แพทยสภาเสนอหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทบทวนมติ ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ สมาพันธ์แพทย์ รพท./รพศ. เกรงแพทย์ลาออกทั้งประเทศหากไม่ศึกษาผลกระทบวงกว้าง ชี้ประชาชน-หมอ เสียประโยชน์ แฉประโยชน์ตกอยู่ที่คณะกรรมการ
พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ รองประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) และโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) กล่าวว่า จากการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ..... เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2553 ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 เม.ย ที่ผ่านมา ศ.นพ.สม ศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภาลงนามในหนังสือส่งถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่อง ขอให้ทบทวนมติ ครม.เรื่อง ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ..... โดยเนื้อหาระบุขอให้ทบทวนมติดังกล่าว และดูผลกระทบกว้างขวาง เพื่อที่ร่าง พ.ร.บ.จะได้ไม่สร้างปัญหาต่อเนื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
พญ.ประชุม พรกล่าวด้วยว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.นั้นถูกเสนอโดยกลุ่มเอ็นจีโอ ซึ่งจากการพูดคุยหารือกับเพื่อนแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่เกือบทั้งประเทศ ภายหลังทราบมติ ครม. ต่างเห็นตรงกันว่าคงต้องลาออก เพราะ พ.ร.บ.ฉบับ ที่เสนอโดยเอ็นจีโอมีเนื้อหาสาระที่กำหนดให้ผู้เสียหายสามารถฟ้องอาญา แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ นักกายภาพบำบัด นักเทคนิคการแพทย์ เภสัชกรและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในโรงพยาบาลของรัฐ เอกชน คลินิกเอกชน สถานีอนามัยได้ ทั้งที่ ในความเป็นจริงแพทย์และเจ้าหน้าที่ทุกคนก็ปฏิบัติหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว
รอง ประธาน รพท.กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนกองทุนเงินชดเชยมีการระบุแหล่งที่มาของเงินโดยโอนมาจากสำนักงานหลัก ประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ส่วนหนึ่ง รวมกับเงินอุดหนุนจากรัฐ และสถานพยาบาลจ่ายสมทบ อาจจะเริ่มจากผู้ป่วยนอกจ่าย 5 บาทต่อปี แต่จะเพิ่มขึ้นหากสถานพยาบาลใดถูกร้องมาก ทั้งนี้ ตนทราบว่าเมื่อวันที่ 9 และ 19 พ.ค.มีการพยายามเสนอร่างพ.ร.บ.นี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว แต่เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง จึงทำให้สภาฯยังไม่ได้มีการพิจารณาในเรื่องนี้ ดังนั้น อยากให้มีการถอนร่างพ.ร.บ.ฉบับเอ็นจีโอออกจากวาระการพิจารณาของสภาฯเพื่อ ศึกษาร่าง พ.ร.บ.ฉบับอื่นเปรียบเทียบให้เห็นผลกระทบในวงกว้าง ว่าผู้ที่ได้รับประโยชน์จากร่าง พ.ร.บ.ฉบับเอ็นจีโอคือใคร ในขณะที่ประชาชนและผู้ให้บริการเสียประโยชน์ มิฉะนั้น คงจำเป็นที่แพทย์และเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายจะต้องเคลื่อนไหวเพื่อถอน รมว.และรัฐบาล
“เท่าที่ทราบ นายจุรินทร์นำร่าง พ.ร.บ.ฉบับของเอ็นจีโอเข้าสู่ ครม.หลังกลุ่มนี้มายื่นเรื่องผ่านเลขาฯ เพียง 1 วัน จึงไม่แน่ใจว่านายจุรินทร์จะทราบหรือไม่ว่าร่าง พ.ร.บ.ลักษณะเดียวกันนี้มีการเสนอโดยองค์กรอื่นอีกถึง 3 ฉบับ และมีฉบับที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ไม่รู้ว่าได้มีการศึกษาเปรียบเทียบข้อแตกต่างหรือผลกระทบในวงกว้างหรือไม่ หากนายจุรินทร์ตั้งใจจะใช้การผลักดัน พ.ร.บ.นี้ในฉบับที่เสนอโดยเอ็นจีโอ เพื่อซื้อใจประชาชนเหมือนกับที่พรรคไทยรักไทยผลักดันนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ขอบอกว่าเดินผิดทาง เพราะท้ายที่สุดคนที่ได้ประโยชน์ที่แท้จริงมีแต่คณะกรรมการตามที่พ.ร.บ. กำหนดเท่านั้น ส่วนประชาชนทั้งประเทศกลับต้องเสียเงินมากขึ้น”พญ.ประชุม พรกล่าว
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 21 มิถุนายน 2553