ตามที่การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 พ.ย.57 ให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกากลับไปทบทวน ร่าง พรบ.เครื่องหมายการค้า ที่จะขยายขอบเขตความคุ้มครองไปที่กลิ่นและเสียงซึ่งถูกกระทรวงสาธารณสุข อุตสาหกรรมยาและเครื่องสำอาง และภาคประชาสังคมคัดค้านนั้น
วันนี้ (14 ม.ค.) มีการประชุมที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อพิจารณาในประเด็นนี้ โดยทางตัวแทนกระทรวงสาธารณสุขได้รับแจ้งว่า ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาขอถอนประเด็นการจดเครื่องหมายการค้า ‘กลิ่น’ ออกไปแล้ว จึงไม่มีประเด็นห่วงใยของกระทรวงสาธารณสุขที่จะกระทบต่อการเข้าถึงยาหรืออุตสาหกรรมยาในประเทศ
อย่างไรก็ตาม น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) เห็นว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ควรแก้ไขร่าง พรบ.นี้ให้เหลือเพียงสาระการปรับปรุงหลักเกณฑ์ ขั้นตอน และระยะเวลาการจดทะเบียน การปรับปรุงค่าธรรมเนียมเท่านั้น เพราะการยังคงให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าประเภทเสียง เป็นการให้ความคุ้มครองที่เกินกว่าความตกลงระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคีอยู่ อีกทั้งไทยก็ยังไม่ได้เป็นภาคีพิธีสารมาดริด จึงเท่ากับว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาแก้กฎหมายภายในประเทศล่วงหน้าเพื่อตอบสนองอะไรบางอย่าง
“กรมทรัพย์สินทางปัญญาอ้างว่าการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้เพื่อรองรับพิธีสารมาดริดนั้นเพื่อให้เป็นไปตามแผนการดำเนินงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาของอาเซียนที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องเข้าเป็นภาคีพิธีสารมาดริด ภายในปี 2558 แต่ต้องเข้าใจว่าแผนการดังกล่าว ไม่ใช่ความตกลงหรือสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตาม และในอนาคตหากไทยประสงค์จะเข้าเป็นภาคีสมาชิกพิธีสารมาดริด ก็ควรดำเนินการให้เสร็จสิ้นเสียก่อน จึงแก้ไขและอนุวัติการกฎหมายภายในประเทศให้สอดคล้องและเป็นตามพันธกรณีตามพิธีสารฯจึงจะถูกต้อง ไม่ใช่แก้ไขก่อนเช่นนี้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบทางลบที่คาดคะเนไม่ถึง ที่สำคัญ นี่เป็นการตัดตอนอำนาจการพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติตามขั้นตอนการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ”
ผู้ประสานงานเอฟทีเอ ว็อทช์ กล่าวว่า การให้จดเครื่องหมายการค้าประเภทเสียง ทั้งที่ไทยยังมีข้อจำกัดอย่างยิ่งทางด้านวิทยาการ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไม่น่าจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมของไทยแต่อย่างใด ในทางกลับกันอาจได้รับผลกระทบซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์จะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นมากกว่านี้ ไม่ใช่เพียงรับฟังตัวแทนผู้ทรงสิทธิ์และที่ปรึกษาจากรัฐบาลประเทศพัฒนาแล้วเท่านั้น
“ดังนั้น ข้อสังเกตเดียวที่มีในขณะนี้ คือ การให้จดทะเบียนทั้งเสียงและกลิ่นนั้น เป็นไปเพื่อตอบสนองข้อเรียกร้องของสหรัฐฯที่ปรากฏชัดในการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-สหรัฐฯตั้งแต่เมื่อปี 2549 และปูทางเพื่อรองรับการเจรจาทีพีพีที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้ ซึ่งหากประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมหรือยังไม่มีแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศ อาจกระทบกับอุตสาหกรรมในประเทศ และอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายจากการถูกผูกขาดการแข่งขันทางการตลาดในอนาคตได้ จึงอยากเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้ประเทศไทยเสียเปรียบเช่นนี้”