'หมอมงคล' ชี้ต้นตอความขัดแย้งแก้ ก.ม.บัตรทอง เหตุรัฐบาลให้งบจำกัด ทำระบบติดขัด อัดรัฐนำงบฯซื้ออย่างอื่นได้ แต่กลับซื้อสุขภาพให้กับ ปชช. ไม่ได้ พร้อมค้านแก้ ก.ม.บัตรทอง ทั้งการแยกเงินเดือนจากงบเหมาจ่าย เพิ่มสัดส่วนผู้ให้บริการในบอร์ด สปสช. ทำลายหลักการแยกผู้ซื้อ-ผู้ขาย เท่ากับล้มหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
เมื่อวันที่ 4 ก.ค.2560 ประชาไท Prachatai.com รายงานข่าวว่า นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ คิดเพื่อไทย TV.24 ถึงการแก้ไข พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่า ขณะนี้ต่างคนต่างบอกว่าโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่ล้มแน่นอน แต่หากมีการแก้ไขหลักการที่เป็นหัวใจสำคัญก็เหมือนกับการล้มไปโดยปริยาย ซึ่งหากยืนยันที่จะคงโครงการนี้ไว้ การแก้ไขกฎหมายจะต้องคงหลักการที่เป็นหัวใจสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือการแยกชัดเจนระหว่างผู้ให้บริกรรและผู้ซื้อบริการแทนประชาชน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความยุติธรรมสำหรับประชาชนที่จะได้รับบริการสุขภาพจำนวนงบประมาณที่จ่ายลงไป
นพ.มงคล กล่าวว่า หัวใจสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือเมื่อประชาชนอยู่ที่ไหนงบเหมาจ่ายรายหัวต้องกระจายไปที่นั่นรวมถึงเงินเดือนบุคลากร ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ที่กระจุกตัวในเมืองทำให้โรงพยาบาลชนบทไม่มีผู้ให้บริการ ส่งผลให้เกิดการเข้าไม่ถึงบริการ เกิดความไม่เสมอภาคในระบบบริการสุขภาพ จนกลายเป็นความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจน ดังนั้นในการจัดงบเหมาจ่ายรายหัวจึงต้องรวมเงินเดือนไดว้เพื่อให้กระจายบุคลากรทางการแพทย์ออกไปย ดังนั้นการแก้ไขกฎหมายที่ให้แยกเงินเดือนจากงบเหมาจ่ายรายหัวและรวมไว้ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สิ่งที่เกิดขึ้นบุคลากรจะขอย้ายไปอยู่ที่โรงพยาบาลใดก็ได้ ไม่ต้องกระจายไปตามประชากรและงบเหมาจ่ายรายหัวแล้ว ส่งผลปัญหาระบบอุปถัมภ์ที่มีอยู่ก็จะเพิ่มขึ้น เพราะขณะนี้แม้ว่าจะมีการรวมเงินเดือนไว้ในงบเหมาจ่ายแล้ว แต่การกระจายบุคลากรทางการแพทย์ไปตามประชากรยังทำได้ไม่ดี หากแยกเงินเดือนก็จะทำให้เกิดปัญหาย้อนกลับได้
“โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหมอสงวนได้เน้นตรงนี้มาก ประชากรอยู่ตรงไหน เงินต้องอยู่ตรงนั้น รวมถึงเงินเดือนบุคลากร จึงได้ออกแบบผูกเงินเดือนไปกับงบเหมาจ่ายรายหัวเพื่อให้คนเข้าถึงบริการได้ แต่หากแยกเงินเดือนเมื่อไหร่ สธ.ที่เป็นเจ้าของหน่วยบริการและเป็นเจ้าของเงินเดือนก็จะให้คนย้ายไปอยู่ตรงไหนก็ได้” อดีต รมว.สาธารณสุข กล่าวและว่า ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ จ.สิงห์บุรีที่มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ถึง 2 แห่ง โรงพยาบาลจังหวัด ไม่รวมโรงพยาบาลชุมชนอีก บุคลากรทางการแพทย์มีเป็นร้อยคน ขณะที่บางจังหวัดในภาคอีสานมีหมอแค่ 7 คน จึงต้องมีการบริหารจัดการเพื่อกระจายแพทย์ออกไป ซึ่งวิธีภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ดำเนินอยู่ขณะนี้ได้สร้างความเป็นธรรมที่ดีอยู่แล้ว จึงไม่รู้ว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายนี้เพื่ออะไร
นพ.มงคล กล่าวว่า ส่วนกรณีที่มีการเสนอแก้ไขเพิ่มสัดส่วนผู้ให้บริการในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) นั้น หลักการสำคัญของโครงการอย่างที่กล่าวแล้วคือการแยกผู้ซื้อและผู้ให้บริการ โดยผู้ซื้อมีหน้าที่ต้องทำให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมในการรับบริการสุขภาพต่องบประมาณที่ลงไป และเมื่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำหน้าที่นี้ ภายใต้การตัดสินใจของบอร์ด สปสช.ที่ประกอบด้วยผู้แทนภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะตัวแทนประชาชนในฐานะผู้รับบริการ สัดส่วนของบอร์ด สปสช.จึงต้องมีความเป็นธรรม ดังนั้นเมื่อมีการลดตัวแทนภาคประชาชนในบอร์ด สปสช.และเพิ่มตัวแทนผู้ให้บริการเป็น 7 คน เท่ากับเป็นการสร้างความไม่เป็นธรรมในการลงมติ เพราะเสียงส่วนใหญ่จะตกอยู่ที่ฝ่ายผู้ให้บริการ ทั้งนี้บอร์ด สปสช.ที่เป็นผู้ซื้อบริการต้องทำหน้าที่ควบคุมการให้บริการของฝ่ายผู้ให้บริการ เมื่อยกบอร์ด สปสช.นี้ให้เป็นของฝ่ายผู้ให้บริการแล้ว การบริการสุขภาพในระบบจากนี้จะขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการกำหนดว่าจะจัดให้มากน้อยเพียงใด เท่ากับจากนี้จะไม่มีหลักประกันอะไรให้กับประชาชน
“สปสช.ทำหน้าที่เป็นเลขาธิการของบอร์ด สปสช. นำมติบอร์ดไปปฏิบัติ หากต่อไปบอร์ด สปสช.มีผู้ให้บริการมากกว่าผู้แทนประชาชน การดำเนินประโยชน์ต่างๆ ภายใต้กองทุนจะเสียสมดุลและอาจจะเอนเอียงเพื่อลดความเสี่ยงในการบริหารโรงพยาบาล ทำให้ประชาชนอาจถูกริดรอนและขาดการรับบริการที่ดีได้ ขึ้นอยู่กับความเมตตาของผู้ให้บริการ นอกจากนี้ยังทำให้ขาดความเป็นกลางในการตรวจสอบได้” อดีต รมว.สาธารณสุข กล่าว
ส่วนกรณีที่ไม่มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ สปสช.ดำเนินจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ได้นั้น เนื่องจากมีการเอื้อประโยชน์ในเรื่องนี้ นพ.มงคล กล่าวว่า เรื่องนี้ที่ผ่านมาทั้ง คตร. และ สตง. ได้ตรวจสอบ สปสช.แล้ว แม้ว่าจะไม่พบการทุจริตแต่ก็ยังมีการย้ายเลขาธิการ สปสช.ขณะนั้น อย่างไรก็ตามการจัดซื้อยาของ สปสช.เพียงแค่ร้อยละ 4 ของยาทั้งหมด โดยจัดซื้อเฉพาะกลุ่มยาราคาแพงซึ่งหากไม่มีอำนาจต่อรองราคายาก็จะสูงมาก อย่างยาโดซีแทคเซลใช้รักษามะเร็ง จากราคา 4 หมื่นบาทเหลือเพียงแค่หมื่นกว่าบาทเท่านั้น เช่นเดียวกับสายสวนหัวใจ ชนิดอาบน้ำยาจาก 8 หมื่นบาท เหลือเพียง 1.2 หมื่นบาท เป็นต้น และกลุ่มยากำพร้าที่ไม่มีใครผลิตหรือนำเข้า และจากการจัดซื้อยาของ สปสช.ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้ประหยัดงบประมาณจากการต่อรองราคายาได้เกือบแสนล้านบาท ซึ่งหากถามว่า สธ.จะจัดซื้อยาเช่นเดียวกับ สปสช.ได้หรือไม ที่ผ่านมา สธ.เองเคยมีปัญหาทุจริตยาจนอดีต รมว.สาธารณสุขติดคุมาแล้ว
นพ.มงคล กล่าวต่อว่า ในช่วงที่มีการผลักดันกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และต้องแยกผู้ซื้อผู้ขาย ขณะนั้นอยู่ในตำแหน่งปลัด สธ. และไม่อยากให้ตั้ง สปสช. ซึ่ง นพ.สงวน นิติยารัมภ์พงศ์ อดีตเลขาธิการ สปสช.บอกว่าถ้าเช่นนั้นต้องแยกหน่วยบริการออกจาก สธ. โดยให้ สธ.ทำหน้าที่ซื้อบริการจากโรงพยาบาลแทน รวมถึงการติดตามประเมินผลการให้บริการแทน ซึ่งรัฐมนตรีสาธารณสุขขณะนั้นไม่เห็นด้วย จึงต้องตั้ง สปสช.เพื่อเดินหน้าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ต่อข้อซักถามว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าถูกมองเป็นภาระรัฐบาล นพ.มงคล กล่าวว่า มี 2 คำอยากให้พิจารณ์ คือ ภาระและการลงทุน ซึ่งประเทศที่พัฒนาไปได้จะต้องลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศ หากประชากรอ่อนแอประเทศก็จะพัฒนาไม่ได้ ดังนั้นการทำให้ประชากรมีสุขภาพดีทั้งกายและใจจึงถือเป็นการลงุทน โดยเราไม่ได้เน้นแต่การรักษาแต่รวมถึงการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ดังนั้นคนที่คิดว่าเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นภาระของประเทศ แสดงว่าคนนั้นไม่ได้ปรารถนาดีกับประเทศ
ส่วนกรณีที่มีการมุ่งเพื่อให้เกิดการร่วมจ่าย โดยยังคงรักษาฟรีกรณีผู้มีรายได้น้อยนั้น นพ.มงคล กล่าวว่า เป็นสิ่งที่เกลียดและโกรธที่สุด เพราะจะทำให้ความเป็นมนุษย์นั้นหายไป ซึ่งอยากให้ลองคิดดูว่า หากคนรายได้น้อยจะเข้ารับบริการฟรีแต่ละครั้งจะต้องคอยหันซ้ายหันขวาเพื่อยืนบัตร แล้วความรู้สึกจะเป็นอย่างไร ทั้งที่คนเหล่านี้ต่างต้องเสียภาษีให้กับรัฐบาลเช่นกัน แม้ไม่ใช่ภาษีบุคคล แต่ก็ถูกจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการซื้อสินค้า เราจึงต้องให้เกียรติความเป็นคนนี้ด้วย
อย่างไรก็ตามปัญหาความขัดแย้งในการแก้ไข กม.บัตรทองขณะนี้ ต้นตอสำคัญเกิดจากรัฐบาลที่จัดสรรงบประมาณสู่ระบบน้อยไป จนเกิดปัญหาติดขัดและขัดแย้ง ทั้งที่ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายดูแลสุขภาพประชาชนเพียงร้อบละ 4.6 ของจีดีพีเท่านั้น และเมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลอยู่ที่ร้อยละ 17 เท่านั้น ขณะที่ประเทศอื่นๆ อยู่ที่ร้อยละ 20 ดังนั้นจะบอกว่าเราใช้เงินกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามากคงไม่ได้ อีกทั้งการใช้จ่ายงบประมาณประเทศขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะให้เรื่องใดเป็นความจำเป็นสูงสุด จะนำเงินไปซื้ออย่างอื่นกี่หมื่นกี่แสนล้านบาทก็ได้ แต่กลับซื้อสุขภาพให้กับประชาชนไม่ได้ ซึ่งในช่วงที่อยู่ในรัฐบาลอมยิ้ม15ทำให้ไม่มีคนกล้าพูดเรื่องนี้ จึงต้องมานั่งทะเลาะกัน
ข้อมูลจาก ประชาไท Prachatai.com ภาพจาก internet