พุธที่ 6 ก.พ.นี้ เวลา 09.00 น. ผู้บริโภคกว่า 500 คน นัดปั่นจักรยาน นำรายชื่อผู้เห็นชอบให้ออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เข้ายื่นต่อรัฐสภา ให้ สส. สว. หยิบกฎหมายนี้ขึ้นมาพิจารณา หลังได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมาธิการร่วมของสองสภาเป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 9 มกราคม ขณะนี้รอส่งให้ทั้งสองสภาให้เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกฎหมายฉบับนี้ สิ่งที่สำคัญหากสภาใดไม่เห็นชอบกฎหมายก็จะตกไปแต่หากวุฒิสภาไม่เห็นชอบ สส.เห็นชอบ สส. มีสิทธิหยิบกฎหมายมาพิจารณาอีกครั้งหลัง 180 วัน
องค์การอิสระฯมีแล้วมีประโยชน์กับผู้บริโภคอย่างไร
1.เปิดเผยชื่อสินค้าที่เอาเปรียบผู้บริโภค เช่น แคลิฟอร์เนีย ฟิตเนส ว้าว ที่ปิดกิจการ หากเรามีองค์การอิสระก็จะออกมาเตือนให้ผู้บริโภคระวัง ทำให้ผู้บริโภคที่กำลังจะไปเป็นสมาชิก ก็น้อยลง แทนที่จะถูกหลอกถูกโกงกันเกือบสองแสนคน ก็น่าจะน้อยลง เสียหายกันน้อยลง
2.ป้องกันปัญหาและเป็นปากเป็นเสียงของผู้บริโภคในทุก กรณีที่จะมีการเอารัดเอาเปรียบ เช่น กรณีการขึ้นค่าโทลเวย์จาก 55 บาท เป็น 85 บาท โดยไม่ต้องขออนุญาตใครเพียงแต่ติดประกาศแจ้งผู้ใช้รถทราบภายใน 30 วัน แต่หากมีองค์การอิสระ กรมทางหลวงต้องจัดส่งเรื่องนี้ ขอความคิดเห็นต่อคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งคณะกรรมการ ฯ ต้องทำหน้าที่ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้โดยใช้ข้อมูลความรู้ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด การทำหน้าที่ให้ความเห็นจะช่วยเป็นปากเป็นเสียงแทนผู้บริโภคและช่วยให้หน่วย งานที่เกี่ยวข้องตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลจากตัวแทนของผู้บริโภคมากขึ้น แทนที่กลุ่มผู้บริโภคต้องอาศัยการฟ้องคดีในการคัดค้านการขึ้นราคาซึ่งก็เป็น ปลายเหตุ
3.เท่าทันปัญหาและใช้ชีวิตทันสมัยได้อย่างไม่ถูกหลอกถูกโกง เช่น ให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสินค้า และโฆษณาในโทรทัศน์ ทีวีดาวเทียม วิทยุชุมชน เคเบิ๊ลทีวี เพราะแม้แต่เครื่องดื่มรังนกสำเร็จรูปที่มีรังนกแห้งเพียง 1 % แต่กลับโฆษณารังนกแท้ 100 %
4.เป็นหน่วยสนับสนุนผู้บริโภคแบบเบ็ดเสร็จหรือครบวงจร (one stop service) ผู้บริโภคสามารถไปร้องเรียน ตรวจสอบ ขอคำปรึกษาทางกฎหมาย และติดตามความคืบหน้าได้ในทุกประเด็นปัญหา ทุกข้อเรียกร้อง แม้องค์การนี้จะไม่มีอำนาจหน้าที่ในการสั่งห้าม สั่งปิด สั่งรื้อ หรือสั่งปรับ ก็จะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคมาก เพราะการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แม้แต่อยากจะร้องเรียนปัญหาการละเมิดสิทธิก็ยากที่จะรู้ว่าต้องเดินไปที่ไหน โทรศัพท์สายด่วนเบอร์อะไร
5.ตรวจ สอบการคุ้มครองผู้บริโภค ให้คุ้มครองผู้บริโภคเพิ่มขึ้น เช่น กรณีแร่ใยหินที่พบข้อมูลชัดเจนว่าทำให้เกิดมะเร็งเยื่อหุ้มปอด เดิมประเทศไทยมีเพียงมาตรการฉลาก หากมีองค์การอิสระ ต้องขอความคิดเห็นจากองค์การนี้ ซึ่งจะมีโอกาสเสนอให้ยกเลิกการใช้อย่างที่ประเทศพัฒนาแล้ว หรือถึงแม้ในปัจจุบันจะมีมติคณะรัฐมนตรียกเลิกการนำเข้าและผลิตผลิตภัณฑ์ที่ มีส่วนผสมแร่ใยหิน แต่กระทรวงอุตสาหกรรมกลับโยกโย้ จะทำงานวิจัยใหม่ แทนที่จะปฏิบัติตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติและมติคณะรัฐมนตรี องค์การอิสระ ก็จะช่วยตรวจสอบการทำหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรมในการคุ้มครองผู้บริโภค แทนที่หน่วยงานอื่น ๆ ต้องแก้ปัญหาจากการตีรวนไม่ทำหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม
6. ผลัก ดันให้กฎหมายเป็นกฎหมาย เช่น กสทช.กำหนดกติกาให้บริษัทมือถือห้ามกำหนดวันหมดอายุบัตรเติมเงิน แต่ในความเป็นจริงทุกบริษัทกำหนดวันหมดอายุบัตรเติมเงินกันทั้งนั้น ไม่มีบริษัทไหนเลยที่ไม่ทำผิด กสทช.ก็มีมาตรการปรับวันละ 100,000 บาท รวม 3 บริษัทก็ตกเดือนละ 9 ล้านบาท แต่บริษัทก็อุทธรณ์ เพราะการไม่ทำตามคำสั่งได้ประโยชน์มากกว่าเพราะมีตัวเลขชัดเจนว่า ผู้บริโภคที่ร้องเรียน ถูกยึดเงินไปเฉลี่ยคนละ 517 บาท หากคิดว่าถูกยึดเงินเพียงร้อยละ 1 จากจำนวน 70 ล้านเลขหมาย บริษัทจะได้ประโยชน์ไม่น้อยกว่า 350 ล้านบาท