บริการสุขภาพ

‘สธ.’ ยันแก้ กม.บัตรทอง เพื่อปรับการบริหารให้ ปชช.ได้รับบริการดีขึ้น ปัดยึดอำนาจ

sophon docter

ปลัดสาธารณสุขเผยการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำเพื่อประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด เป็นการแก้ไขเรื่องบริหารจัดการ ไม่ได้แก้เรื่องสิทธิที่ประชาชนจะได้รับ ชี้หากบริหารจัดการดี ประชาชนจะได้รับบริการที่ดีขึ้น

รายงานข่าวสำนักข่าว Hfocus เจาะลึกระบบสุขภาพระบุว่า  นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. .... (ฉบับเพิ่มเติม) ว่า ได้ปรึกษากับ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชื่นชมการทำประชาพิจารณ์ที่มีคนแสดงความเห็น และขอเรียนว่าการฟังประชาพิจารณ์ก็คือการไปรับฟังความเห็นของภาคประชาชน ภาคให้บริการ ภาควิชาการ และไม่ได้ยึดร่างนี้เป็นหลัก จะนำเหตุผล ข้อคิดเห็นที่ได้รับมาจากการทำประชาพิจารณ์มาปรับ ซึ่งยังอยู่ในขั้นของคณะกรรมการที่ปรังปรุงแก้ไขร่างพระราชบัญญัติอยู่ เป็นการแก้ไขเรื่องบริหารจัดการ ไม่ได้แก้เรื่องสิทธิที่ประชาชนจะได้รับ

“กระทรวงสาธารณสุขให้บริการก็เพื่อพี่น้องประชาชน ไม่เคยคิดที่จะยึดอำนาจใดๆ และเคารพตามพระราชบัญญัติที่มีมา โดยทาง สปสช.เป็นผู้ซื้อบริการเพื่อประชาชน กระทรวงสาธารณสุขก็เป็นผู้ให้บริการเพื่อประชาชน ไม่อยากให้มองว่าเป็นผู้ซื้อผู้ขาย แต่อยากให้เป็นการทำงานร่วมกันเพื่อประชาชนมากกว่า สำหรับประเด็นที่แก้ไขให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขมาเป็นรองประธาน ส่วนตัวคิดว่าไม่ใช่เรื่องที่จำเป็น ขอให้คณะกรรมการมีความสมดุลก็เพียงพอแล้ว หากกรรมการบอร์ดมีจุดยืนว่าต้องทำเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์ ไม่ทำเพื่อพวกพ้องหรือคนของตัวเอง ก็จะไม่เกิดปัญหา ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมาในฐานะกรรมการบอร์ด ได้นำเสนอปัญหาต่าง ๆ เป็นตัวแทนทางฝ่ายผู้ให้บริการ ที่ประชุมบอร์ดก็รับฟังเป็นอย่างดี”

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า ส่วนการแยกเงินเดือนนั้น ที่ผ่านมา 15 ปีการนำเงินเดือนรวมไว้ในงบรายหัวก็เห็นชัดแล้วว่าไม่สามารถแก้ไขเรื่องการกระจายบุคลากรได้ แต่ส่งผลกระทบต่อจังหวัดเล็ก ๆ ที่มีประชากรน้อย เช่น สมุทรสงคราม สิงห์บุรี ไม่มีงบประมาณเพียงพอในการจัดบริการประชาชน เมื่อนำเงินเดือนออกไป ทำให้จังหวัดเล็กๆ จะได้เงินไปดำเนินงาน และประชาชนได้รับสิทธิเท่ากัน ยกเว้นกรณีถ้ามีผู้สูงอายุมากขึ้น หรือพื้นที่อยู่ห่างไกล พื้นที่เกาะ ก็ควรได้ค่าใช้จ่ายรายหัวที่สูงขึ้น

ซึ่งโครงการศึกษาข้อมูลทางการเงินเพื่อประเมินข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานะการเงินและการวิเคราะห์ปัญหาการขาดทุนของโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวง ของบริษัทอีวาย และ สนช. เสนอว่าให้เอาเงินเดือนออก ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ใช้เครื่องมือใหม่ โดยมีการวางแผนกำลังคน และจัดทำกรอบอัตรากำลังของสถานพยาบาล รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ และหารายได้เพิ่ม เพื่อให้ รพ.สามารถดำเนินการได้

สำหรับการแก้กฎหมายที่ถูกมองว่าทำเกินกว่ามาตรา 44 นั้นคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฯ ได้ยึดมาตรา 44 เป็นหลัก และเพิ่มในประเด็นอื่นๆ ที่มีปัญหา อาทิ เงินเยียวยาผู้ให้บริการ เช่น กรณีพยาบาลที่ไปกับรถพยาบาลประสบอุบัติเหตุ คุณสมบัติผู้มีสิทธิสมัครเลขาธิการ สปสช. หรือกรณีซื้อยารวมที่ คตร.ทักท้วงว่า สปสช.ไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการจัดซื้อ ดังนั้นทำไมต้องเลือกวิธีที่ 1 คือให้ สปสช.ซื้อ หรือวิธีที่ 2 คือให้กระทรวงสาธารณสุขซื้อ แต่มาใช้วิธีที่ 3 คือร่วมกันทำเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์ ซึ่งเป็นการแก้ไขเรื่องบริหารจัดการ ไม่ได้ไปแตะเรื่องสิทธิประโยชน์ต่อประชาชน เพราะหากบริหารจัดการดี เชื่อว่าประชาชนจะได้รับบริการที่ดีขึ้น โดยขณะนี้ นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ โฆษกคณะกรรมการพิจารณา พ.ร.บ.ฯ ได้ประสานให้สถาบันพระปกเกล้าเพื่อศึกษาผลกระทบเกิดกับประชาชน

ในส่วนของการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค การจัดสรรกองทุนสุขภาพตำบลที่กังวลว่าจะมีผลกระทบนั้น ขณะนี้ ครม.ได้รับหลักการตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เสนอให้ตั้งคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอขึ้น เพื่อบูรณาการงานกับงบประมาณของกระทรวง งบที่ผ่านกองทุนตำบลหรือ สปสช. หรืองบท้องถิ่น งบกระทรวงพัฒนาสังคมฯ กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากที่สุดและไม่ซ้ำซ้อน มีนายอำเภอเป็นประธาน สาธารณสุขอำเภอเป็นเลขานุการคณะกรรมการ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น ประชาสังคม และเอกชนอื่นๆ เข้ามาช่วยกัน เป็นชุดบูรณาการและขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านคุณภาพชีวิต อยู่ระหว่างการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี

ข้อมูลจาก สำนักข่าว Hfocus เจาะลึกระบบสุขภาพ

พิมพ์ อีเมล