บริการสุขภาพ

เครือข่ายผู้บริโภคเรียกร้องรัฐบาลเร่งออกกฎหมายคุ้มครองผู้ป่วยที่เสียหาย

เครือข่ายผู้บริโภคเรียกร้องรัฐบาลเร่งออกกฎหมายคุ้มครองผู้ป่วยที่เสียหายเพื่อลดการฟ้องร้องแพทย์ ย้ำ แพทยสภาต้องจริงใจต่อการแก้ไขปัญหาการฟ้องร้อง ปัญหาความขัดแย้งระหว่างแพทย์และคนไข้ พร้อมจะเดินหน้าตรวจสอบการทำหน้าที่ของแพทยสภาและองค์กรวิชาชีพ consumerthai - 28 มิ.ย.53 เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ประเทศไทย เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ชมรมผู้ป่วยโรคไต เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพภาคประชาชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ย้ำ แพทยสภาต้องจริงใจต่อการแก้ไขปัญหาการฟ้องร้อง ปัญหาความขัดแย้งระหว่างแพทย์และคนไข้ เพราะกฎหมาย "พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข พ.ศ. ....เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการช่วยไม่ให้คนไข้ฟ้องแพทย์ เพราะคนไข้ที่ได้รับความเสียหายได้รับการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น

พร้อมย้ำ กฎหมายฉบับนี้ มีไม่น้อยกว่า 5 ประเด็นที่เครือข่ายองค์กรข้างต้นไม่เห็นด้วย แต่ก็ต้องยอมรับให้รัฐบาลนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภา และยืนยันหลักการกฎหมายฉบับนี้จะช่วยลดการฟ้องร้องของคนไข้ เพราะคนไข้หากมีความเสียหายก็จะได้รับการชดเชยที่เหมาะสม ผู้บริโภคไม่ต้องมีภาระในการฟ้องคดี

เครือข่ายองค์กรข้างต้น ในฐานะผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... โดยการเข้าชื่อประชาชน ๑๐,๐๐๐ ชื่อ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ขอยืนยันถึงเจตนารมณ์และเป้าหมายสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ ๓ ประการ คือ ๑) การชดเชยผู้เสียหายจากระบบบริการสาธารณสุข ๒) ลดการฟ้องร้องระหว่างแพทย์และคนไข้ ๓) พัฒนาคุณภาพ มาตรฐานระบบบริการสาธารณสุขในประเทศไทย

เป็นที่รับรู้และยอมรับกันทั่วโลกว่า ความผิดพลาดทางการแพทย์ (Medical Error) สามารถเกิดขึ้นได้ แม้จะให้การรักษาอย่างดีที่สุดตามมาตรฐานวิชาชีพแล้วก็ตาม ดังนั้นควรมีกลไกการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดการฟ้องร้อง และนำข้อผิดพลาดมาพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการบริการต่อไป

ถึงแม้ประเทศไทยจะมี พรบ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่มีกลไกการช่วยเหลือเบื้องต้นตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๔๑  โดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด แต่ก็ครอบคลุมเฉพาะผู้เสียหายที่ใช้สิทธิหลักประกันแห่งชาติ (บัตรทอง) เท่านั้น ยังไม่ครอบคลุมผู้เสียหายในระบบสวัสดิการข้าราชการและประกันสังคม อีกทั้งยังเป็นการช่วยเหลือเบื้องต้น(ไม่เกินสองแสนบาท) ที่มีความจำกัดในเรื่องวงเงินงบประมาณ ทำให้ไม่สามารถเยียวยาให้ผู้เสียหายสามารถมีชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้
ดังนั้น เครือข่ายผู้บริโภค จึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาล ดังนี้

๑. ขอให้รัฐบาลเร่งพิจารณาและผ่าน ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข พ.ศ. .... โดยเร็ว และให้มีสาระสำคัญเป็นไปตามกรอบของร่างที่เสนอโดยเครือข่ายผู้บริโภคและประชาชน อาทิเช่น  

- สำนักงานเลขานุการตามกฎหมายฉบับนี้ ต้องแยกออกจากกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้เพื่อให้มีความเป็นกลาง เข้าถึงได้ง่าย และไม่เป็นการขัดแย้งในเชิงบทบาทหน้าที่
แต่หากจำเป็นต้องยึดแนวทางตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง “ไม่ให้มีการจัดตั้งสำนักงานที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลขึ้นใหม่” ก็ควรกำหนดให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นสำนักงานไปพลางก่อน เนื่องจากมีประสบการณ์ในการดำเนินงานช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอยู่แล้ว และมีฐานะเป็นผู้ซื้อบริการ มิใช่ผู้ให้บริการอย่างกระทรวงสาธารณสุข

- องค์ประกอบของคณะกรรมการ ให้มีองค์ประกอบจากผู้แทนสถานพยาบาล และผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานคุ้มครองสิทธิด้านบริการสุขภาพ ในสัดส่วนที่เท่ากัน ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้แทนจากสมาคมวิชาชีพหรือสภาวิชาชีพ เพราะบทบาทที่สำคัญของคณะกรรมการ คือ การพิจารณาว่าเป็นความเสียหายที่เกิดจากการรับบริการสาธารณสุขจริงหรือไม่ โดยไม่ได้พิจารณาว่ามีผู้ใดต้องรับผิดหรือไม่ และไม่เกี่ยวพันกับการสอบสวนหรือลงโทษโดยสภาวิชาชีพ เพื่อให้การชดเชยเป็นไปโดยรวดเร็วและเป็นธรรมและต้องใช้หัวใจของความเป็นมนุษย์

๒.ขอให้เร่งออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้องค์กรผู้บริโภคสามารถทำหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบการทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคของหน่วยงานต่างๆ ได้อย่างสมบูรณ์

สุดท้าย เครือข่ายผู้บริโภค ใคร่ขอเรียกร้องให้สังคมร่วมกันตรวจสอบการทำหน้าที่ของแพทยสภา และติดตามตรวจสอบพฤติกรรมของกรรมการแพทยสภาบางคน รวมทั้งแพทย์บางกลุ่ม ว่าได้ทำหน้าที่เหมาะสมกับความเป็นวิชาชีพแพทย์เพื่อประชาชนหรือไม่ หรือทำเพียงเพื่อผลประโยชน์ทางอำนาจและธุรกิจ

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน