บริการสุขภาพ

เดินหน้ารวม2กองทุนสุขภาพ

ตั้งคณะกรรมการร่วมเพิ่มสิทธิเปิดช่องผู้ประกันตนใช้บัตรทอง

 

วงประชุมรวมกองทุนนัดแรกตั้งคณะกรรมการรับหลักการเปิดช่องผู้ประกันตนใช้สิทธิบัตรทอง

ที่ประชุมร่วมระหว่างผู้แทนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ตามมาตรา 10 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา เห็นชอบในหลักการว่า หากมีการโอนย้ายผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพ แห่งชาติ หรือบัตรทอง จะมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตนไม่ต่ำกว่าที่ได้รับอยู่เดิม

นอกจากนี้ หากรายการที่บัตรทองได้มากกว่า ผู้ประกันตนต้องได้รับสิทธิประโยชน์นั้นด้วย แต่ยังไม่ถือเป็นมติ เนื่องจากถูกนายพนัส ไทยล้วน คณะกรรมการประกันสังคมคัดค้าน ในที่สุดที่ประชุมจึงเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด มี นพ.วิชัย โชควิวัฒน กรรมการ สปสช. และนายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการ สปส. เป็นประธานร่วม

ทั้งนี้ให้ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. และ นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล ผู้อำนวยการสำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ สปส. เป็นเลขานุการร่วม และนัดประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 9 มิ.ย.นี้

นายประสิทธิ์ จงอัศญากุล คณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) กล่าวต่อในที่ประชุมว่า ให้ สปสช. ไปเตรียมประเด็นการหารือในการประชุมครั้งที่ 2 เพราะ สปสช.ต้องเริ่มต้นก่อน สปส.จึงจะดำเนินการต่อได้ มิเช่นนั้นจะไม่คืบหน้า

นพ.วิชัย กล่าวว่า สปสช.จะทำข้อมูลความพร้อมในการรับโอนย้ายผู้ประกันตนมาเสนอต่อที่ประชุม แต่ให้ สปส.ส่งข้อมูลความต้องการ งบประมาณการรักษา เพื่อจะตอบโจทย์ว่าผู้ประกันตนไม่เสียสิทธิและจะได้รับประโยชน์เพิ่ม รวมถึงจะใช้จ่ายเงินน้อยลงเท่าใด

ขณะที่นายชาติพงษ์ จีระพันธุ์ ที่ปรึกษาบอร์ด สปส.ด้านกฎหมาย กล่าวว่า กรอบการพิจารณาในการดำเนินการ ประกอบด้วย 1.จะเกิดปัญหาเบิกจ่ายซ้ำซ้อนหรือไม่ 2.เมื่อรวมกองทุนแล้วลดปัญหาค่าใช้จ่ายลงเท่าไร 3.ตัวชี้วัดใดระบุถึงประสิทธิภาพการบริหารจัดการของทั้งสองกองทุน จากนั้นค่อยตัดสินใจดำเนินการ

ด้านที่ประชุมบอร์ด สปส.วันเดียวกัน มีมติเห็นชอบในหลักการให้ผู้ประกันตน ซึ่งลงทะเบียนกับโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สามารถเข้ารับบริการกับโรงพยาบาลสังกัด สธ.อื่นๆ ได้ทั่วประเทศ อีกทั้งมอบหมายให้ นพ.สุรเดช ไปหารือกับตัวแทน สธ.เพิ่มเติมในการชดเชยการขาดทุนของโรงพยาบาลกรณีมีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง เกินงบรายหัว

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน