สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 6 มิ.ย.59 ที่ผ่านมา บอร์ดหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเลื่อนการลงมติคัดเลือกเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ออกไปก่อน โดยให้เหตุผลว่ารอผลการตีความจากกฤษฎีกา กรณีการตีความคุณสมบัติของผู้สมัคร ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มาตรา 32(12) สาระคือ “ไม่เป็นหรือภายในระยะเวลาหนึ่งปีก่อนวันได้รับแต่งตั้ง ไม่เคยเป็นกรรมการหรือผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจในการจัดการหรือมีส่วนได้เสียในนิติบุคคลซึ่งเป็นคู่สัญญา...” ทั้งนี้ กลุ่มคนรักหลักฯ เห็นว่าการบัญญัติข้อนี้ไว้นั้น เพื่อเป็นการป้องกันเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างชัดเจน
นางประจวบ ทิทอง ตัวแทนจากศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพ กรุงเทพฯ กล่าวว่า นี่เป็นการเลือกเลขาฯ สปสช.ครั้งที่สี่แล้วตั้งแต่ตั้ง สปสช. มา ซึ่งบอร์ดชุดก่อนหน้านั้นได้ส่งเรื่องให้กฤษฎีกาตีความเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้วว่าใครก็ตามที่ทำสัญญาดำเนินการ รับงบ หรือกระทำอื่นใดกับ สปสช.นั้นย่อมขาดคุณสมบัติที่จะได้รับเลือกเป็นเลขาฯ หากต้องการสมัครก็ต้องลาออก หรือยกเลิก หรือไม่รับสัญญาใดๆ จาก สปสช.ในหนึ่งปีก่อนหน้า แต่ในการเลือกคราวนี้ ทำไมต้องส่งให้กฤษฎีกาตีความอีกครั้ง คือหวังให้กลับการตีความอย่างนั้นหรือ นับเป็นเรื่องน่าสงสัย โดยเฉพาะเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นกรรมการกฤษฎีกาด้วย
นายธนพล ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไต เสนอให้บอร์ดเดินหน้าคัดเลือกไปตามรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาได้เสนอชื่อมาโดยเร็ว เนื่องจากขณะนี้ระบบหลักประกันสุขภาพต้องมีคนบริหารงาน บริหารกองทุน และทำงานร่วมกับบอร์ดในการผลักดันให้ระบบหลักประกันสุขภาพไม่ตกชั้นจากการยกย่องของนานาชาติ ซึ่งมีเรื่องให้ต้องทำอีกมากเพื่อคุ้มครองสิทธิประชาชนให้ได้รับอย่างเสมอภาค ถ้วนหน้ากัน
ส่วนนางสายชล ศรทัตต์ ผู้แทนเครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง กล่าวเพิ่มเติมว่า บอร์ดควรมีความกล้าหาญที่จะเลือกเลขาฯ ที่เหมาะสม ไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของใคร ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุข หรือธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งต่างก็ได้รับผลประโยชน์จากระบบด้วยเช่นกัน
นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว แกนนำของกลุ่มคนรักหลักฯ กล่าวว่า เขาต้องการเลขาฯ ที่เข้าใจ “ระบบหลักประกันสุขภาพ” ว่าเป็นสิทธิของประชาชน ไม่ใช่เป็นระบบเพื่อสงเคราะห์คนจน แต่เป็นการจัดสวัสดิการถ้วนหน้า เลขาฯ ต้องเข้าใจระบบที่แยกระหว่าง ผู้ให้บริการ กับผู้ซื้อบริการ ออกจากกัน เพื่อให้สามารถเจรจาต่อรองและคุ้มครองให้ประชาชนได้รับสิทธิการรักษาที่เหมาะสม โดยใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ และการทำให้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นกองทุนที่เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข ของคนในระบบทั้ง 49 ล้านคน หากให้ดียิ่งขึ้น ต้องเอางบค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการมาเฉลี่ยทุกข์สุขด้วยกันด้วย
ด้านนางอรกัลยา พุ่มพึ่ง แกนนำเครือข่ายผู้หญิงกับสุขภาพ ย้ำว่ายังมีหลายเรื่องที่บอร์ด และเลขาฯ สปสช.ต้องดำเนินการ กรณีที่มีความพยายามผลักดันให้วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกเข้าสู่ระบบ เพื่อฉีดให้เด็กผู้หญิงทุกคน ในขณะที่ราคาวัคซีนต่อเข็มยังมีราคาสูง ทั้งยังเป็นวัคซีนที่ไม่สามารถป้องกันเชื้อมะเร็งได้ทุกสายพันธุ์ ซึ่ง สปสช. ต้องดำเนินการให้เกิดราคาที่ต่ำลงกว่านี้ อย่าเอื้อประโยชน์ให้บริษัทวัคซีนที่ตั้งราคาสูงเกินจำเป็น นี่เป็นบทบาทสำคัญในการจัดสิทธิประโยชน์ให้ประชาชน การให้วัคซีนไม่สำคัญเท่ากับการส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้หญิงที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ระบบการคัดกรองโดยเร็วมากกว่า
ทั้งนี้ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ หวังให้บอร์ดหลักประกันสุขภาพ ต้องเลือกคนที่เข้าใจหลักการของระบบสวัสดิการสุขภาพถ้วนหน้า เสมอภาคกันไม่เลือกคนจน คนรวย รวมทั้งต้องไม่ตกอยู่ในข้อจำกัดที่ผู้มีอำนาจชี้นำว่าระบบนี้เป็นภาระของสังคม ต้องไม่ยอมจำนนต่อการจำกัดงบประมาณ เพราะระบบนี้เป็นสวัสดิการที่ทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถเป็นกำลังของประเทศชาติได้ ที่ผ่านมาระบบนี้ใช้เวลาเพียง 15 ปีทำให้ประเทศไทยได้รับการยกย่องจากนานาประเทศได้ อย่าให้การเลือกเลขาฯ ครั้งนี้ทำลายความชอบธรรมในการตัดสินใจของบอร์ดทั้งคณะ