บริการสุขภาพ

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเตือน ยิ่งรีบดันร่าง กม.บัตรทอง รัฐบาลเสี่ยงทำผิดรัฐธรรมนูญ

600717 news2เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 60) กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพติดตามการหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างตัวแทนประชาชนในกรรมการหลักประกันสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และตัวแทนกรรมการพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ...

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้กล่าวภายหลังที่ได้ประชุมร่วมกับรัฐมนตรีว่าการ (รมว.) สธ.วันนี้ (17 ก.ค. 60) ว่า การประชุมครั้งนี้ได้รับแจ้งว่าเป็นการประชุมแบบไม่เป็นทางการ ซึ่งได้แจ้งต่อที่ประชุมในครั้งนี้ว่า กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ไม่เห็นด้วยกับการแก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ในครั้งนี้ตั้งแต่แรก แต่ถ้า รมว.สธ.จะดำเนินการแก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ต้องแก้เฉพาะในประเด็นที่เป็นไปตามคำสั่ง มาตรา 44 ที่ 37/2559 และให้เพิ่มอำนาจหน้าที่ให้ สปสช.สามารถจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็น ตามที่ได้ดำเนินการมาด้วยดีตลอด 10 กว่าปีมานี้ได้เท่านั้น ส่วนประเด็นอื่นที่คณะกรรมการแก้ฯ เพิ่มเข้ามา กลุ่มคนรักหลักประกันฯ ขอคัดค้าน ไม่ให้แก้จนกว่าจะจัดทำการศึกษาและมีข้อมูลวิชาการมาประกอบการพิจารณาก่อน รวมทั้งต้องดำเนินการจัดกระบวนการแก้ไข(ร่าง) พ.ร.บ.ฉบับใหม่ให้สอดคล้องและเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77

น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ตัวแทนประชาชนในคณะกรรมการพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ... ตั้งข้อสังเกตว่า วันนี้ที่มีการเรียกประชุม โดยนายวรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการพิจารณา(ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ได้มีการนำเอกสารไปยื่นให้ รมว.สธ. ซึ่งไม่รู้ว่ายื่นเอกสารอะไรบ้าง ทั้งนี้ หากจะมีข้อสรุปอะไร ต้องมีการส่งเอกสารเวียนให้กรรมการทุกคนได้ดูก่อน อันถือเป็นมารยาททั่วไปในการทำงานร่วมกัน แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับเอกสารใดๆ ยกเว้นสรุปการประชุมเมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมาเท่านั้น

ด้านนายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายบัตรทองครั้งนี้ มีกระบวนการแก้ไขที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ขัดกับหลักการตามมาตรา 77 ภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่ระบุชัดเจนว่า การยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายต้องมีการรับฟังความเห็นผู้เกี่ยวข้อง และต้องมีการวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รัฐบาลจึงไม่ควรที่จะดำเนินการพิจารณากฎหมายที่สุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดรัฐธรรมนูญ

“สิ่งที่ภาคประชาชนติดตามมาตลอดกลับพบว่า การดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายที่สะดวกและเข้าใจได้ง่ายตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดนั้น กฎหมายฉบับนี้ถือว่าสอบตก เพราะการเปิดเวทีรับฟังฯ ที่ผ่านมาไม่เอื้ออำนวยให้กับประชาชน มีเฉพาะช่องทางออนไลน์ เปิดเวทีเพียง 4 ครั้งเฉพาะหัวเมืองใหญ่ และยิ่งแย่กว่านั้นยังไม่จัดทำผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ แล้วแบบนี้จะให้ประชาชนยอมรับได้อย่างไร ส่วนการประชุมที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปในวันนี้ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่น่าเสียดายที่เป็นการปิดห้องประชุมคุยกันเองแบบเป็นความลับ แม้จะมีภาคีที่เกี่ยวข้องไปร่วมหารือ หาก รมว.สธ.ต้องการสร้างกระบวนการรับฟังก็ควรที่จะต้องเปิดให้มีการคุยอย่างเปิดเผย และต้องขยายวงให้กว้างขึ้น” นายนิมิตร์กล่าว

นายนิมิตร์ กล่าวต่อไปว่า การแก้ไขกฎหมายบัตรทองครั้งนี้ เป็นที่สนใจและสร้างความไม่มั่นใจให้กับประชาชน และกลุ่มเครือข่ายประชาชนอย่างกว้างขวาง เกินกว่าการจับตามองของกลุ่มคนรักหลักประกันฯ ไปแล้ว และได้สร้างกระแสความไม่เห็นด้วย และความกังวลต่อการแก้ไขกฎหมายบัตรทองที่ประชาชนมองว่าเป็นสมบัติเพียงชิ้นเดียวที่จะเป็นหลักประกันในการมีชีวิต ซึ่งทางกลุ่มคนรักหลักประกันฯ มองว่าหากดึงดันแก้ไขโดยไม่ฟังเสียงประชาชนเลยแบบนี้ ประชาชนที่ติดตามเหล่านี้คงลุกขึ้นมาคัดค้านทั่วประเทศอย่างแน่นอน

น.ส.สุภัทรา นาคะผิว คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสัดส่วนภาคประชาชน กล่าวว่า การดึงดันส่งร่างกฎหมายฉบับนี้เข้า ครม.ในขณะที่มีข้อถกเถียงในประเด็นการแก้ไขกฎหมายที่ยังไม่เป็นที่ยุติ รวมถึงกระบวนการของกรรมการพิจารณากฎหมาย แทบไม่ได้ใช้ข้อมูลวิชาการมาประกอบการพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการยกเลิกการจัดซื้อยารวมของ สปสช.ที่ระบุว่าจะสร้างกลไกใหม่มาบริหารจัดการภายใต้ สธ.แทนของเดิมจะยังประสิทธิภาพในการต่อรองราคายาและใช้จ่ายงบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร โดยที่ผู้ป่วยยังเข้าถึงยาจำเป็นที่มีราคาสูงอย่างต่อเนื่อง หรือแม้กระทั่งเรื่องบริหารจัดการงบกองทุนที่เสนอให้มีการแยกเงินเดือนของผู้ให้บริการออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว ก็ไม่มีการนำข้อมูลวิชาการออกมาบอกได้ว่า การแยกหรือไม่แยกเงินเดือนจะมีผลหรือไม่มีผลกระทบต่อระบบอย่างไร ข้อท้วงติงทั้งจาก รพ.ชุมชน ประชาชน นักวิชาการ ที่มองว่าการแยกเงินเดือนอาจส่งผลต่อการกระจายบุคลากร ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากต่อคุณภาพการให้บริการต่อประชาชนในพื้นที่ไกลเมือง แต่คณะกรรมการพิจารณาร่างฯ กลับไม่มีหลักฐานวิชาการมาชี้แจงให้ประชาชนวางใจได้

พิมพ์ อีเมล