บริการสุขภาพ

“ภาคประชาชนเรียกร้องหลักประกันสุขภาพ ที่มีคุณภาพมาตรฐานเดียวกัน”

11 พ.ค. 54 ห้องประชุม5กันยา สถาบันพระปกเกล้า นางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการและหลักประกันสุขภาพ ร่วมกับตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน 9 ด้าน (ผู้ใช้แรงงาน  เด็ก/เยาวชน  สตรี  คนพิการ  เกษตรกร  ชนกลุ่มน้อย  ชุมชนแออัด ผู้ติดเชื้อHIV/ผู้ป่วยเรื้อรัง และผู้สูงอายุ) แถลงจุดยืนเรื่องนโยบายสาธารณะด้านหลักประกันสุขภาพที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ

 

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถึงแม้จะมีบทบาทในการเพิ่มงบประมาณในการดำเนินการบัตรทอง แต่ไม่ได้มีความจริงใจในการดำเนินนโยบายสร้างสวัสดิการด้านสุขภาพอย่างแท้จริงแม้จะได้พยายามแถลงผลงานว่าเป็นรัฐบาลที่มุ่งเน้นไปสู่รัฐสวัสดิการ เบื้องหลังคือเพราะรัฐบาลเห็นว่านโยบายนี้เป็นผลงานของพรรคการเมืองฝั่งตรงข้ามจึงไม่พยายามจะทำให้ดีขึ้น ดังกรณีรัฐมนตรีสาธารณสุขซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ไม่ทำหน้าที่ในการสร้างความเข้าใจให้กับหมอ พยาบาล บุคคลากรของโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ให้ตระหนักว่าตนเองมีหน้าที่ตามจรรยาบรรณในการดูแลรักษาประชาชนพลเมืองทุกคน ไม่ใช่มีหน้าที่ออกมาบอกว่าระบบบัตรทองไม่ดี และแสดงท่าทีจะทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่สามารถดำเนินการได้ ทั้งการออกมาให้ข้อมูลผิดๆ กับผู้ประกันตนในประกันสังคมว่าควรยอมรับบริการรักษาพยาบาลที่สำนักงานประกันสังคมจัดให้ โดยยอมจ่ายเงินสมทบ ทั้งที่ การรับบริการสาธารณสุขเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐดำเนินการให้ประชาชนทุกคนอย่างทั่วถึง เท่าเทียม ด้วยระบบภาษีของประชาชน อย่างมีมาตรฐาน คุณภาพเดียวกัน โดยไม่ต้องร่วมจ่ายที่จุดบริการ (จ่ายผ่านภาษีทางตรง ทางอ้อมแล้ว)

 

กระทรวงสาธารณสุขคงเลี่ยงที่จะไม่พูดความจริงเกี่ยวกับภาวะขาดทุนของโรงพยาบาลรัฐที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ก็มาจากการประกาศของกระทรวงฯ เองเพื่อเพิ่มค่าตอบแทนแก่บุคลากรการแพทย์ ไม่ใช่ขาดทุนเพราะนำไปใช้ในการรักษาพยาบาล

 

เครือข่ายประชาชน  3 ด้านขอยืนยันว่าเราคือผู้ร่วมลงชื่อ ๙ หมื่นชื่อเพื่อเสนอกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ.2545 และต้องต่อสู้กับอคติของกลุ่มแพทย์ที่ออกมาคัดค้านกฎหมาย รวมถึง สว.บางท่านที่เป็นนักกฎหมายที่มองว่าภาคพลเมืองเหล่านี้ทำตัวเป็นขอทาน ทั้งที่สิทธิการได้รับบริการสาธารณสุขเป็นสิทธิตามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคน และท่านเหล่านั้นพึงต้องระลึกไว้ว่าประชาชนไทยทุกคนที่ใช้สิทธิในระบบบัตรทองทุกคนหรือแม้แต่ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมก็คือเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เงินทุกบาทที่นำมาใช้จ่ายคือภาษีของราษฎร  ส่วนการออกมาเคลื่อนไหวดังกล่าว เราพอรู้อยู่บ้างว่า สว. สส. หลายคนมีผลประโยชน์จากบริษัทยาข้ามชาติ ที่ไม่อยากให้เกิดระบบนี้ในประเทศไทย

 

จุดยืนสำคัญของรัฐบาลที่ต้องดำเนินการในเรื่องนี้คือ จัดให้เกิดระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างแท้จริง มีมาตรฐานและคุณภาพบริการเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดบริการให้พลเมืองในบัตรทอง บัตรประกันสังคม และข้าราชการ  และดำเนินการให้บุคคลากรของกระทรวงสาธารณสุข ของโรงพยาบาลเอกชน ทำหน้าที่รักษาทุกคนด้วยมาตรฐานเดียวกัน ไม่ใช่อ้างแต่ว่าได้เงินไม่เท่ากัน หรือมีระบบควบคุมการจ่ายเงินต่างกัน ก็จะไม่รักษาให้เหมือนกัน ซึ่งถือเป็นการไร้จรรยาบรรณของวิชาชีพอย่างยิ่ง  รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับหมอ พยาบาล ในหน่วยบริการของกระทรวง และตามต่างจังหวัดที่ทำหน้าที่ตามจรรยาบรรณดูแลรักษาพ่อแม่พี่น้องของเราอยู่ทั่วประเทศอย่างจริงจัง รวมถึงควบคุมดูแลหมอที่ออกมาคัดค้านความพยายามของระบบบัตรทอง กับประกันสังคม ที่จะสร้างมาตรฐานและคุณภาพบริการร่วมกัน เป็นที่น่าสังเกตว่าหมอที่ออกมาคัดค้านเหล่านี้มีผลประโยชน์ทั้งในการทำคลีนิกส่วนตัว หรือมีส่วนเกี่ยวข้องได้ผลประโยชน์จากโรงพยาบาลเอกชน

 

บุคลากรการแพทย์ทื่ออกมาให้ข้อมูลตอกย้ำความไม่เท่าเทียมของการให้บริการ หากพูดเพื่อให้มีการพัฒนาให้ทุกระบบเกิดการพัฒนาให้มีมาตรฐานการให้บริการที่เท่าเทียม ก็นับว่าท่านมีเจตนาดีที่จะตอบแทนคุณแผ่นดิน แต่หากเจตนาเป็นอื่น ก็น่าจะได้ทบทวนความคิดและการกระทำเสียใหม่

 

พรรคการเมืองต่างๆควรมีนโยบายที่จะปกป้องคุ้มครองระบบบัตรทองให้กับประชาชน ไม่ใช่พูดดูดีแต่ไม่ยอมทำอะไร ควรมีรัฐมนตรีสาธารณสุขที่เชื่อมั่นในระบบนี้และพร้อมจะดำเนินการให้เกิดมาตรฐานและบริการที่ดีกับประชาชนมากยิ่งขึ้น และควรให้ความสำคัญกับผู้ใช้แรงงานที่ไม่อยู่ในประกันสังคม ไม่ควรปล่อยให้สำนักงานประกันสังคมทำหน้าที่ซื้อบริการสุขภาพให้ผู้ประกันตนทั้งที่ไม่มีความเชี่ยวชาญ ควรให้ระบบหลักประกันสุขภาพดำเนินการดีกว่าเพื่อสร้างพลังการต่อรองกับโรงพยาบาลเอกชนได้  สำนักงานประกันสังคมควรมุ่งเน้นสร้างหลักประกันสังคมอื่นมากขึ้นโดยเฉพาะประกันว่างงาน สร้างฝีมือแรงงาน และบำนาญชราภาพ  เพราะตลอดเกือบ 10 ปีที่ผ่านมาเมื่อมีระบบบัตรทองทำให้ประชาชนไม่ต้องล้มละลายจากความเจ็บป่วยอีกเลย งานวิจัยของทีดีอาร์ไอ ยืนยันไว้ตลอดมารวมถึงผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติด้วย  ต่อจากนี้ไปเครือข่าย ๙ ด้านของเราจะรณรงค์ให้สมาชิกเครือข่ายทั่วประเทศสอบถามนักการเมืองทุกพรรคที่ลงสมัครว่ามีนโยบายนี้อย่างไร เราจะเลือกคนที่จริงใจกับเราเท่านั้น

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน