ก.แรงงาน 9 มี.ค.-ผู้นำแรงงานไม่เห็นด้วยหากโอนสิทธิการรักษาให้ สปสช.ดูแลทั้งหมด ชี้ทำผู้ประกันตนเสียสิทธิ แต่ยังรับได้หากให้ผู้ประกันตนเลือกเอง เผยเตรียมยื่นปลัดแรงงาน หาทางออกปมหยุดจ่ายเงินประกันสังคม แนะตั้ง รพ.ต้นแบบ รักษาทุกโรค
นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีที่ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตนยื่นหนังสือถึง รมว.แรงงาน ขอให้เลิกเก็บเงินสมทบกรณีรักษาพยาบาล-คลอดบุตร ว่า เรื่องดังกล่าวมีสาเหตุจากการที่มีคนบางกลุ่มยังไม่เข้าใจระบบการรักษา พยาบาลของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) มากพอ ซึ่งตนไม่เห็นด้วย หากจะโอนการรักษาพยาบาลไปให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดูแล ทั้งหมดเพราะจะทำให้ประกันตนเสียสิทธิประโยชน์ เช่น เงินทดแทนการขาดรายได้จากการหยุดงานเนื่องจากเจ็บป่วย โดยเงินในส่วนนี้อยู่สัดส่วนเงินสมทบร้อยละ 0.88 ที่ถูกนำมาเป็นค่ารักษากรณีเจ็บป่วย อย่างไรก็ตาม หากเป็นภาคสมัครใจให้ผู้ประกันตนเลือกได้ ตามที่ รมว.แรงงาน เตรียมยื่นเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความกฎหมาย เพื่อเปิดช่องให้ผู้ประกันตนมีสิทธิเลือกรับบริการระบบใดก็ได้ตนก็ไม่ขัด ข้อง
นายมนัสกล่าวว่า ในวันที่ 16 มี.ค.นี้ เวลา 10.00 น. สภาองค์การลูกค้าลูกจ้าง 7 แห่งจะยื่นหนังสือถึงนายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม เพื่อเชิญผู้เกี่ยวข้อง อาทิ ชมรมพิทักษ์สิทธิ์ผู้ประกันตน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานประกันสังคม (สปส.) มาหารือในกรณีที่มีการเสนอให้ผู้ประกันตนยุติการจ่ายเงินสมทบกองทุนประกัน สังคมในส่วนของค่ารักษาพยาบาล เนื่องจากเวลานี้ผู้ประกันตนเกิดความสับสนว่าหากไม่จ่ายเงินประกันสังคมจะทำ ได้หรือไม่ อีกทั้งก็มีนายจ้างบางส่วนมีความคิดที่ไม่อยากจ่ายเงินอยู่แล้ว หากปล่อยเรื่องนี้ไปโดยไม่มีการทำความเข้าใจอาจจะทำให้เกิดการฉวยโอกาสไม่ จ่ายเงินสมทบก็ได้ แม้จะเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายก็ตาม
นายมนัส กล่าวอีกว่า ทางออกของปัญหาดังกล่าว สปส.ควรนำแนวคิดการจัดตั้งโรงพยาบาลต้นแบบใน 4 ภาค 4 นิคมอุตสาหกรรม กลับมาดำเนินการเพื่อให้ผู้ประกันตนได้มีโอกาสรักษาพยาบาลได้ทุกโรค เพียงแค่ถือบัตร สปส.เข้าไปก็จะได้สิทธินั้นทันที เนื่องจากปัจจุบันการใช้สิทธิรักษาพยาบาลของประกันสังคมยังกำหนดให้บางโรค ไม่อยู่ในเงื่อนไขการรักษาและไม่สามารถรักษาในโรงพยาบาลอื่นได้นอกเหนือจาก รพ.ที่มีสิทธิเท่านั้น จึงเป็นปัญหาที่ให้เกิดการเปรียบเทียบกับระบบรักษาพยาบาลของ สปสช.ที่ให้สิทธิรักษาได้ทุกโรคและหลาย รพ.ไม่เฉพาะกรณีฉุกเฉิน.