกล่าว