ร่าง พ.ร.บ.บัตรทองฉบับใหม่ มีเนื้อหาอย่างไร เหตุใดภาคประชาชนจึงออกมาคัดค้านในการทำประชาพิจารณ์หลายต่อหลายครั้ง มาเจาะลึกร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฉบับนี้
กลายเป็นความวุ่นวายที่เกิดขึ้นกลางวงประชาพิจารณ์แก้ไขปรับปรุง (ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .. หรือกฎหมายบัตรทองอีกครั้ง เมื่อในวันที่ 18 มิถุนายน 2560 เครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพกว่า 200 คน เดินทางมาคัดค้านการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายบัตรทอง หน้าโรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ก่อนจะมีการยื้อแย่งป้ายคัดค้านให้ยุติการแก้กฎหมายบัตรทอง จนเกิดความชุลมุนขึ้น ภายหลังจึงควบคุมสถานการณ์ได้โดยที่กลุ่มผู้ชุมนุมปักหลักอยู่หน้าห้องประชุมอย่างสงบ
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีผู้คัดค้านการแก้กฎหมายบัตรทองกลางเวทีประชาพิจารณ์ เพราะก่อนหน้านี้ได้มีการจัดเวทีประชาพิจารณ์มาแล้ว 3 ครั้งที่จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดสงขลา และจังหวัดขอนแก่น แต่ก็มีภาคประชาชนออกมาคัดค้านทุกครั้ง รวมทั้งมีการวอล์กเอาท์ จนเวทีประชาพิจารณ์ต้องล่มไปโดยปริยาย
หลายคนที่ไม่ได้ติดตามข่าวอาจสงสัยว่า ทำไมจึงต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และเหตุใด ? จึงมีผู้ออกมาคัดค้านการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้ หรือการออกกฎหมายบัตรทองฉบับใหม่จะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากว่า 48.8 ล้านคนทั่วประเทศหรือไม่ อย่างไร...มาหาคำตอบไปด้วยกัน
ทำไมจึงต้องแก้ไขพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ?
คณะกรรมการร่างกฎหมาย ให้เหตุผลว่า พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งใช้มานานถึง 15 ปีเต็ม มีข้อจำกัดหลายประการที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการเงินกองทุน ทำให้เงินงบประมาณที่โรงพยาบาลได้รับไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังไม่สามารถนำเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาอุดหนุนเป็นค่าใช้จ่ายให้กับโรงพยาบาลได้ เพราะติดขัดในข้อกฎหมายที่ไม่อนุญาตให้ทำ
ด้วยเหตุนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงออกคำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44 ให้แก้ปัญหาดังกล่าว เพื่อให้การบริหารจัดการงบของโรงพยาบาลมีความคล่องตัวขึ้น นำมาซึ่งการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง และการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
14 ประเด็นคำถามเรื่องการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ
ทั้งนี้ในการแก้ไขปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ รัฐบาลได้จัดให้มีการทำประชาพิจารณ์รับฟังเสียงจากผู้เกี่ยวข้องเพื่อนำมาประกอบการพิจารณา โดยตั้งเป็น 14 ประเด็นที่ให้ทุกคนได้ร่วมแสดงความคิดเห็น ดังนี้
1. ควรจ่ายเงินให้กับหน่วยงานอื่นของรัฐที่สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค หรือองค์กรชุมชน องค์กรเอกชน และภาคเอกชนที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการแสวงหาผลกำไรหรือไม่ ?
2. ระบุให้โรงพยาบาลมีสิทธิ์ในการได้รับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข และค่าใช้จ่ายเพื่อการบริการสาธารณสุขจากกองทุน เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถใช้จ่ายเงินเป็นค่าใช้จ่ายประจำ ค่าใช้จ่ายเพื่อชดเชยค่าเสื่อม และค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นได้หรือไม่ ?
3. ควรให้ สปสช. จ่ายเงินโดยตรงแก่บุคลากรที่ให้บริการ โดยไม่จ่ายผ่านหน่วยบริการตามกฎหมายกำหนดหรือไม่ ?
4. ควรให้เงินเหมาจ่ายรายหัวและเงินที่ได้จากผลงานบริการของหน่วยบริการ ให้รับเข้าเป็นรายได้ของหน่วยบริการเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจำเป็น และใช้ตามระเบียบเงินบำรุงฯ ได้หรือไม่ ?
5. ควรแก้นิยามคำว่า "บริการสาธารณสุข" จากเดิมที่หมายความว่า บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขซึ่งให้โดยตรงแก่บุคคล แก้เป็น "บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขซึ่งให้แก่บุคคล" ซึ่งจะทำให้สามารถใช้งบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นหรือไม่ ?
6. ควรแก้ไขให้การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุขหรือไม่ และให้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุขในทุกสิทธิ์ได้หรือไม่ ?
7. ควรแก้ไขให้สามารถให้เงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้รับบริการทุกสิทธิ์ได้หรือไม่ และควรยกเลิกการไล่เบี้ยหรือไม่ ?
8. ควรใช้เงินกองทุน สปสช. เพื่อจัดระบบหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมทุกคนที่อยู่บนแผ่นดินไทยหรือไม่ ?
9. ควรมีการร่วมจ่ายค่าบริการให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือไม่ ?
10. ควรให้ สปสช. มีอำนาจในการร่วมจัดซื้อยาเวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นหรือไม่ ?
11. ควรปรับโครงสร้างคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพิ่มขึ้นจากเดิม 30 คน เป็น 32 คน โดยเพิ่มผู้แทนโรงพยาบาล ผู้แทนวิชาชีพด้านสาธารณสุข และลดผู้แทนส่วนราชการ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้ทรงคุณวุฒิให้มีจำนวนน้อยลงหรือไม่ ?
12. ควรปรับโครงสร้างคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขเพิ่มขึ้นจากเดิม 35 คน เป็น 42 คน โดยเพิ่มรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนโรงพยาบาล และลดผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือไม่ ?
13. ควรแยกเงินเดือนและค่าตอบแทนของหน่วยบริการภาครัฐส่วนที่ซ้ำซ้อนในการบริหารจัดการออกจากเงินกองทุน สปสช. หรือไม่ ?
14. กรณีของ สปสช. ควรกำหนดให้งบบริหารจัดการและเงินรายได้ของสำนักงานไม่ต้องส่งคืนคลังเป็นรายได้ของแผ่นดินหรือไม่ และควรกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครเป็นเลขาธิการ ให้เป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่เป็นกิจการอันเป็นสาธารณประโยชน์และไม่ได้แสวงหาผลกำไร รวมทั้งไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ?
3 ประเด็นถกเถียงในกฎหมายบัตรทองฉบับใหม่
ในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้มีอยู่ด้วยกันหลายประเด็น แต่มีอยู่ 3 ประเด็นหลัก ๆ ที่ภาคประชาชนมองว่า หากแก้ไขแล้วจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ อีกทั้งยังลดการมีส่วนร่วมของประชาชน นั่นคือ
1. ปรับเปลี่ยนโครงสร้างบอร์ด สปสช.
ตามกฎหมายฉบับเดิมสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะมีคณะกรรมการ (บอร์ด สปสช.) 30 คน ประกอบไปด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงต่าง ๆ แพทยสภา องค์กรภาคประชาชน ท้องถิ่น เอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่าง ๆ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ nhso.go.th)
ขณะที่ร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่ จะเพิ่มบอร์ด สปสช. เป็น 32 คน แต่จะไปเพิ่มโควตาให้ตัวแทนโรงพยาบาลต่าง ๆ พร้อมกับลดจำนวนสมาชิกตัวแทนภาคประชาชน คือ จากเดิมมีผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4 คน จะลดเหลือ 3 คน ขณะเดียวกันก็เพิ่มผู้แทนของโรงพยาบาลมานั่งในบอร์ดอีก 7 คน
นั่นจึงทำให้ภาคประชาชนมองว่า บอร์ดชุดนี้มี "ผู้ให้บริการ" มากกว่า "ผู้รับบริการ" เท่ากับเป็นการลดทอนการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนหรือไม่ พร้อมกับเกิดคำถามว่า เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว สปสช. จะพิจารณาเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ ได้อย่างเป็นกลางหรือไม่ เพราะอาจมีการพิจารณาโดยเอนเอียงไปทางให้ประโยชน์ต่อสถานบริการก็เป็นได้
2. แยกเงินเดือนบุคลากรออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว
ประเด็นนี้แม้จะทำให้บุคลากรสาธารณสุขไม่ต้องกังวลเรื่องเงินเดือน แต่ที่ภาคประชาชนเป็นห่วงคืออาจกระทบกับการให้บริการและผู้ป่วย...
กล่าวคือปัจจุบันในปี 2560 หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง 30 บาท ใช้การจ่ายงบเหมาจ่ายรายหัว อยู่ที่ 3,109.87 บาท/คน/ปี โดยไม่มีการแยกเงินเดือนบุคลากรออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว เมื่อเป็นเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลไหน ประชากรเท่าไร ก็จะได้งบเท่ากันทั้งหมด จึงทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งเกิดภาวะ "ขาดทุน"
แต่ในร่างกฎหมายฉบับใหม่ จะมีการแยกเงินเดือนบุคลากรออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งผู้ร่างกฎหมายมองว่า การทำเช่นนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องของโรงพยาบาล อีกทั้งยังสะท้อนงบประมาณของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างชัดเจน
ทว่าภาคประชาชนกลับกังวลว่า การแยกเงินเดือนบุคลากรออกมา อาจส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์ขอย้ายไปทำงานในโรงพยาบาลใหญ่ ๆ หรือกระจุกตัวอยู่ตามโรงพยาบาลในเมืองมากกว่า เพราะไม่มีการล็อกเงินเดือนเอาไว้ตามพื้นที่ นั่นจึงทำให้พื้นที่ชนบทจะขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ เกิดความเหลื่อมล้ำ และกลายเป็นปัญหาใหญ่อีกเรื่องทั้งที่กฎหมายปัจจุบันป้องกันกรณีนี้ไว้อย่างดีแล้ว
อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ คณะกรรมการพิจารณาร่างฯ ได้ชี้แจงว่า การแยกเงินเดือนบุคลากรนั้น เพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนและสับสนในการบริหารจัดการ ทำให้บริหารงานได้ง่ายขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันยังทำให้เกิดความชัดเจนว่าเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ได้รับสนับสนุนจากรัฐบาลในแต่ละปีมีความเพียงพอหรือไม่
3. มีแนวโน้มที่ประชาชนต้องร่วมจ่ายค่าบริการ
หนึ่งในประเด็นที่ภาคประชาชนเป็นกังวลมากก็คือ "การร่วมจ่ายค่าบริการ" ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลเคยมีแนวคิดที่จะให้ประชาชนร่วมจ่ายเงินค่ารักษาบัตรทองด้วย เพราะปัจจุบันมีการใช้งบประมาณจากฝั่งรัฐเพียงทางเดียว และมีแนวโน้มใช้งบประมาณสูงขึ้น รัฐบาลจึงไม่สามารถรับผิดชอบได้ไหว แต่ประเด็นนี้ถูกแพทย์ส่วนหนึ่งและภาคประชาชนคัดค้าน เพราะมองว่าจะยิ่งทำให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยเข้าไม่ถึงการรักษา ประเด็นดังกล่าวจึงเงียบไป
กระทั่งในการทำประชาพิจารณ์ (ร่าง) พ.ร.บ. ฉบับนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการตั้งคำถามถึงกรณีที่ว่า ประชาชนควรร่วมจ่ายค่าบริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือไม่ ? เพื่อให้ประชาชนเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น
ประเด็นนี้ทำให้ภาคประชาชนหวั่นเกรงว่า ในกฎหมายฉบับเดิมซึ่งมีการระบุเรื่องการร่วมจ่ายค่าบริการอยู่แล้ว แม้ในทางปฏิบัติจะไม่มีการบังคับให้ประชาชนร่วมจ่าย แต่หากกฎหมายฉบับใหม่ยังไม่ยกเลิกประเด็นนี้ ประชาชนก็อาจมีโอกาสร่วมจ่ายในอนาคต จึงเรียกร้องให้ยกเลิกเรื่องการร่วมจ่ายค่าบริการในกฎหมายฉบับนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการร่างกฎหมายบัตรทอง ก็ได้ยืนยันว่า จะไม่มีการให้ประชาชนมาร่วมจ่ายค่าบริการบัตรทองอย่างแน่นอน
5 ข้อเรียกร้องจากกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ
ด้วยความกังวลในประเด็นต่าง ๆ จึงทำให้กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคกลาง ตะวันตก ตะวันออก และ กทม. ออกแถลงการณ์ 5 ข้อ เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้าน เนื่องจากมองว่ากฎหมายฉบับใหม่ไม่ลดความเหลื่อมล้ำ ไม่เพิ่มสิทธิประชาชน มีแนวโน้มร่วมจ่าย ทั้งยังมองบุคคลแค่เลข 13 หลัก ทำให้ขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ไม่สมดุล เพราะประชาชนไม่มีโอกาสมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น
ที่สำคัญไม่มีคำตอบว่าการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระของกฎหมายให้ดีขึ้นได้อย่างไร เพราะหลักการและเหตุผลของการแก้กฎหมายเจาะจงว่าจะแก้มาตราไหนอย่างไรบ้าง ดังนั้นไม่มีประโยชน์ที่จะรับฟังความคิดเห็นรายมาตรา จึงเรียกร้องให้หยุดกระบวนการทั้งหมด และเริ่มกระบวนการแก้กฎหมายใหม่ที่สมดุล และมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย เพราะจากการศึกษาร่างกฎหมายที่แก้ไข ไม่มีการปฏิรูประบบบริการสุขภาพ เช่น
1. การแก้ไขกฎหมายควรยึดหลักการแก้แล้วประชาชนได้ประโยชน์อย่างไรเป็นที่ตั้ง เช่น ต้องแก้ไขมาตรา 9 มาตรา 10 และมาตรา 11 เพื่อให้มีสิทธิประโยชน์เดียวสำหรับทุกคน และบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ
2. ยกเลิกการร่วมจ่าย เพราะการแก้ไขไม่ได้ยกเลิกการร่วมจ่าย ประชาชนมีโอกาสร่วมจ่ายเมื่อมีการไปใช้บริการ ซึ่งกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ คัดค้านการร่วมจ่ายที่หน่วยบริการ แต่สนับสนุนให้มีการจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เช่น จากกำไรในการซื้อ-ขายหลักทรัพย์ (Capital Gain) เพราะระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นของทุกคน คนชั้นกลางก็มีสิทธิ์ล้มละลายได้ถ้าต้องจ่ายค่ารักษาบริการสุขภาพราคาแพงด้วยตนเอง
3. ขอให้ใช้ข้อมูลหรือหลักฐานเชิงประจักษ์ในการแก้กฎหมาย (Evidence Based) เช่น ควรแก้กฎหมายเพิ่มอำนาจให้ สปสช. สามารถจัดซื้อยาและอุปกรณ์การแพทย์ราคาแพง โดยในปัจจุบัน สปสช. จัดซื้อยารวมสำหรับโครงการพิเศษเพียงร้อยละ 4.9 ของการจัดซื้อยา ทำให้สามารถประหยัดงบประมาณในรอบ 10 ปีได้เกือบ 50,000 ล้านบาท เพราะหากไม่แก้กฎหมายให้สามารถจัดซื้อได้ รัฐบาลจะนำเงินปีละ 5,000 ล้านบาทมาจากไหน ท่ามกลางทรัพยากรที่จำกัดของประเทศ หรือนี่คือหลุมในการร่วมจ่ายของประชาชนในการใช้ยา
4. การแก้กฎหมายให้แยกเงินเดือนของบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งดูเหมือนจะดีและทำให้บุคลากรสาธารณสุขไม่ต้องกังวล แต่ต้องยอมรับว่า จะเกิดปัญหาการกระจายบุคลากรที่เป็นธรรมต่อหน่วยบริการหรือโรงพยาบาล
5. การปรับโครงสร้างการบริหารจัดการระบบหลักประกัน โดยเพิ่มสัดส่วนผู้ประกอบวิชาชีพมากขึ้นทั้งสองคณะ ทั้งที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ควรเพิ่มสัดส่วนผู้รับบริการให้มากขึ้น และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุข ควรมีสัดส่วนของกลุ่มผู้ป่วย ตัวแทนศูนย์มาตรา 50 (5) ทั้งในหน่วยบริการและของประชาชน เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการทั้งสองคณะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มอำนาจของประชาชนในการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
รัฐบาล ยัน ไม่คิดยกเลิก "บัตรทอง" ขอประชาชนรู้เท่าทัน
จากประเด็นที่กล่าวมาทั้งหมดได้ทำให้ พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต้องออกมาชี้แจงว่า รัฐบาลยืนยันมาตลอดว่าจะไม่ล้มบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค เพราะเป็นสิ่งที่ดี มีแต่จะปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้น จึงอยากให้ประชาชนแยกแยะว่าคนที่ให้ข้อมูลว่ารัฐบาลยกเลิกบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรคนี้เขาต้องการอะไร ประชาชนควรรู้เท่าทัน
ส่วนการออกกฎหมายฉบับนี้ ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ระบุว่า การออกกฎหมายอะไรต้องเปิดเวทีรับฟังเสียงประชาชน หรือรับฟังข้อมูลจากหน่วยราชการ เพื่อนำไปวิเคราะห์ปรับปรุงแก้ไข ส่วนใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ไม่เป็นไร ทุกฝ่ายต้องแสดงความคิดเห็นในมุมของตัวเอง และทำการเก็บข้อมูลทุกอย่าง
ด้าน นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการประชาพิจารณ์ร่างฯ ยืนยันว่าจะนำทุกความเห็นของภาคประชาชนและการออกแถลงการณ์ต่าง ๆ เข้ามารวมเป็นความคิดเห็นของการประชาพิจารณ์ด้วย
ทั้งนี้หากใครสนใจอ่านเนื้อหาการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .. ทั้งหมด สามารถดาวน์โหลดได้ที่ ebook.dreamnolimit.com
ข้อมูลและภาพจาก https://health.kapook.com