เหตุผลในการคัดค้านพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา :: ประธานสมาพันธ์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมแห่งประเทศไทย
ที่ปรึกษาสมาพันธ์แพทย์รพศ./รพท.
ที่ปรึกษาสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์
1. เจตนารมณ์ ที่เขียนไว้ดูดี ต้องการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเสียหายอย่างรวดเร็ว และลดการฟ้องร้อง แต่การเขียนมาตราต่างๆและบทเฉพาะกาล ไม่สามารถทำให้เจตนารมณ์ที่เขียนไว้เป็นจริง ม.6 บอกว่าถ้าความเสียหายจากโรคแทรกซ้อนหรืออาการอันไม่พึงประสงค์จะไม่ได้เงิน ทำให้ต้องตัดสินว่าการรักษามีมาตรฐานหรือไม่ แต่ไม่มีผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ตัดสินมาก่อนเหมือนในต่างประเทศ อาจทำให้ผู้รักษาผู้ป่วยไม่ได้รับความยุติธรรม
2. และบทเฉพาะกาลกำหนด ให้ NGO สาธารณสุขมาเป็นกรรมการ 6 คน จาก 11 คน เพื่อมารักษาการคณะกรรมการชุดแรก บ่งบอกความนัยว่าจะมาตั้งกฎเกณฑ์และเลือกกรรมการตัวจริงเอง เพื่อเลือกอนุกรรมการทุกคณะ เพื่อมา ตัดสินเอง กำหนดระเบียบ และวงเงินช่วยเหลือชดเชยเอง และอาจมีผลประโยชน์แอบแฝงอื่นๆที่ยังไม่เห็นชัดเจนในตอนนี้
3. ต้องการ โยกเงินจากมาตรา 41 ที่เหลืออยู่ประมาณ 4.596,214,400 บาท (ประมาณสี่พันหกร้อยล้านบาท) ซึ่งกำหนดไว้ในม. 41 แห่งพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 แต่กันเงินไว้จริง 336,145,300 บาท (300 ล้านบาท เท่ากับ 0.0682%ของงบประมาณตามกฎหมาย)) และจ่ายไปจริง243,509,725 บาท ( ประมาณ สองร้อยสี่สิบล้านบาท) และอยากได้เงินช่วยเหลือและชดเชยมากขึ้น เพราะ ม.41 จ่ายสูงสุดเพียง 200,000 บาทต่อคน
4. ต้องการได้เงินมากขึ้น จึงไปกำหนดให้เก็บเงินจากโรงพยาบาล คลินิก ร้านขายยา เพราะคาดว่าเงินจะต้องมากขึ้นแน่นอน แม้สำนักงบประมาณเองก็มองว่า จะเป็นภาระหนักต่องบประมาณในอนาคต จึงปฏิเสธความรับผิดชอบที่จะจัดสรรเงินงบประมาณมาเพิ่มในระบบ แต่ให้ไปเก็บเอาจากโรงพยาบาลเอง
5. โรงพยาบาลรัฐมีเงินไม่พอซื้อยาและ พัฒนาอาคารสถานที่และเทคโนโลยีอยู่แล้ว จะทำให้งบประมาณที่ใช้ในการรักษาประชาชนลดลง การทำงานของโรงพยาบาลรัฐจะย่ำแย่ หลังจากขาดเงิน ขาดคน ขาดเตียงอยู่แล้ว คงจะขาดแคลนมากขึ้น ประชาชนจะเสียประโยชน์จากการได้รับบริการที่ย่ำแย่ลงไปอีก
6. โรง พยาบาลไม่เหมือนบริษัทประกันรถยนต์ เพราะรถที่มาประกันนั้นอยู่ในสภาพดี แต่ผู้ป่วยมีสภาพเจ็บป่วยย่ำแย่แตกต่างกันไปในแต่ละคน (ทั้งภายนอกที่มองเห็นและภายในที่มองไม่เห็นต้องค้นหาเอาเอง) แต่จ่ายเงินค่ารักษาน้อยตามที่รัฐบาลกำหนด แต่เมื่อรักษาไม่ได้ตามคาดหวัง กลับจะเรียกเงินคืนมากกว่าสภาพที่ป่วยแล้ว ควรจะคิดว่าถ้าไม่ได้รับการรักษาแล้วจะมีสมรรถภาพแค่ไหน จะหาเงินได้แค่ไหนหรือไม่อย่างไร ไม่ใช่ว่า ถ้ายังมีชีวิตอยู่ในสภาพแข็งแรงแล้วจะทำเงินได้เท่าไร แล้วขอชดเชยตามนั้น
7. การ ที่ผู้มีส่วนร่างพ.ร.บ.นี้กล่าวว่า ทำไมแพทยสภาไม่มาคัดค้านแต่แรก ข้าพเจ้าผู้เขียนก็ไม่ใช่แพทยสภา แต่ถ้าดูตามพฤติการณ์แล้ว แพทยสภาส่งกรรมการไปพิจารณาร่วมกับคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็แพ้โหวต ทำหนังสือคัดค้านเรื่ององค์ประกอบคณะกรรมการและการเก็บเงินจากโรงพยาบาลแล้ว คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นด้วย และแก้ไขตามที่แพทยสภาท้วงติง แต่นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแก้กลับไปเหมือนเดิม โดยไม่ถามความเห็นแพทยสภาที่ตัวเองนั่งเป็นสภานายกพิเศษอยู่ด้วย
8. การ กำหนดคณะกรรมการมาวางกฎเกณฑ์ต่างๆ โดยมีผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์เป็นกรรมการเพียง 3 ใน 18 คน จึงไม่อาจเชื่อถือได้ว่าจะอาศัยหลักเณฑ์ตามมาตรฐานวิชาชีพ ถือเป็นการเลือกปฏิบัติแก่ผู้รักษาสุขภาพผู้อื่นโดยไม่เป็นธรรม
9. มาตรฐาน การทำงานของแพทย์ไทยเทียบอเมริกาไม่ได้ เขามีหมอ 1 คนต่อประชาชน 300 คน ไทยหมอ 1 คน ต่อประชาชน 10,000-30,000 คน ขาดบุคลากร ขาดผู้เชี่ยวชาญ ขาดเวชภัณฑ์ เตียง ยา ประชาชนมารับบริการมาก ความเสี่ยงสูง บุคลากรใช้หลักเมตตา กรุณา ช่วยผู้ป่วยเต็มที่ แต่ถ้ามีพ.ร.บ..นี้ ผู้รักษาอาจต้องยึดอุเบกขา เป็นที่ตั้ง เพราะต้องระมัดระวังว่ากรรมการจะชี้ว่าเป็นฆาตกร เพราะไม่สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ ประชาชนจะเป็นผู้เสียประโยชน์
10. กระทรวง สาธารณสุขต้องหาทางป้องกันความเสียหาย โดยจัดสรร เงิน คน สิ่งของ เตียง ยา เวชภัณฑ์ และป้องกันไม่ให้ประชาชนเจ็บป่วยมากๆ ต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีความสามารถในการสร้างสุขภาพและป้องกันโรคมากขึ้น เพื่อลดการเจ็บป่วยและการใช้โรงพยาบาล พัฒนาระบบให้ดีมีมาตรฐานเหมือนไต้หวันก็พอเขามีประชาชน 23 ล้านคน มีหมอ 50,000 คน ไทยมีหมอรักษาผู้ป่วย 8,000 คน แต่ประชาชนไปใช้บริการโรงพยาบาล 200 ล้านครั้งต่อปี
11. สำนักงานกพ.ติงว่า พ.ร.บ.นี้อาจซ้ำซ้อนกับพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
12. สำนักงานก.พ.ร.เห็นว่าสธ.ควรมอบให้สปสช.ดำเนินการขยายความครอบคลุม โดยไม่ต้องตั้งกองทุนและสำนักงานขึ้นใหม่
13. กระทรวงการคลังเห็นว่าใช้เงินตามมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 ได้
14. ประชาชน มีสิทธิเพิ่มขึ้นอีก 1 ช่องทาง ทั้งร้องเรียนและอุทธรณ์ แต่จะกระทบกับผู้รักษามาก จนขาดความมั่นใจในการรักษา และส่งผู้ป่วยต่อไปที่อื่นมากขึ้น จนอาจทำให้ผู้ป่วยสูญเสียโอกาสที่จะรอดชีวิตได้
ตอบตรงทุกคำคัดค้านต่อ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข
๑.ไม่มีแพทย์เข้าไปเป็นกรรมการเวลาพิจารณาคดี มี NGO ไปกว่าครึ่ง
คณะกรรมการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข ตามมาตรา ๗ มีบทบาทในการกำหนดนโยบายและมาตรการเพื่อคุ้มครองผู้เสียหาย พัฒนาระบบความปลอดภัย และการสนับสนุนการสร้างเสริมความสัมพันธ์อันดีในระบบบริการสาธารณสุข รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
หากพิจารณามาตรา ๗(๓) มีพบผู้แทนสถานพยาบาล จำนวน ๓ คน เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้ จัดให้มีกองทุนเยียวยาความเสียหาย โดยที่มาของเงินมาจากสถานพยาบาลของรัฐ(รัฐเป็นผู้จ่ายสมทบ) และสถานพยาบาลเอกชน จึงต้องมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในคณะกรรมการนโยบาย ตามกฎหมายนี้ให้น้ำหนักกับผู้จ่ายเงินเนื่องจากเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงมากกว่าผู้ประกอบวิชาชีพ จึงมีผู้แทนสถานพยาบาลและขณะเดียวกันน่าจะเป็นตัวแทนผู้ประกอบวิชาชีพอยู่แล้ว โดยมีสัดส่วนที่กันกับผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่ไม่น้อยกว่า ๒๐๐ องค์กร ส่วนสุดท้ายเป็นตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ในมาตรา ๑๒ ยังกำหนดให้มีคณะอนุกรรมการอย่างน้อย ๒ คณะซึ่งเกี่ยวข้องกับการพิจารณาและจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นและเงินชดเชยโดยตรง
- คณะอนุกรรมการพิจารณาให้เงินช่วยเหลือเบื้องต้น ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์ ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค อย่างละ ๑ คน ผู้แทนสถานพยาบาลและผู้แทนผู้รับบริการอย่างละ ๑ คน ในคณะอนุกรรมการจะเห็นว่ามีผู้รู้เรื่องด้านการรักษาพยาบาลอย่างน้อย ๒ คน
- คณะอนุกรรมการประเมินเงินชดเชยประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์ ด้านสังคมศาสตร์ ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพ ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านละ ๑ คน ที่สำคัญกว่านั้นคือ บทบาทหน้าที่ของคณะอนุกรรมการไม่ได้มีหน้าที่พิจารณาหาผู้รับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น
หลักการในการพิจารณาจ่ายเงินไม่ได้มีการพิสูจน์ถูกผิด กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ต้องการจับผิดแพทย์ เพ่งโทษรายบุคคล หรือพิจารณามาตรฐานของแพทย์ จึงไม่มีความจำเป็นต้องมีราชวิทยาลัยทุกสาขา และใช้กลไกเช่นเดียวกันกับแพทยสภา แต่ให้ใช้กลไกเช่นเดียวกับการพิจารณาการช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 ของกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และไม่เห็นมีการคัดค้านเลยเมื่อมีผู้แทนผู้ประกอบวิชาชีพมากกว่าผู้แทนองค์กรผู้บริโภคตามมาตรา ๑๒
๒. คนไข้ได้เงินสองต่อ โดยไม่ได้พิสูจน์ว่ามีความเสียหายเกิดจากการแพทย์หรือไม่หรือเป็นเพราะโรคเอง
คนไข้จะได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นหากมีความเสียหาย แต่หากเป็นเพราะโรคนั้น ๆ หรือพยาธิสภาพของโรคจะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ หรือชดเชย ไม่ใช่ผู้ป่วยที่เสียชีวิตทุกรายที่โรงพยาบาลแล้วต้องได้เงิน
การช่วยเหลือเบื้องต้น ต้องดำเนินการภายใน ๓๐ วัน เพราะต้องการความรวดเร็วเพื่อลดความขัดแย้ง และพิจารณาจ่ายเงินชดเชยต่อไป ยึดหลักการพิจารณาคดีแพ่งเพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือเทียบเท่าหรือไม่น้อยกว่าการฟ้องคดีมากนัก เพราะจะเป็นการสกัดการฟ้องคดี หรือหากฟ้องคดีก็คงไม่ได้รับเงินชดเชยมากไปกว่านี้
๓. ได้เงินแล้ว คนไข้มีสิทธิ์ฟ้องอาญาแพทย์ได้อีก
แม้ว่าโดยหลักการแล้ว การฟ้องร้องทางคดีอาญา จะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่ผู้เสียหายมีสิทธิใช้ ด้วยเป็นสิทธิทางกฎหมาย ที่ไม่สามารถมีกฎหมายใดมายกเลิกได้ แต่ด้วย หลักการแก้ปัญหาเชิงบวก ไม่เพ่งโทษที่บุคคล เน้นความร่วมมือ และให้ความช่วยเหลือเยียวยากับผู้ที่เป็นเหยื่อความผิดพลาดของระบบ กฎหมายการชดเชยฯ จะเป็นระบบที่ทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้เสียหายฯ ไม่ว่าผู้ป่วยหรือญาติ หันหน้าเข้าหากัน แทนการเผชิญหน้า เพราะโดยข้อเท็จจริงที่ปรากฏทั่วไปก็คือ การฟ้องร้องตามกฎหมาย เป็นเรื่องที่ชาวบ้านธรรมดาเข้าถึงได้ยาก เพราะยุ่งยาก เสียเวลานาน และได้ไม่คุ้มเสีย
นอกจากนี้ในร่างกฎหมายที่รัฐบาลเสนอเข้าสู่รัฐสภาก็ไม่มีมาตราใดที่จะเปิดช่องให้ฟ้องแพทย์หรือโรงพยาบาล หรือเจ้าหน้าที่อื่นในโรงพยาบาลเลย ตรงกันข้ามกลับจะช่วยแพทย์และโรงพยาบาลอย่างมาก เพราะร่างมาตรา ๓๔ ของรัฐบาล กำหนดว่า "หากผู้เสียหายหรือญาติไม่ตกลงยินยอมรับเงินชดเชยและได้ฟ้องร้องผู้ให้บริการสาธารณสุขหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความเสียหายเป็นคดีต่อศาล ให้สำนักงานยุติการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้ผู้เสียหายหรือทายาทไม่มีสิทธิ์ที่จะยื่นคำขอตามพระราชบัญญัตินี้อีก"
หรือเมื่อพิจารณามาตรา ๔๕ ที่กำหนดให้กรณีผู้ให้บริการถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาฐานกระทำการโดยประมาท หากศาลเห็นว่าจำเลยกระทำผิด ศาลสามารถนำข้อเท็จจริงต่างๆ ของจำเลยเกี่ยวกับประวัติ พฤติการณ์แห่งคดี มาตรฐานทางวิชาชีพ การบรรเทาผลร้ายแห่งคดี การรู้สำนึกในความผิด การทำสัญญาประนีประนอมตามกฎหมายฯ มาพิจารณาประกอบ ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดหรือจะไม่ลงโทษเลยก็ได้ จะเห็นได้ว่าร่างกฎหมายดังกล่าวได้พยายามป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในด้านต่างๆ อย่างรอบคอบ
๔. อายุคดีความยาวตั้งเป็น ๑๐ ปี ป่านนั้นก็ลืมไปแล้วว่าเป็นเพราะ medical error หรือ ตัวโรคเอง
กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ขยายอายุความ แต่ปัจจุบันประเทศไทยมีพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งมีหลักเรื่องอายุความเช่นเดียวกับร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยยึดหลักกรณีความเสียหายต่อร่างกาย-สุขภาพ ที่ผลของสารทีสะสมในร่างกายใช้เวลาในการแสดงอาการ ต้องใช้สิทธิภายใน๓ ปี เมื่อรู้ถึงความเสียหายและรู้ผู้ประกอบการ แต่ไม่เกิน ๑๐ ปีจากวันที่รู้ความเสียหาย มาตรา ๑๓ ของพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค
๕. แต่ที่แน่ๆ เขาไม่ได้อ่านต้นฉบับ เขาฟังต่อๆกันมา
อันนี้คงตอบแทนไม่ได้ แต่เชื่อว่าหากแพทย์ได้อ่านกฎหมายฉบับนี้แล้วน่าจะสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้กันเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นผู้ที่อาจจะเสียผลประโยชน์ในเรื่องนี้
๖. เก็บตังค์หมอไป คุ้มครองหมอคนอื่นที่อาจจะทำชุ่ยจริง เหมือนประกันในต่างประเทศ หลายคนคิดว่าทำไมฉันต้องจ่ายให้หมอชุ่ยๆด้วย
คุณหมอนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ได้ให้เหตุผลไว้อย่างน่าสนใจ ว่า เป็นการเปลี่ยนจากการรับภาระความเสี่ยงเป็นรายครั้ง (post paid) ซึ่งมีมูลค่าสูงต่อครั้ง เปลี่ยนมาเป็นการแชร์ความเสี่ยงของทั้งระบบ โดยการจ่ายเบี้ยสมทบแบบอัตราเฉลี่ยต่อคน จึงเป็นการเปลี่ยนรูปแบบการระดมทุน ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนที่ต้องจ่ายเบี้ยสมทบอาจเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นจากการมารับบริการของผู้ป่วย ยกตัวอย่างเช่น ๘๐ บาท ต่อรายผู้ป่วยที่นอนค้างรักษาในโรงพยาบาล เป็นต้น ส่วนที่จะต้องเก็บจากโรงพยาบาลรัฐ ทางกองทุนจะของบประมาณรัฐบาลอุดหนุนปีต่อปี (คนไข้โรงพยาบาลเอกชนต่างหวังว่าจะไม่ถูกเก็บ ๕๐๐ บาท)
๗. ประเทศสวีเดน คนฟ้องร้องมากขึ้น หลังจากมีกฎหมายฉบับนี้
ข้อกล่าวหาเรื่องนี้ไม่เป็นความจริง รายงานของ The Swedish Patient Insurance Association ระบุว่า ก่อนปี ค.ศ. 1975 เมื่อยังไม่มีระบบชดเชยความเสียหายแบบนี้ในสวีเดน ผู้เสียหายต้องฟ้องร้องผ่านศาลตามกฎหมายว่าด้วยการละเมิด พบว่ามีผู้เสียหายได้รับการชดเชยประมาณ ๑๐๐ราย ต่อปีเท่านั้น หลังจากมีกฎหมาย The Swedish Patient Injury Act แล้ว มีผู้เสียหายได้รับการชดเชยเพิ่มขึ้นเป็นประมาณปีละ ๕,๐๐๐รายโดยผู้เสียหายที่ร้องขอการชดเชยจะไม่มีภาระค่าใช้จ่ายใด ๆ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในกระบวนการพิจารณา การดำเนินการต่าง ๆ ตั้งแต่ร้องเรียนเข้ามาจนกระทั่งได้รับการชดเชยเฉลี่ยรายละประมาณ ๙๐๐-๑,๐๐๐ เหรียญ (ยูโร) เท่านั้น และประมาณร้อยละ ๕๐ ได้รับการชดเชยภายใน ๖ เดือน ร้อยละ ๘๐ ได้รับการชดเชยภายใน ๑ ปี เมื่อเทียบกับระบบการฟ้องศาล พบว่าค่าใช้จ่ายต่อรายสูงถึงประมาณ ๒๒,๐๐๐ เหรียญ และใช้เวลายาวนานหลายปี
๘. ไม่คุ้มครองกรณีเหตุสุดวิสัย ทำให้ฟ้องร้องต่อ
มาตรา ๖ วรรค ๒ ได้เขียนยกเว้นไม่คุ้มครองกรณีความเสียหายซึ่งหลีกเลี่ยงมิได้จากการให้บริการสาธารณสุขตามมาตรฐานวิชาชีพ
ซึ่ง เป็นการแก้ไขร่างกฎหมายในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยหากพิจารณาร่างกฎหมายหลายฉบับหรือแม้แต่ร่างกฎหมายฉบับประชาชนก็ไม่ได้ระบุข้อยกเว้นเรื่องนี้ไว้ นั่นเท่ากับว่า ให้การคุ้มครองในเรื่องนี้ และถือว่าเป็นเรื่องที่จะต้องคุ้มครองเพราะเป็นความเสียหายที่ไม่ใครตั้งใจให้เกิดขึ้น ซึ่งหากเห็นตรงกันก็เป็นรายละเอียดที่สามารถแก้ไขได้ในขั้นตอนการพิจารณากฎหมาย
๙. คนหมื่นคน(คนที่เสนอกฎหมาย) เป็นคนที่ได้ประโยชน์กลุ่มเดียว หรือ NGO อยากเข้าไปเป็นกรรมการ หาผลประโยชน์จากองทุน
กฎหมายนี้ให้สิทธิกับประชาชนคนไทยทุกคน การเสนอกฎหมายนี้โดยประชาชนเกิดขึ้นจากพัฒนาการการทำงานของเครือข่ายผู้ป่วย ผู้เสียหายทางการแพทย์ องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสุขภาพ และองค์กรผู้บริโภค ที่สนับสนุนการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน เท่าเทียมและมีคุณภาพตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหลายยุคหลายฉบับ รวมทั้งมีโอกาสในการรับรู้ปัญหาความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากผู้ใช้บริการสาธารณสุข
หากมองว่ากลุ่มองค์กรเหล่านี้ตั้งใจจะเข้าไปเป็นกรรมการบริหารกองทุนหาผลประโยชน์ องค์กรเหล่านี้ในปัจจุบันมีไม่น้อยกว่า ๓๐๐ องค์กรที่ขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการกับทั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
คนกลุ่มนี้เป็นเพียงผู้ทำหน้าที่ในการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๖๓ ที่กำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ๑๐,๐๐๐ ชื่อเข้าชื่อกันเสนอกฎหมาย ซึ่งมีความยากลำบากและขั้นตอนมากมายในการดำเนินการที่ต้องรวบรวมทั้งสำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประชาชนในการเสนอกฎหมาย
และปัจจุบันทำได้เพียงยื่นกฎหมายไว้หน้าประตูรัฐสภา เพราะไม่มีการให้ความสำคัญในการเสนอกฎหมายของประชาชนจากรัฐสภา เห็นได้จาก(ร่าง) พ.ร.บ.องค์การอิสระผู้บริโภค พ.ศ. .... ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๑ หรือ(ร่าง) พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข พ.ศ. ....ที่ยื่นรายชื่อ ๑๐,๐๐๐ ชื่อกับประธานรัฐสภา ไปมากกว่า ๑ ปี ตั้งแต่ วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ และ วันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๒ ตามลำดับ ในการเสนอกฎหมายของประชาชน และยังไม่ได้รับการพิจารณา หรือรับหลักการจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่อย่างใด