บริการสุขภาพ

สปส.ไม่หวั่นลูกจ้างบอยคอตไม่จ่ายเข้ากองทุนฯ กฎหมายให้อำนาจบีบ 'นายจ้าง'ต้องรับผิด!

ชมรมพิทักษ์สิทธิ์เดินหน้าเสนอ รมว.แรงงาน เตรียมงดจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคม ระบุผู้ประกันตน 9.4 ล้านคนต้องจ่ายเงินในการรักษาพยาบาลเพียงกลุ่มเดียวแถมยังไม่ได้รับความเป็น ธรรม พร้อมยื่นคำขาดให้เวลาผู้บริหารกองทุน 30 วันหากไม่มีการแก้ไขจะระดมผู้ประกันตนคัดค้านเต็มที่ ด้านเลขาฯ สปสช.เมินข้อเรียกร้องพร้อมระบุติดต่อกับนายจ้างโดยตรงไม่เกี่ยวกับลูกจ้าง ฝากไม่ส่งเงินสมทบนายจ้างต้องถูกปรับ

จ่ายเงินทุกเดือน
แต่ได้รับบริการสุดแย่

“คำถามที่เราถามไปยังผู้บริหารกองทุนประกันสังคมเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาว่า ทำไมเราต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพียงกลุ่มเดียว ในขณะที่บัตรทองรัฐเข้าไปจ่ายเงินให้แถมยังได้รับการรักษาดีกว่าพวกเราที่ ต้องเสียเงินคนละ 250 บาทต่อเดือนอีกด้วย” สาลี อ๋องสมหวัง โฆษกชมรมพิทักษ์สิทธิ์ผู้ประกันตน ระบุและย้ำว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะผู้ประกันตนซึ่งมีถึง 9.4 ล้านคนทั่วประเทศต้องถูกหักเงินเดือนสมทบเข้าประกันสังคมทุกเดือนเพื่อให้ ได้รับสิทธิประโยชน์ 7 ข้อคือ1. กรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย 2.กรณีทุพพลภาพ อันมิใช่เนื่องจากการทำงาน 3.กรณีตายอันไม่เนื่องจากการทำงาน 4. กรณีคลอดบุตร 5. กรณีสงเคราะห์บุตร 6. กรณีชราภาพ และ 7. กรณีว่างงาน โดยสิทธิประโยชน์ทั้ง 7 ข้อนั้นกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยพบว่ามีปัญหามากที่สุดตั้งแต่มีกองทุน ประกันสังคม

อีกทั้งที่ผ่านมามีผู้ประกันตนมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หลายประเด็น เช่น คุณภาพการรักษาพยาบาลเกี่ยวกับการเยียวยาค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรักษา การจ่ายเงินล่วงหน้าสำหรับลูกจ้างที่ประสบอุบัติเหตุ ที่มีกระบวนการและระยะเวลาเบิก ซึ่งสามารถเข้ารักษาแบบฉุกเฉินปีละ 2 ครั้ง ขั้นตอนในการตรวจสอบสิทธิใช้เวลานาน ไม่รับประกันอุบัติเหตุนอกเวลางาน ระบบรักษาข้อมูลส่วนตัวของผู้ประกันตน และปัญหากับผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

“ปัญหาที่เกิดขึ้นมานั้นไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากผู้บริหาร กองทุน ซึ่งเมื่อ6 มีนาคมได้ยื่นข้อเสนอให้มีการแก้กฎหมายประกันสังคมใหม่เพื่อจะได้รับสิทธิ ประโยชน์จากการจ่ายเงินสมทบให้มากที่สุด และให้เวลาผู้บริหารกองทุน 30 วันนับจากนี้ให้เร่งดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจังไม่เช่นนั้นเราจะรณรงค์ให้ ผู้ประกันตนออกมาเรียกร้องสิทธิ์ด้วยการหยุดจ่ายเงินสมทบกรณีค่ารักษาพยาบาล ซึ่งเฉลี่ยแล้วจะจ่ายคนละ 250 บาทต่อเดือนทันที”

แนะให้สมทบกรณีชราภาพแทน

โฆษกชมรมพิทักษ์สิทธิ์ผู้ประกันตนระบุอีกว่า ผู้ประกันตนเป็นประชาชนเพียงกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายเงินในขณะที่มีประชาชนอีก ราว 52 ล้านคน เป็นกลุ่มที่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของรัฐ หรือ บัตรทองและไม่ได้จ่ายค่าสุขภาพเลย จึงอยากเรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคม รับฟังและแก้ไขโดยเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างระบบสุขภาพบนมาตรฐานเดียวของ ประเทศ

โดยการกระทำครั้งนี้ไม่ได้คัดค้านสิทธิประโยชน์อีก 6 ข้อที่เหลือ และเขายังมีความเห็นว่าเงิน 250 บาทต่อคนต่อเดือนนั้นน่าจะนำไปทำเรื่องอื่นให้กับผู้ประกันตนแทน เช่น การนำไปใช้สำหรับสวัสดิการยามชราแทนเพราะปัจจุบันถ้าคำนวนจากการส่งเงินสมทบ ในกรณีนี้ 180เดือนหรือ 15 ปี ผู้ประกันตนจะได้เงินออมเดือนละ 3,000 บาทซึ่งถือว่าน้อยมากหากนำเงิน 250 บาทไปสมทบน่าจะเพิ่มเงินออมต่อเดือนเพิ่มขึ้นเป็น 5,000บาทต่อเดือนหรืออาจจะได้มากกว่านี้ก็ได้ อีกทั้งระหว่างที่ยังทำงานก็ใช้สิทธิน้อยมาก

นอกจากนี้ยังพบว่าระบบประกันสังคมทำให้ผู้ประกันตนจ่ายเงินซ้ำซ้อน หรือถูกบังคับให้ต้องจ่าย เพราะไม่มีสิทธิใช้การรักษาแบบบัตรทอง จึงเสนอขอให้ผู้ประกันตนมีสิทธิเลือกว่าจะอยู่ระบบประกันสุขภาพแบบไหน ทุกคนควรมีสิทธิเหมือนกัน”

สาลี อธิบายต่อว่า คณะกรรมการของชมรมมีความเห็นพ้องกันว่า หากผู้บริหารกองทุนไม่ดำเนินการใดๆตามข้อเรียกร้องจะมีการรวมตัวเพื่อเข้าพบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเพื่อเสนอให้หาแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้ และเราอาจจะจัดเคลื่อนไหวใหญ่ในรูปของสมัชชาผู้ประกันตนเพื่อแสดงออกถึงแนว คิดปฏิเสธการรักษาในระบบประกันสังคม โดยต้องการให้รัฐบาลเข้ามาดูแลด้านสุขภาพในระบบ สปสช.เช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป และให้หยุดจ่ายเงินให้กับโรงพยาบาลเอกชน ที่เติบโตจากรายได้หลัก เงินประกันสังคม แต่กลับมีพฤติกรรมปฏิเสธ บ่ายเบี่ยงการรักษาผู้ประกันตนที่เป็นโรคร้ายแรง ที่ต้องรักษาต่อเนื่อง และมีค่ายาแพง อย่างไม่รับผิดชอบ ซึ่งครั้งนี้จะเป็นการทำงานปกป้องสิทธิตัวเอง และสิทธิ์คนส่วนใหญ่ของสังคมที่เป็นผู้ใช้แรงงาน ที่ต้องจ่ายเงินค่ารักษาในระบบประกันสังคม

“การกำหนดให้จ่ายเงินจะเป็นกฎหมายบังคับ แต่เรื่องนี้จะได้มีการศึกษาหาช่องทางที่จะไม่จ่ายโดยไม่ผิดกฎหมาย เพราะได้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อชี้ว่า พรบ.ประกันสังคมที่กำหนดให้จ่ายเงินสมทบ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ จะขอให้คุ้มครองผู้ประกันตนที่จะชลอการจ่ายเงินสมทบจนกว่าจะมีคำวินิยฉัยที่ ชัดเจน”

เลขาฯสปส.เมินข้อเรียกร้อง

ด้าน ปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม บอกว่า การออกมาเรียกร้องของผู้ประกันตนสามารถทำได้แต่ทางสำนักงานประกันสังคมไม่ อาจจะทำตามข้อเสนอได้เพราะที่ผ่านมาทาง สปส. ได้ติดต่อโดยตรงกับนายจ้างมาตั้งแต่เริ่มมีกองทุน กล่าวคือนายจ้างมีหน้าที่ตามกฎหมายในการหักเงินสมทบกองทุนประกันสังคม 5 % ซึ่งหากนายจ้างไม่หักหรือส่งไม่ครบจะเสียค่าปรับ 2 % ของส่วนที่ส่งไม่ครบตามกฎหมายหากนายจ้างไม่ทำตามกฎหมายก็ต้องรับโทษตาม กฎหมายกำหนด

“อยากตั้งคำถามว่าที่ผ่านมาเราให้สิทธิประโยชน์น้อยกว่าหลักประกัน สุขภาพตรงไหน เพราะเห็นอยู่แล้วว่าผู้ประกันตนมีสิทธืเลือกโรงพยาบาลได้มากกว่า โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน ที่สำคัญเราก็รับรักษาทุกโรค ยกเว้นเพียง 2 โรคคือโรคที่เกิดจากยาเสพติดและการทำร้ายตัวเองเท่านั้นที่เหลือก็รับรักษา หมด อย่าลืมว่าระบบประกันสังคมคือการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข คนที่ไม่ป่วยจะต้องจ่ายเงินให้กับคนป่วยหากไม่ทำอย่างนี้แล้วเขาจะยอมกัน หรือไม่ เรื่องนี้อยากให้ทุกๆฝ่ายพิจารณาให้ดีๆก่อนที่จะมีการดำเนินการใดๆออกมา”

อย่างไรก็ตามหากตัวแทนลูกจ้างยังยืนยันที่จะออกมารวมตัวกันเรียกร้อง สิทธิ์ก็เป็นสิทธิ์ของเขาในส่วนของประกันสังคมก็จะยึดถือกฎหมายที่มีอยู่ เป็นหลักในการดำเนินงานต่อไป

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน