6 องค์กร ค้านพรบ. 8 ร่าง กระทบสิทธิเสรีภาพปชช.

34914
วันนี้ (14 ม.ค.) เครือข่ายพลเมืองเน็ต, สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย, มูลนิธิโลกสีเขียว, FTA Watch กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน, มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน และ สถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน ตั้งข้อสังเกตต่อชุดร่างกฎหมายต่อชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแล้วและกำลังจะเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สปช) หวั่นละเมิดสิทธิเสรีภาพในหลายด้าน ผูกขาดทรัพยากร และไม่ได้ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
ทั้งนี้เป็นการใช้ข้ออ้างเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อวัตถุประสงค์ด้านความมั่นคงของรัฐ ซึ่งทั้งหมดนี้สะท้อนออกมาในร่างกฎหมายที่ให้อำนาจภาครัฐมากขึ้นในการจัดสรรทรัพยากร สัดส่วนของคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่ตัดกรรมการด้านสิทธิเสรีภาพและผู้แทนภาคประชาชนออกไปและแทนที่ด้วยกรรมการจากฝ่ายความมั่นคง การไม่พูดถึงการคุ้มครองผู้บริโภค การรับประกันการเข้าถึงโดยผู้ด้อยโอกาสในสังคม และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนอีกต่อไป อีกทั้งไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องการตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรกำกับ แต่กลับสร้างองค์กรที่อาจมีปัญหาแบบเดียวกันเพิ่มขึ้นอีก

นอกจากนี้ กระบวนการเสนอกฎหมายยังทำไปด้วยความรวบรัด ขาดการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง
  1. ชุดกฎหมายเหล่านี้โดยเนื้อแท้ ไม่ใช่กฎหมาย “เศรษฐกิจดิจิทัล” แต่เป็นชุดกฎหมายความมั่นคง
  2. เนื้อหาในร่างพ.ร.บ.กสทช. เป็นการถือโอกาสดึงคลื่นความถี่กลับมาอยู่ในมือภาครัฐและกองทัพ ซึ่งจะกลับไปเหมือนในสมัยก่อนรัฐธรรมนูญปี 2540 กฎหมายชุดนี้ทำลายหลักการที่ว่าคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ และทำลายกลไกการแข่งขันเสรีเป็นธรรม จนกล่าวได้ว่าเป็นกฏหมายเพื่อ “เศรษฐกิจและกองทัพ”
  3. ร่างพ.ร.บ.กสทช.ทำลายความเป็นองค์กรอิสระของกสทช.
  4. ที่ผ่านมาภาคประชาชนเห็นร่วมกันว่ากสทช.จำเป็นต้องพัฒนาระบบธรรมาภิบาลให้ดีขึ้น ทั้งเรื่องการใช้งบประมาณและการใช้อำนาจ แต่ร่างพ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ไม่ได้แก้ปัญหาดังกล่าว และยังมีร่างกฎหมายใหม่อีกหลายฉบับที่จะสร้างหน่วยงานที่มีโครงสร้างงบประมาณและการบริหารลักษณะคล้ายกันขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก
  5. กองทุนที่มาจากรายได้ของกสทช. ถูกเปลี่ยนวัตถุประสงค์ไปจากเดิมเป็นอย่างมาก วัตถุประสงค์เดิมในการเป็นกองทุนวิจัยพัฒนาเพื่อประโยชน์สาธารณะ ส่งเสริมคุ้มครองผู้บริโภค ส่งเสริมผู้ประกอบกิจการบริการชุมชน ส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อของผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส และส่งเสริมจริยธรรมการประกอบวิชาชีพ ได้หายไปหมด และกลายสภาพเป็นกองทุนเพื่อให้รัฐและเอกชนกู้ยืม
  6. ร่างกฎหมายหลายฉบับ ไม่ส่งเสริมความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อย่างที่อ้าง อีกทั้งคุกคามเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในความเป็นส่วนตัวที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และกระทบการประกอบธุรกิจด้านข้อมูลข่าวสาร
  7. ร่างกฎหมายทั้งหมดขาดกลไกคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและสิทธิผู้บริโภคที่ชัดเจน อีกทั้งสัดส่วนของคณะกรรมการชุดต่างๆ ก็ไม่มีการรับประกันสัดส่วนจากผู้แทนด้านที่เกี่ยวข้อง ที่เห็นชัดที่สุดคือคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่มีการตัดกรรมการด้านสิทธิและผู้บริโภคออกไป 3 ตำแหน่ง และเพิ่มกรรมการด้านความมั่นคงเข้ามา 2 ตำแหน่ง
  8. ความไม่ชัดเจนของสถานะทางกฎหมายของหน่วยงานที่ตั้งขึ้นเป็น “หน่วยงานของรัฐที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล และไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ” ว่าสำนักงานและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานจะมีความรับผิดตามกฎหมายอย่างไร มีกลไกร้องเรียนตรวจสอบได้ทางไหน

 

 download002

(ร่าง) พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่..) พ.ศ. ....

(ร่าง) พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่..) พ.ศ. ....

(ร่าง) พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ....

(ร่าง) พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ....

(ร่าง) พ.ร.บ.ว่าด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล พ.ศ. ....

(ร่าง) พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. ....

(ร่าง) พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่..) พ.ศ. ....

(ร่าง) พ.ร.ฎ.จัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (ฉบับที่..) พ.ศ. ....

 

 

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน