เมื่อวันที่ 4 ก.ค.60 เวลา 13.00 น. เครือข่ายผู้ป่วยโรคไต กลุ่มเครือข่ายผู้ป่วยเรื้อรัง (Healthy Forum) ยื่นหนังสือต่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้พิจารณาทบทวนต่อประเด็นการให้ข้อสังเกตเรื่องการร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ สตง.เสนอต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อลดหนี้สินค่าใช้จ่าย ตั้งคำถามถึงรายงานตรวจสอบหน่วยบริการสาธารณสุข ตามระเบียบราชการที่ สตง.ต้องปฏิบัติ
นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว รองประธานกลุ่มเครือข่ายผู้ป่วยโรคเรื้อรัง (Healthy Forum) กล่าวว่า หลังจากที่ สตง.ได้มีข้อสังเกตให้ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก โดยอ้างว่าแนวทางนี้จะช่วยลดภาระหนี้สินค่าใช้จ่ายของ สปสช. ได้นั้น เห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่อยากให้ สตง. เข้าไปตรวจสอบการใช้งบประมาณ และดูรายงานงบฯ ของหน่วยบริการ ตามข้อ 12 ในระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเงินบำรุงของหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2544 ด้วย
“เป็นหน้าที่ของ สตง. ที่ต้องเข้าไปตรวจสอบ แต่ไม่ทราบว่าได้เคยทำหรือไม่ ผลรายงานเป็นอย่างไร หรือลงบัญชีครบถ้วนถูกต้องหรือไม่ ซึ่งอยากให้ สตง.ช่วยเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลเพื่อความรอบด้านด้วย” นายอภิวัฒน์กล่าว
นางสาวพิชชญาวัลย์ ตันวีระ ตัวแทนเครือข่ายผู้ป่วยโรคไต กล่าวว่าหากมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาล อาจทำให้ผู้ป่วยมีภาระค่าใช้จ่ายในการรักษามากขึ้นจนอาจเกิดการล้มละลายจากการรักษาได้ และอัตราผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น เกิดจากปัจจัยต่างๆ ควรจะสนับสนุนการดูแลสุขภาพก่อนป่วยมากกว่าที่จะเรียกเก็บเมื่อป่วยแล้ว
โดยวันที่ 4 ก.ค. กลุ่มเครือข่ายผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทยได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพื่อขอให้นำข้อเสนอ 5 ข้อ ของกลุ่มเครือข่ายผู้ป่วยฯ เข้าเสนอต่อความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี รวมถึงได้ยื่นหนังสือต่อหน่วยงานอื่นๆ อีก ได้แก่ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพชาติ (สปสช.) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)
ทั้งนี้ ในสัปดาหน้าทั้ง 2 เครือข่าย จะขอเข้าพบผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินโดยตรงเพื่อขอพูดคุยหารือในประเด็นดังกล่าวให้ชัดเจนต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
http://www.consumerthai.org/news-consumerthai/consumers-news/medicalnews/3984-600704_news2.html
ภาพประกอบจาก ThaiPBS