นางเย็นจิตร ได้ย้อนเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ฟังว่า ได้เข้ารับการผ่าตัดเนื้องอกในมดลูกที่โรงพยาบาลเอกชน หลังการผ่าตัดได้พักฟื้นที่ รพ. ต่ออีกสองวัน หลังแพทย์เอาสายปัสสาวะออก พบว่า มีปัสสาวะไหลออกมาจากตลอดเวลาโดยไม่รู้สึกตัวและปวดปัสสาวะตลอดเวลา มาทราบในภายหลังพบความผิดพลาดในการผ่าตัด โดยขณะผ่าตัดทำการเลาะไหมฝีเย็บ ได้พลาดไปถูกกระเพาะปัสสาวะของนางเย็นจิตรเป็นรูรั่วจำนวน 2 รู แพทย์จึงให้นางเย็นจิตรพักดูอาการ แพทย์ให้กลับไปบ้านและยังต้องใส่สายสวนปัสสาวะและถุงใส่ปัสสาวะอยู่ตลอดเวลา ก่อนมีการนัดเย็บรูรั่วที่กระเพาะปัสสาวะอีกครั้ง ในวันที่ 23 มิถุนายน 2549
แต่พอวันที่ 23 กรกฎาคม 2550 อากาศปัสสาวะไหลก็กลับมาเป็นอีก จึงได้ไปตรวจร่างกายที่ รพ.อีกแห่งพบว่า กระเพาะปัสสาวะที่เคยเย็บปิดรูไปนั้น ปัจจุบันได้มีปัญหารูรั่วทั้งสองรู นางเย็นจิตร ได้เข้ามาร้องขอความช่วยเหลือที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยตั้งใจขอแค่ค่าผ้าอ้อมสำเร็จรูปเท่านั้น เมื่อศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้สอบข้อเท็จจริง มีความเห็นว่ามีความเสียหายจากการรักษา ก็ได้ช่วยเหลือฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค โดยยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2551
เหตุผลที่ทำให้ นางเย็นจิตร จำเป็นต้องฟ้องร้อง เพราะความเจ็บป่วยที่ตัวเองได้รับจากการรักษาพยาบาลสร้างความทุกข์ทรมานให้ กับตัวเองอย่างมาก ทั้งทำงานไม่ได้ และยังต้องมีค่าใช้จ่ายในการรักษาซึ่งความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นเป็นอาการที่ เกิดเรื้อรัง ซึ่งได้เคยติดต่อขอรับความช่วยเหลือจาก รพ.และทางแพทย์สภาไปแล้ว แต่ก็ได้รับความช่วยเหลือเพียงแค่เรื่องการรักษาพยาบาลเพียงอย่างเดียว ซึ่งถือเป็นสิทธิพื้นฐานที่พึงได้อยู่แล้ว
“ไปขอความช่วยเหลือจาก รพ. เพราะเราเป็นแบบนี้แล้วทำงานไม่ได้ และต้องเสียค่าใช้จ่ายเข้า รพ.เทียวไปเทียวมาเพราะสายสวนที่ใส่ไว้มันจะหลุดและเราใส่เองไม่ได้ต้องกลับ ไปให้ รพ.ใส่ การเดินทางก็ลำบาก เจ็บปวดทรมาน ทาง รพ.ก็รับผิดชอบโดยการรักษาให้ตามสิทธิประกันสังคม เคยขอเรื่องค่าใช้จ่าย ทาง รพ.ก็ไม่ได้ตอบรับใดๆ กลับมา เคยเขียนจดหมายไปขอความช่วยเหลือกับทางแพทย์สภา ก็ได้เข้าไปพูดคุย เขาก็ตอบกลับมาว่าแพทย์รักษาไปตามมาตรฐานวิชาชีพ ถือเป็นอุบัติเหตุ ก่อนนัดสืบพยานประมาณ 20 วัน ก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ” นาง เย็นจิตร กล่าว
แม้สุดท้ายทาง รพ.จะยินยอมจ่ายเงินชดเชยให้กับ นาง เย็นจิตร เป็นเงินจำนวน 500,000 บาท ในขั้นตอนของการไกล่เกลี่ยในศาล นับตั้งแต่การฟ้องร้องก็ใช้ระยะเวลาเกือบ 2 ปี ซึ่งความเสียหายแบบนี้ในระบบบัตรทองตามมาตรา 41 ใช้เวลาโดยเฉลี่ยประมาณ 22 วัน
นางเย็นจิตร ก็ยังยืนยันว่าไม่อยากจะฟ้อง แต่เมื่อเกิดความเดือดร้อน ก็ควรได้รับการเยียวยาช่วยเหลือจากทาง รพ. และเห็นว่าถ้าหากมี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข ผู้ป่วยก็จะได้รับความช่วยเหลือ ทันทีโดยไม่ต้องฟ้องร้อง
“คนไข้ทุก คนไม่มีใครอยากฟ้องหมอหรอก อยากให้เห็นใจคนไข้ เราไม่ได้โทษว่าใครผิด แต่ควรมีการเยียวยาช่วยเหลือ อยากให้ รพ.ยื่นมือช่วยเหลือตั้งแต่เนิ่นๆ การฟ้องร้องสำหรับคนไข้ถือเป็นความทุกข์ ลำบากใจ ยุ่งยาก อยากฝากถึงหมอและคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้เห็นใจคนไข้ที่ได้รับความเดือดร้อนอยากให้ช่วยเหลือเท่าเทียมกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคนที่ถือบัตรทอง ประกันสังคม บัตรข้าราชการ” นางเย็นจิตรกล่าว
คลิปโดย สมนึก งามละมัย - Consumerthai.org