ตัวแทนผู้ประกันตนบุกร้องกสม. แฉรัฐบาลสร้างความไม่เสมอภาค- บังคับให้อยู่ภายใต้กฎหมายประกันสังคม
วันนี้ ( 11 มี.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นางสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมด้วยตัวแทนสมาชิกชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตนได้ยื่นหนังสือร้องเรียน ต่อกสม. เพื่อขอให้กสม.ช่วยพิจารณายื่นเรื่องต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความในมาตรา 30, 51 และ80 วรรค2 ของพ.ร.บ.ประกันสังคมว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในกรณีที่รัฐบาลสร้างความไม่เสมอภาคให้ผู้ประกันตน จำนวนกว่า9.4 ล้านคนที่ถูกบังคับให้อยู่ภายใต้กฎหมายประกันสังคม แต่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องสิทธิการดูแลรักษาพยาบาล โดยมีนางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานกสม. นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ กสม.ด้านสิทธิในกระบวนการยุติธรรม และ นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการกสม. เป็นผู้รับเรื่องร้องเรียน
เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า 8 ปีที่ผ่านมามี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งรับรองให้ทุกคนสามารถใช้บริการรักษาสุขภาพได้ฟรี ยกเว้นกลุ่มผู้ประกันตน จำนวน 9.4 ล้านคน ที่ต้องจ่ายสมทบค่ารักษาพยาบาลประมาณร้อยละ1 โดยคิดเป็นลูกจ้างหนึ่งคนจ่าย 125บาท นายจ้างจ่าย 125 บาท รวม 250บาทต่อเดือน แต่ได้รับสิทธิประโยชน์น้อยกว่ากลุ่มอื่น เช่น เรื่องการใช้บริการในกรณีฉุกเฉินที่ต้องจ่ายเงินก่อนและใช้ได้แค่ปีละ2ครั้ง แต่ขณะที่บัตรทองใช้ได้โดยไม่จำกัดจำนวน รวมทั้งกรณีหญิงตั้งครรภ์และผู้ป่วยเรื้อรังที่มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก อาจทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมายกว่าจะได้รับการคุ้มครองสิทธิในการรักษาพยาบาล ทั้งนี้จะทำอย่างไรให้ปัญหาความไม่เป็นธรรมกับผู้ประกันตนได้รับการแก้ไข อย่างเป็นระบบ อย่างไรก็ตามผู้ประกันตนยินดีจ่ายค่าประกันสังคมเท่าเดิม เพียงแต่คิดว่าเราไม่สมควรเป็นเพียงกลุ่มเดียวที่จะต้องจ่ายเงินสมทบเรื่อง สุขภาพ เพราะรัฐบาลควรจะจ่ายสมทบเหมือนกลุ่มอื่นๆ ดังนั้นจึงต้องการมาพึ่งกสม. เพื่อขอให้ช่วยหาช่องทางแก้ไขต่อไป
ด้าน นางอมรา กล่าวว่า ตนเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าพ.ร.บ.ประกันสังคมกับพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีความขัดแย้งกัน ทำให้ผู้ประกันตนหลายล้านคนได้รับผลกระทบในเรื่องสิทธิที่ไม่เท่าเทียมกับ กลุ่มข้าราชการและกลุ่มผู้ที่เข้าข่ายพ.ร.บ.ประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตนขอเสนอให้ทางให้ชมรมยื่นเรื่องดังกล่าวนี้ต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อพิจารณาให้ส่งเรื่องต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญอีกช่องทางหนึ่ง อย่างไรก็ตามในส่วนของกสม.ก็จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุมเป็น วาระเร่งด่วนในวันที่ 16 มี.ค.นี้ เพื่อช่วยหาทางแก้ไขปัญหาต่อไป