บริการสุขภาพ

ซ้ำซาก ลงทะเบียนสวัสดิการเพื่อคนจน แนะจัดระบบสวัสดิการถ้วนหน้า

supattra
อดีตสมาชิก สปช. ค้านรัฐบาล คสช.ลงทะเบียนสวัสดิการเพื่อคนจน ชี้เป็นแนวคิดซ้ำซาก ล้าหลัง ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม ลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แนะรัฐปรับทัศนคติ มุ่งจัดระบบสวัสดิการถ้วนหน้าที่จำเป็นแทน ทั้งการศึกษา สุขภาพ และการดูแลผู้สูงอายุ มองเป็นการลงทุนด้านประชากร ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ไม่ใช่ภาระประเทศ หวั่นกระทบระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สอดคล้องความพยายามจำกัดงบประมาณและสิทธิเฉพาะคนจน

นางสาวสุภัทรา นาคะผิว ประธานคณะกรรมการองค์การพัฒนา เอกชนด้านเอดส์ (กพอ.) อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเปิดให้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐให้กับ ผู้มีรายได้น้อยว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ และเป็นความพยายามทำมาแล้วหลายครั้ง แต่สุดท้ายพบคำตอบว่าเราไม่สามารถยืนยันว่าคนจนคืออะไร และเมื่อเปิดลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิประโยชน์ มักจะมีคนที่ไม่ได้จนแต่อยากจนเข้ามารับสิทธิแทนเสมอ อย่างโครงการบ้านเอื้ออาทรที่คนจนจริงๆ ไม่ได้ซื้อ ดังนั้นมองว่าการดำเนินนโยบายแบบนี้ของรัฐบาลไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น ซ้ำยังทำให้เกิดการความเหลื่อมล้ำในสังคม แม้ว่าจะระบุเหตุผลว่าเพื่อนำไปสู่การขยายสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่เป็นการช่วยเหลือคนจนก็ตาม เรียกว่าทำให้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ลดน้อยถอยลง และคนจนจริงๆ คงไม่อยากแสดงตัวว่าจน หรือมีเวลาที่จะไปลงทะเบียน เพราะต้องทำงานแบบหาเช้ากินค่ำ ดังนั้นโอกาสที่จะเข้าถึงจะเป็นเรื่องยากด้วย

“ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ มองว่าช่องทางที่รัฐทำไม่ได้ช่วยให้คนจนได้เข้าถึงการช่วยเหลือ และยังเป็นการนำไปสู่นโยบายการสงเคราะห์คนยากจน ซึ่งแนวทางสงเคราะห์ผู้ยากไร้แบบนี้น่าจะหมดไปจากประเทศไทยได้แล้ว และควรก้าวผ่านไปสู่การจัดสวัสดิการถ้วนหน้าที่จำเป็นแทน ไม่ต้องสนใจว่าใครจะยากดีมีจน ซึ่งจะทำให้ทุกคนอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และมีคุณภาพชิวิตที่ดีขึ้น ดังนั้นวันนี้แทนที่รัฐบาลจะทำเรื่องนี้ ควรมีแนวคิดการจัดทำระบบเงินการคลังเพื่อสังคมแทน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน”

นางสาวสุภัทรา กล่าวว่า ในช่วงที่ทำการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณนั้น ได้มีการพูดถึงระบบการเงินการคลังเพื่อสังคมซึ่งรัฐต้องจัดสรรงบจำนวนหนึ่ง และทำเรื่องนี้อย่างชัดเจน ทั้งในด้านการศึกษา สุขภาพ และการดูแลผู้สูงอายุ คนที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป ทุกคนมีสิทธิ์ที่ได้รับสิทธิหล่านี้ แม้จะเป็นคนที่มีเงินก็ตาม รวมไปถึงเรื่องบำนาญ ทำอย่างไรให้ทุกคนในช่วงวัยหนุ่มสาวมีรายได้เพียงพอที่จะดำรงชีวิตและมีเงิน ออมที่ใช้เพียงพอในยามแก่เฒ่าได้ ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ขณะนี้ โดยใช้หลักคิดเช่นเดียวกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ ซึ่งแต่เดิมสิทธิรักษาพยาบาลมีเพียงเฉพาะระบบสวัสดิการข้าราชการ 5 ล้านคน และระบบประกันสังคม 10 ล้านคนเท่านั้น และต่อมารัฐบาลได้มองเรื่องนี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานมนุษย์ จึงได้ดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จนเป็นที่ยอมรับแม้แต่ในระดับสากล ดังนั้นทั้งเรื่องบำนาญและสวัสดิการอื่นๆ ที่ภาครัฐควรจัดให้ ต้องอยู่บนพื้นฐานเดียวกัน

ทั้งนี้ ณ วันนี้การที่รัฐบาลยังมีแนวคิดการสงเคราะห์ผู้ยากไร้อยู่ ต้องบอกว่าเป็นแนวคิดที่หล้าลังมาก แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกเรื่องรัฐต้องทำเป็นสวัสดิการถ้วนหน้าทั้ง หมด แต่ต้องมีการขยับแบบค่อยเป็นค่อยไป และเปิดให้ประชาชนผู้เสียภาษีมีส่วนร่วมว่า ภาษีที่ถูกจัดเก็บไปนั้นควรที่จะนำไปใช้ในเรื่องใดบ้าง และควรนำไปสู่การสร้างหลักประกันชีวิตให้กับประชาชน คือ

1.การศึกษาที่ดีและมีคุณภาพ พัฒนาประชากร เพื่อนำไปสู่การประกอบอาชีพและสร้างรายได้ในอนาคต
2.การรักษาพยาบาล โดยไม่ควรมีการล้มละลายจากการต้องจ่ายค่ารักษา โดยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ารองรับ แม้ว่าจะมีการดำเนินการในเรื่องนี้แล้ว แต่ต้องพัฒนาให้ดีและครอบคลุมการเข้าถึงยิ่งขึ้น
3.การจัดระบบบำนาญสำหรับประชาชน เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตในช่วงที่ชราและไม่สามารถทำงานได้ ส่วนจะใช้สิทธิเหล่านี้หรือไม่ให้เป็นการตัดสินใจของประชาชน เช่นเดียวกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปัจจุบัน

“ข้อเสนอของการจัดสวัสดิการถ้วนหน้า เป็นการสร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับประชาชนในประเทศ มีหลักประกันชีวิตที่ชัดเจน แต่คนมีรายได้และเงินเก็บจำนวนมาก หากวันหนึ่งเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็ง อาจทำให้ล้มละลายจากค่ารักษาได้ ซึ่งปัจจุบันก็เป็นอยู่”

ต่อข้อซักถามว่า การดำเนินนโยบายลงทะเบียนคนจนของรัฐบาลนั้นได้ระบุว่าเพื่อลดภาระการเงินการ คลังในการจัดสวัสดิการถ้วนหน้า  นางสาวสุภัทรา กล่าวว่า รัฐบาลไม่ควรมองเรื่องการจัดสวัสดิการที่จำเป็นสำหรับประชาชนเป็นภาระ แต่ควรมองว่าเป็นการลงทุนทรัพยากรด้านประชากรที่นำไปสู่การพัฒนาประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้นจึงต้องเปลี่ยนมุมมองและทัศนคติก่อน และจัดสวัสดิการถ้วนหน้าที่เหมาะสมและเพียงพอให้กับประชาชน อย่างไรก็ตามไม่เข้าใจว่ารัฐบาลมาเดินหน้าเรื่องการลงทะเบียนคนจนทำไม ซึ่งที่ผ่านมาเราเห็นความพยายามในการจำกัดสิทธิการรักษาพยาบาลเฉพาะคนจนเท่า นั้น ดังนั้นการเดินหน้าลงทะเบียนคนจนจึงกังวลว่า จะส่งผลต่อการจำกัดสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ เนื่องจากเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกัน

ภาพและข้อมูลอ้างอิงจาก สำนักข่าว Hfocus

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน