สคบ.คุมเข้มแชร์ลูกโซ่หวังลดปัญหาร้องเรียน

สคบ. ปรับยุทธศาสตร์เชิงรุก หวังเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานคุ้มครองผู้บริโภค ลดปัญหาการร้องเรียน เล็งยกระดับเป็นองค์กรกลางประสานความร่วมมือทุกภาคส่วน ชู 8 นโยบายสร้างเครือข่ายภาคประชาชน

นายนิโรธ เจริญประกอบ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า ปีนี้ สคบ.ได้วางแผนยุทธศาสตร์การทำงานเชิงรุก เพื่อให้ สคบ.มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคให้ทันกับปัญหา และการขยายตัวของธุรกิจ โดยจะยกระดับ สคบ.เป็นองค์กรกลางประสานความร่วมมือคุ้มครองผู้บริโภคกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม

เป้าหมายสำคัญของ สคบ.ในปีนี้ คือการวางแนวทางการทำงานในเชิงรุก ไม่ใช่การทำงานแบบตั้งรับอีกต่อไป รวมถึงกระจายบทบาทสู่ภูมิภาค หรืออีกนัยก็คือต้องการสร้าง "พลังผู้บริโภค" ให้มีฐานที่ใหญ่ขึ้น มีพลังมากขึ้น ลงลึกถึงรากหญ้า ผ่านกลไกท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นราชการ ผู้นำชุมชน องค์กรเอกชน ชมรม รวมถึงสถานศึกษา เพื่อทำให้เจ้าของธุรกิจที่คิดจะเอาเปรียบผู้บริโภค ไม่อาจมองข้ามได้อีกต่อไป

โดยนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคปีนี้ สคบ.วางไว้ 8 แนวทาง ประกอบด้วย การติดตามตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค ทั้งโฆษณา ขายสินค้า รวมถึงธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง โดยเฉพาะปีนี้ สคบ.จะเข้มงวดในการตรวจสอบบริษัทขายตรงที่ไม่ความเคลื่อนไหวในธุรกิจ ที่มีอยู่ราว 300 รายจากทั้งหมดที่จดทะเบียนกับ สคบ.ประมาณ 500 ราย ขณะนี้ได้ตรวจสอบบริษัทไปแล้วประมาณ 20% และจะเร่งตรวจสอบให้เสร็จภายในกลางปีนี้ รวมทั้งตรวจสอบขายตรงที่เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่

การเป็นหน่วยงานกลางประสานความร่วมมือในการคุ้ม ครองผู้บริโภคกับทุกภาคส่วน, การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย ส่งเสริมการตั้งชมรม สมาคม เพื่อให้มีพลังและอำนาจต่อรองกับธุรกิจเอารัดเอาเปรียบได้, การสร้างเครือข่ายอาสาสมัครคุ้มครองผู้บริโภค ให้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคทุกระดับ, เน้นการเผยแพร่ความรู้แก่ผู้บริโภคอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในส่วนภูมิภาคที่พบว่ารับรู้ถึงสิทธิของตนน้อยมาก, ขยายศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้บริโภค โดยการประสานความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม และการจัดตั้งหน่วยขับเคลื่อนเร็ว เพื่อปฏิบัติการแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคอย่างทันท่วงที

อีกแนวทางหนึ่ง การเชิญผู้ประกอบธุรกิจ ที่มีแนวโน้มที่จะกระทำการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค และธุรกิจที่ผู้บริโภคร้องเรียนมาก จะเชิญมาทำความเข้าใจถึงโทษของผู้ฝ่าฝืน ในทางกลับกัน ทาง สคบ.จะร่วมสนับสนุน และส่งเสริมผู้ประกอบการที่กระทำความดี ปฏิบัติตามระเบียบกฎหมาย และลดปัญหาการร้องเรียน

ข้อมูลจาก นสพ.กรุงเทพธุรกิจ
30/01/53

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน