บริการสุขภาพ

หวั่น พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุข ยุค “จุรินทร์” อืด เหตุ 5 เดือนแล้วเงียบฉี่

สวส.หวั่น นโยบายดันร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุข ของ “จุรินทร์” จะล่าช้า ไม่ทันเข้าสภา หลังเวลาผ่าน 5 เดือน แล้วยังเงียบ เผย 21-23 ก.ค นี้จะจัดประชุมร่วม 6 สภาวิชาชีพสร้างความเข้าใจ

นายไพศาล บางชวด นายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข (สวส.) กล่าวว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ประกาศอย่างชัดเจนว่า จะผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขให้มีผลบังคับใช้เหมือนกับ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ที่ขณะนี้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ซึ่งจะผลักดันให้เป็น 1 ใน 10 นโยบายสำคัญ ตั้งแต่วันที่เข้ารับตำแหน่ง ขณะนี้เวลาผ่านไปกว่า 5 เดือนแล้ว ยังไม่มีความคืบหน้า และไม่แน่ใจว่า การดำเนินการเป็นอย่างไร ถึงขั้นตอนใด แต่ที่ทราบ คือ เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา เดิมทีมีการคาดการณ์ว่า รมว.สธ.น่าจะมีการนำร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของ ครม.แต่ท้ายที่สุดกลับไม่มีการนำเข้าสู่ที่ประชุม จึงไม่แน่ใจว่ามีความจริงใจนั้นจะผลักดันนโยบายดังกล่าวจริงหรือไม่ แต่ทั้งนี้ หาก พ.ร.บ.ดังกล่าวนี้ มีผลบังคับใช้ก็จะช่วยเสริมงานโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้เข้มแข็งขึ้น เพราะปัจจุบันเจ้าหน้าที่สาธารณสุขกว่า 5 หมื่นคน ทำงานอยู่ในสถานีอนามัยที่จะยกระดับเป็น รพ.สต.ถึง 9 พันแห่งโดยที่ไม่มีวิชาชีพรองรับ ซึ่งนับว่าประชาชนเสี่ยงในการเข้ารับบริการ อนาคตอาจเกิดกรณีความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่สาธารณสุขกับประชาชนที่ใช้ บริการเหมือนกรณีแพทย์กับผู้ป่วยก็ได้

“หาก ท่านรัฐมนตรีกว่าการกระทรวงสาธารณสุขไม่ดำเนินการนำร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.โดยเร็ว เกรงว่าการเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณานั้นจะไม่ทันการเปิดประชุมสภาสมัย หน้าที่จะจัดในเดือนสิงหาคมนี้ จึงอยากให้เร่งดำเนินเร็วที่สุด ส่วนร่าง พ.ร.บ.ฉบับที่เสนอโดยภาคประชาชนที่เข้าชื่อกัน 2 หมื่นรายชื่อ และยื่นให้กับ นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎรไปก่อนหน้านี้ มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จำนวนมากที่ร่วมลงชื่อเพื่อสนับสนุนในการเสนอร่าง พ.ร.บ.นี้ แล้ว” นายไพศาล กล่าว

นายไพศาล กล่าวด้วยว่า วันที่ 21-23 ก.ค.นี้ ที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ พัทยา จ.ชลบุรี จะจัดงานเสวนาประเด็น พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุข กับผู้แทน 6 สภาวิชาชีพ ได้แก่ แพทยสภา ทันตแพทยสภา สภาการพยาบาล สภากายภาพบำบัด สภาเทคนิคการแพทย์ และสภาเภสัชกรรม เนื่องจากก่อนหน้านี้ สภาวิชาชีพที่กล่าวมา ไม่เห็นด้วยกับการมี พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุข ซึ่งคาดว่า มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วประเทศเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 5,000 คน เชื่อว่าภายหลังการเสวนาจะสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและ หวังว่า เจ้าหน้าที่จะได้รับการยืนยันการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จาก รมว.สธ.ทั้งนี้ ในส่วนของร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุข นั้นถือเป็นกฎหมายที่จะกำหนดให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่จะปฏิบัติงานได้จะ ต้องมีวิชาชีพรองรับ เหมือนแพทย์ ทันตแพทย์พยาบาล เภสัชกร นักเทคนิคการแพทย์ และนักกายภาพบำบัด โดยก่อนหน้านี้ไเคยเสนอร่าง พ.ร.บ.เข้าพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว แต่ไม่ผ่านความเห็นชอบ จึงได้มีการนำร่าง พ.ร.บ.มาปรับปรุงเสีย

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 24 มิถุนายน 2553

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน