คลังเปิดแก้หนี้นอกระบบพ.ย. ดึงแบงก์รัฐปล่อยกู้ 8 แสนราย

คลังพร้อมเปิดโครงการแก้หนี้นอกระบบพ.ย.นี้ ดึง 2 แบงก์รัฐ ธนาคารออมสิน-ธ.ก.ส.ปล่อยกู้ ตั้งเป้า 8 แสนราย พร้อมให้ ปปง.-ดีเอสไอ-สรรพากร ร่วมเป็นกรรมการเจรจาหนี้ ด้านแบงก์ชาติต่ออายุศูนย์ประสานงานแก้ไขปัญหาการปล่อยสินเชื่ออีก 6 เดือน หลังประชาชนนิยมใช้บริการต่อเนื่อง

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังจะเปิดตัวโครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบในเดือนพ.ย.นี้ โดยจะมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน ซึ่งขณะนี้ ได้ซักซ้อมแนวทางการปล่อยกู้เพื่อมาแทนหนี้นอกระบบแล้ว

นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานอื่น เช่น สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง. สำนักงานสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และกรมสรรพากร เพื่อร่วมเป็นคณะกรรมการในการเจรจาหนี้ ซึ่งขณะนี้กำลังประสานงานในรายละเอียด ทั้งนี้มั่นใจว่าโครงการนี้จะส่งผลดีต่อประชาชนที่มีนอกระบบทั่วประเทศกว่า 7-8 แสนราย

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังแจ้งว่า หลายรัฐบาลได้พยายามเข้ามาแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชน และให้ความสำคัญถึงการแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบ โดยจัดให้มีการลงทะเบียน เพื่อแจ้งให้รัฐบาลทราบและเข้ามาช่วยแก้ไข โดยธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส.จะเป็นหน่วยงานหลักในการเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ผ่านโครงการธนาคารประชาชนของธนาคารออมสิน และ ผ่านการปล่อยสินเชื่อของ ธ.ก.ส. อย่างไรก็ตามปัจจุบันปัญหาหนี้ระบบยังไม่สามารถแก้ไขได้อย่างเบ็ดเสร็จ ทำให้เกิดนโยบายเข้าไปช่วยแก้ไขหนี้นอกระบบในรัฐบาลนี้

ทั้งนี้เมื่อช่วงกลางเดือนก.ย.ที่ผ่านมา นายกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังมีแผนที่จะเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาคนจนเน้นกลุ่มที่มีหนี้สินนอก ระบบ โดยจะจัดให้มีการขึ้นทะเบียนและช่วยปล่อยสินเชื่อผ่านธนาคารพาณิชย์รัฐ เช่น ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ซึ่งเป็นธนาคารที่มีสาขาและมีฐานลูกค้ารายย่อยจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อออกเป็นนโยบาย

"ผมได้คุยกับ สศค.เชิงนโยบายว่า เราน่าจะให้แบงก์รัฐมารับผิดชอบโดยตรงตั้งแต่แรก หรือตั้งแต่ขึ้นทะเบียน เพื่อให้เขารู้เกณฑ์การขอสินเชื่อ หรือ การเจรจาต่อรอง เพื่อนำไปสู่การกู้เงินในระบบ เพื่อทดแทนหนี้นอกระบบ ซึ่งแบงก์รัฐที่จะใช้ในงานนี้ คงเป็นธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. เพราะจากสถิติดั้งเดิมนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นหนี้ของเกษตรกร ซึ่งเป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส.มากที่สุด ฉะนั้น ก็เร่งดำเนินการเพื่อออกเป็นนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้ประชาชน" นายกรณ์ กล่าว

นายกรณ์ กล่าวด้วยว่า การแก้ไขปัญหาหนี้สินประชาชนถือเป็นหนึ่งในบทบาทของกระทรวงการคลัง และไม่กังวลเกี่ยวกับกระแสที่ระบุว่า เป็นการหาเสียงก่อนที่จะมีการเลือกตั้งใหม่ แต่หากจะได้คะแนนเสียงเพิ่ม ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี

แบงก์ชาติต่ออายุ ศปส. 6 เดือน

นายสรสิทธิ์ สุนทรเกศ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท. ได้ขยายบทบาทของศูนย์ประสานงานแก้ไขปัญหาการปล่อยสินเชื่อ (ศปส.) ในการเป็นตัวกลางเจรจาประสานงานกับธนาคารพาณิชย์ให้ผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระ นี้ของลูกหนี้ที่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ยังไม่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) แต่เป็นธุรกิจที่ยังมีศักยภาพ แต่ขาดสภาพคล่อง รวมถึงให้ขยายระยะเวลาดำเนินการของ ศปส. ออกไปอีก 6 เดือน โดยจะสิ้นสุดในเดือนมี.ค.2553 ซึ่งหากปัญหายังไม่คลี่คลายก็พร้อมจะพิจารณาขยายระยะเวลาดำเนินการต่อไปได้ อีก

เหตุผลที่ต้องขยายระยะเวลาให้บริการออกไปอีก เนื่องจากมีประชาชนร้องเรียนปัญหาเกี่ยวกับการใช้บริการของธนาคารพาณิชย์มา ยัง ศปส. จำนวนมาก โดยนับตั้งแต่เปิดศูนย์เมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 6 เดือน มีเรื่องร้องเรียนรวมทั้งสิ้น 1,859 เรื่อง แบ่งเป็นปัญหาร้องเรียนเกี่ยวกับการขอสินเชื่อ 602 ราย การปรับโครงสร้างหนี้ 283 รายการให้บริการของเจ้าหน้าที่ 640 ราย และปัญหาอื่นๆ 334 ราย ซึ่งในจำนวนเรื่องร้องเรียนทั้งหมด ศปส. ให้คำปรึกษาโดยตรง 1,373 เรื่อง คิดเป็น 74% โดยสามารถยุติปัญหาได้ทั้งสิ้น 1,656 เรื่อง คิดเป็น 89%

สำหรับธนาคารพาณิชย์ที่ปฏิเสธการปล่อยสินเชื่อ ให้เอสเอ็มอี โดยอ้างว่าลูกค้ามีประวัติค้างชำระหนี้ในข้อมูลเครดิตบูโรนั้น ศปส. ได้ย้ำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องแจ้งสาเหตุการระงับสินเชื่อเป็นลายลักษณ์อักษร ให้ลูกค้าทราบตามที่ พ.ร.บ.ธุรกิจข้อมูลเครดิตบูโร กำหนด เพื่อให้ลูกค้านำเอกสารใบแจ้งของธนาคารพาณิชย์ไปยื่นตรวจสอบประวัติข้อมูล เครดิตของตัวเองที่บริษัท ข้อมูลเครดิตบูโร จำกัด หรือผ่านธนาคารพาณิชย์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่หากธนาคารพาณิชย์ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจะถือว่ามีโทษทั้งจำและปรับ

"ปัญหาที่มีร้องเรียนเข้ามามากที่สุดคือ พฤติกรรมและการให้บริการของเจ้าหน้าที่ รองลงมาคือปัญหาการคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมไม่เป็นธรรม และปัญหาสถาบันการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อ ซึ่งเกิดจากลูกค้าไม่เข้าใจหลักเกณฑ์การขอสินเชื่อที่ถูกต้อง เช่น การขอสินเชื่อเป็นทุนหมุนเวียนไม่ได้หรือไม่เพียงพอ เพราะมีกระแสเงินสดไม่เพียงพอ ปัญหาการขอย้ายแหล่งเงินกู้ใหม่ที่มีเงื่อนไขดีกว่าไม่ได้ ปัญหาเบิกเงินสดจากบัตรเครดิตไม่ได้ เพราะมีการใช้เครดิตใกล้เต็มวงเงิน ซึ่ง ศปส. ได้ทำความเข้าใจและแก้ปัญหาได้ด้วยดี" นายสรสิทธิ์ กล่าว

ข้อมูลจาก นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 16/10/52

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน