ผู้บริโภค เป็นห่วงกลัวรัฐบาลลืมกฎหมายองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เรียกร้องเดินหน้ากฏหมายผู้บริโภค

ผู้บริโภค เป็นห่วงกลัวรัฐบาลลืมกฎหมายองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคพร้อมร่วมมือกันเรียกร้องรัฐบาลให้เดินหน้ากฎหมายฉบับนี้เวที“ผ่าทางตัน ร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค”

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา สภาทนายความ แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ เรียกร้องให้รัฐบาลใหม่เดินหน้า(ร่าง) พรบ.องค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ที่เป็นอิสระจากหน่วยงานรัฐ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหลังจากรอมาไม่น้อยกว่า ๑๔ ปี พร้อมสนับสนุนให้มีหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในการฟ้องคดีเพื่อยุติการดำเนินการที่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค ผ่านเวที “เรื่องผ่าทางตัน ร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ที่อาคารวุฒิสภา

 

นายสมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ย้ำกฎหมายฉบับนี้ถือเป็นกฎหมายฉบับแรกที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอกฎหมาย และเป็นกฎหมายที่สำคัญของผู้บริโภค คิดว่า รัฐบาลน่าจะเดินหน้ากฎหมายฉบับนี้เ ปัจจุบันกฎหมายฉบับนี้อยู่ในขั้นตอนของกรรมาธิการวิสามัญของวุฒิสภาแล้ว และหากรัฐบาลยืนยันก็สามารถทำเป็นกฎหมายได้โดยเร็วเพราะกฎหมายฉบับนี้เป็นประโยชน์กับประชาชนทุกคนที่เป็นผู้บริโภคในฐานะพลเมือง

 

นายชาญณรงค์ ปราณีจิตต์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลอุทธรณ์ ให้ความเห็นสนับสนุนการฟ้องคดีขององค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค โดยเฉพาะการฟ้องคดีเพื่อประโยชน์สาธารณะ และรวมถึงการคุ้มครองผู้บริโภคแบบเร่งด่วน

 

พร้อม ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง ในฐานะผู้ทำงานวิจัยหลักเกณฑ์การดำเนินคดีแทนองค์กรผู้บริโภค ย้ำ ควรให้อำนาจองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญ สามารถฟ้องคดีเพื่อประโยชน์สาธารณะได้ ซี่งสามารถเขียนไว้ได้ในกฎหมายฉบับ เช่น พรบ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ หรือพรบ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒

 

ที่ผ่านมา ผู้บริโภค เครือข่ายผู้บริโภคและองค์กรการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ได้มีการเสนอร่างกฏหมายของประชาชน ซึ่งให้การรับรองสิทธิผู้บริโภคที่จะต้องได้รับการคุ้มครอง อีกทั้งบัญญัติให้มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคตามมาตรา 61 และในมาตรา 303 (1) ให้มีกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การดังกล่าวภายใน 1 ปีนับแต่คณะรัฐมนตรีที่เข้าบริหารราชการแผ่นดินภายหลังจากการเลือกตั้งทั่ว ไปเป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้

 

ทั้งนี้ องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญ จะทำหน้าที่ให้ความเห็นต่อการกำหนดนโยบาย กฎหมาย กฎ และมาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งหน้าที่ในการตรวจสอบการคุ้มครองผู้บริโภค ด้วยเหตุนี้จึงมีความสำคัญและจำเป็นที่จะต้องมีการเผยแพร่และรณรงค์สร้าง ความตื่นตัวในกลุ่มองค์กรผู้บริโภค ผู้บริโภคทั่วไป และประชาชนให้มีการรับรู้ มีความเข้าใจถึงบทบาทและหน้าขององค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค อย่างกว้างขวาง และเตรียมความพร้อมขององค์กรผู้บริโภคในการมีส่วนร่วมและสนับสนุนองค์การ อิสระผู้บริโภค และนี้ถือเป็นความก้าวหน้าของผู้บริโภคที่มีความตื่นตัวจากถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการ


พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน