หมอกับคนไข้ไม่ควร เป็นคู่ขัดแย้ง เมื่อความผิดพลาดทางการรักษาเกิดขึ้น คุณหมอคนนี้เลือกกล่าวคำขอโทษมากกว่ากล่าวโทษจึงไม่ต้องมีทั้งโจทก์และจำเลย
บนความเห็นที่แตกต่าง ระหว่าง "คนที่เห็นด้วย" กับพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากผู้รับบริการสาธารณสุข ซึ่งส่วนใหญ่คือ ผู้ป่วยและคนธรรมดาที่ตระหนักว่าสักวันตนเองต้องป่วย กับ "คนที่ไม่เห็นด้วย" ซึ่งส่วนมากก็คือแพทย์พยาบาลและผู้ให้บริการสาธาณสุขที่มองว่าตนเองตกเป็น จำเลยในกฎหมายนี้
...จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ชนะ
"ขอนแก่นโมเดล" หรือกรณีการผ่าตัดต้อกระจกของโรงพยาบาลขอนแก่นซึ่งส่งผลให้มีผู้ป่วยติด เชื้อถึง 10 รายแต่กลับไม่มีการฟ้องร้องเกิดขึ้นเลย ถือเป็นตัวอย่างของการเปลี่ยนความขัดแย้งให้เป็นสัมพันธภาพที่ดีระหว่างหมอ กับคนไข้
"ไม่มีใครอยากฟ้องหมอ" และ "ไม่มีหมอที่ไหนอยากรักษาผิดพลาด" คือหลักคิดที่ นายแพทย์วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น ใช้เป็นแนวทางในการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยไม่ "กล่าวโทษ" แต่หันมากล่าว "คำขอโทษ" แทน
วิธีการดังกล่าวไม่เพียงเป็นรูปธรรมของการเยียวยาแบบไม่ชี้ถูก-ผิด แต่แพทย์ผู้อุทิศตนเพื่อบริการสาธารณะท่านนี้ยังถือเป็นต้นแบบของการประกอบ วิชาชีพด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์
คุณหมอมีความเห็นอย่างไรกับร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้
ผมเองก็ไม่ได้คัดค้าน ค่อนข้างจะเห็นด้วย เพราะว่าเจตนารมย์ของร่างกฏหมายฉบับนี้ค่อนข้างดีและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะประชาชนผู้ได้รับความเสียหายจากการให้บริการในทุกสิทธิ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิ 30 บาท สิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสังคม รวมทั้งคนไข้ทั่วๆ ไป กฎหมายนี้คุ้มครองหมด และข้อดีอีกอย่างคือยังไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด รีบเยียวยาให้ก่อน เรื่องถูกผิดก็ว่ากันไปตามเนื้อผ้า แล้วผู้ให้บริการ หมอ-พยาบาลก็ไม่ต้องเผชิญหน้าโดยตรงกับคนไข้ ณ เวลาที่เหตุการณ์มันยังคุกรุ่นอยู่ เหมือนมีกองทุนที่เป็นกองกลางมาดูแลเบื้องต้นให้ก่อน หลังจากนั้นหากมีความเสียหายเพิ่มเติมหรือว่ามีการพิสูจน์ถูกผิดแล้ว เป็นอย่างไรก็ว่ากันไปอีกรอบหนึ่ง
แต่ดูเหมือนแพทย์บางส่วนจะไม่เห็นด้วย เพราะเกรงว่าจะมีการฟ้องร้องเพิ่มมากขึ้น?
ผมว่าคงมาจากความไม่สบายใจหรือความไม่แน่ใจ อาจเป็นเพราะว่ามีประสบการณ์ไม่ดีในเหตุการณ์ที่เคยมีแพทย์ถูกฟ้องร้องและ ถูกลงโทษ หรือไม่ก็อาจจะยังไม่ได้ศึกษาละเอียดนัก เข้าใจเนื้อความในกฎหมายไม่ตรงกัน ซึ่งจำเป็นต้องมีการอธิบายหรือปรึกษาหารือกันอีกสักหน่อย หรือถ้ามีการเสนอกฎหมายเข้าไปแล้ว อยากแก้ไขอะไรเพิ่มเติม ในชั้นกรรมาธิการชั้นแปรญัตติก็ยังมีเวลา
จริงๆ แล้วกรณีฟ้องร้องแพทย์มีมากน้อยแค่ไหน
มีน้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องร้องเรียนไม่ถึงขั้นฟ้องร้อง แต่โดยทั่วไปก็สามารถเจรจาหรือทำความเข้าใจกันได้ กรณีการฟ้องร้องที่เป็นข่าวทางสื่อมวลชนนี่เป็นส่วนน้อย แต่ดัง เพราะฉะนั้นถึงจะเป็นส่วนน้อย แต่ก็เป็นความหวาดกลัวและหวาดระแวงของทั้งสองฝ่าย ทางผู้เสียหายเองก็ไม่แน่ใจว่าถ้าพึ่งทางกระทรวงหรือทางแพทยสภาจะได้รับการ ดูแลมั้ย กลัวว่าหมอจะช่วยกันเอง อันนี้ก็เป็นข้อหวาดระแวงของคนไข้ ฝ่ายแพทย์พยาบาลก็กลัวว่าจะฟ้องเยอะเกินไป หรือง่ายเกินไป เป็นช่องทางที่จะทำให้เกิดการเรียกร้องมาก เกิดค่าใช้จ่ายมาก อันนี้เป็นความเข้าใจกันคนละมุม แต่ถ้ามาปรับวิธีคิดทั้งสองฝ่ายให้เข้าใจในส่วนที่ได้ประโยชน์ คนไข้ได้ประโยชน์ หมอก็ได้ประโยชน์ ตรงนี้น่าจะเป็นจุดร่วมที่ดี
อย่างกรณี พ.ร.บ.นี้ ก็เริ่มพูดตรงกันว่าเจตนารมย์ของร่างกฎหมายดี เมื่อเจตนาดีก็ลองมาดูว่าวิธีการทำอย่างไรถึงจะดีขึ้น เช่น ฝ่ายผู้ให้บริการบอกว่าสัดส่วนของกรรมการยังไม่ดี ก็มาคุยกัน ซึ่งนายกฯ ก็ย้ำแล้วว่าตรงนี้ต้องดูแล หรือฝ่ายผู้เสียหายอยากจะให้มีการเยียวยาทุกราย และยังมีการสงวนสิทธิเรื่องการฟ้องร้องไว้อีก ตรงนี้คิดว่าทางกฤษฎีกา ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย หรือแม้แต่สภาฯ ซึ่งจะเป็นคนพิจารณาเรื่องนี้ คงจะมีการทักท้วงหรือปรับปรุงได้อีก
อย่างกรณีการผ่าตัดต้อกระจกของโรงพยาบาล ทำไมถึงได้ถูกยกให้เป็น "ขอนแก่นโมเดล"
กรณีที่เกิดขึ้นก็เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดฝัน มีหลายองค์กรมาถอดบทเรียน มาถ่ายทำมาสัมภาษณ์ ก็สรุปตรงกันว่าหลักการที่เราใช้ได้ผลในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ คือการผ่าตัดต้อกระจกหลายรายแล้วมีติดเชื้อ 11 ราย ตาบอดถาวร 7 ราย มองเห็นเลือนลาง 3 ราย แต่ไม่มีใครฟ้องร้องเลย เพราะเราใช้วิธีการเจรจา เริ่มจาก หนึ่ง พูดข้อเท็จจริง อธิบายให้คนไข้และญาติฟัง แม้แต่สื่อมวลชนมาเราก็อธิบายให้ฟัง แล้วก็ยอมรับข้อผิดพลาด ไม่ใช่สารภาพผิดแบบคดีอาญา แต่เราขอรับผิดชอบในการดูแลรักษาเขาต่อให้หายดีที่สุด สูญเสียน้อยที่สุด แม้แต่โรคอื่นๆ ก็รับผิดชอบสุขภาพเขาด้วย
สำหรับค่าใช้จ่ายในการเยียวยา เราไม่ได้มีเงินมากก็ใช้การตกลงเจรจากัน โดยยึดมาตรฐานตามมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ว่าถ้าพิการต้องชดเชย 120,000 บาทคนไข้ก็พอใจในส่วนหนึ่ง แต่ถ้าไม่มีกองทุนนี้เราก็คงต้องควักเนื้อเยอะ ซึ่งใน 10 รายที่เราชดเชย มีอยู่ 5 รายที่เป็นข้าราชการ ไม่มีกองทุนอะไรรองรับ เราก็ต้องใช้งบประมาณของโรงพยาบาล แต่ถ้ามีกองทุนกลางตามกฎหมายใหม่ก็จะสามารถใช้ได้ทันที โรงพยาบาลก็จะเบาลง ทางโรงพยาบาลอาจต้องจ่ายเงินลงขันเพื่อเป็นกองทุน แต่คิดว่าเป็นส่วนน้อย เหมือนจ่ายเบี้ยประกัน ลงขันกันคนละนิดละหน่อย กองทุนก็จะใหญ่ขึ้น แล้ววิธีการชดเชยของกองทุน ระเบียบกติการายละเอียดยังไม่ออก เพราะฉะนั้นก็ไปทำระเบียบกติกาการจ่าย หรือข้อพิจารณาต่างๆ ตอนนั้นได้
น่าจะดีกว่าล้มร่างพ.ร.บ.นี้ไปเลย?
ดีกว่าแน่ เพราะตอนนี้คนไข้ที่ไม่พอใจก็ยังฟ้องร้องอยู่ แต่เมื่อมีกองทุนนี้การฟ้องร้องน่าจะน้อยลง เพราะว่าหลายรายที่เยียวยาไปเบื้องต้น ส่วนใหญ่จะไม่ฟ้องร้อง ของโรงพยาบาลขอนแก่นเอง ในกรณีศึกษา 10 รายนี้ก็มีบางรายที่จะฟ้องร้อง แต่เมื่อมีการเยียวยาเบื้องต้น บรรยากาศดีขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างคนไข้กับแพทย์ดีขึ้น คุยกันง่ายขึ้น คล้ายๆ มีต้นทุนที่ทำให้เขาเบาใจไปส่วนหนึ่ง ที่เหลือก็คุยกันง่ายขึ้น เพราะฉะนั้นสัมพันธภาพระหว่างโรงพยาบาลกับคนไข้สำคัญมาก
อย่างกรณีโรงพยาบาลขอนแก่น คนที่ตาบอดทั้ง 10 ราย เขาอนุโมทธนาให้เจ้าหน้าที่มีความสุขความเจริญ เพราะว่าดูแลเขาดี แล้วทุกคนกลับมาเป็นคนไข้ของโรงพยาบาล ไม่ได้ตัดขาดว่าไม่เผาผีกันแล้ว ไม่มารักษากันแล้ว ไม่มีเลยครับ ทั้ง 10 ครอบครัวยังมาใช้บริการที่โรงพยาบาลอยู่ครบ
ตอนเกิดเหตุการณ์คุณหมอทำอย่างไรผลถึงออกมาค่อนข้างราบรื่น?
ในฐานะเป็นผู้บริการองค์กร เราก็ต้องรีบคุยทันที ฝ่ายทีมแพทย์เราก็แนะนำว่าต้องรีบเยียวยารักษา เรียกคนไข้ทั้งหมดกลับมา ทั้งคนที่ติดเชื้อกับคนที่ผ่าธรรมดา ตรวจให้มั่นใจทั้งหมดว่ามีจำนวนที่ติดเชื้อแค่นี้นะ ส่วนพยาบาลก็ให้รีบไปดูแลถึงบ้านเลย ถ้าเขามารักษาได้ก็รักษา คนไหนที่อยากไปรักษาที่อื่นที่ดีกว่า เราก็รีบส่งต่อ แล้วก็รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ในส่วนของญาติคนไข้เราก็ตั้งโต๊ะเจรจา เปิดเผยความจริง เขาก็ระบายความอัดอั้นตันใจ ความรู้สึกไม่พอใจ เราก็ต้องรับฟัง
คำแรกที่เราจะต้องพูดคือ "ขอโทษ" คำที่สองคือ "จะรับผิดชอบ" เขาก็สบายใจไประดับหนึ่ง แต่เขารอดูอยู่นะว่าเราจะดูแลเขาเต็มที่มั้ย เราก็ต้องเจาะลึกแต่ละรายว่าเขาเดือดร้อนเรื่องอะไร แล้วรีบดูแลก่อน เช่น บางรายไม่มีเงินให้ลูกไปโรงเรียนก็ช่วยเหลือไปส่วนหนึ่ง บางรายลูกต้องมาเฝ้าแม่ ตกงาน ขาดรายได้ เราก็ช่วยไปส่วนหนึ่ง ซึ่งไม่มาก แต่เขาก็พอใจ เห็นน้ำใจเรา รายที่ไปรักษาไกล เราก็ไปเยี่ยม ถึงปีใหม่ก็ส่งกระเช้าส่งการ์ด เขาก็ตอบมา อวยพรเราเหมือนกัน บรรยากาศมันก็ดีขึ้นเรื่อยๆ
พอมาถึงเรื่องการเยียวยาอย่างเป็นทางการ เรื่องเงินค่าชดเชยก็ไปทีละขั้น ถ้าเขาพอใจแค่นี้เราก็ตกลง ถ้าไม่พอใจเราก็มาประชุมกับฝ่ายโรงพยาบาลอีก เพราะฉะนั้นฝ่ายโรงพยาบาลก็ต้องตั้งสติ เพราะเรื่องแบบนี้ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ถ้าเกิดขึ้นแล้วเราต้องยอมรับความจริง ถ้ามีกองทุนแล้วถึงแม้เราจะผิดหรือไม่ผิด คนไข้จะได้รับการเยียวยาก่อน ซึ่งจริงๆ แล้วโรงพยาบาลขอนแก่นก็ใช้วิธีคล้ายๆ กองทุนนี่แหละ แต่เมื่อยังไม่มีกฎหมายเราก็ใช้วิธีนี้ก่อน แล้วต้องใช้คาถาอื่นด้วย เรื่องการมีหัวใจความเป็นมนุษย์ เราต้องไม่คิดว่าคนไข้เป็นคนละฝ่ายกับเรา ต้องต่อสู้กัน
ตลอดชีวิตการทำงาน กรณีนี้ถือว่าหนักใจมากที่สุดเลยหรือเปล่า
จะว่าหนักใจที่สุดก็ประมาณนั้น เพราะว่าเหตุการณ์มันรุนแรงมาก คือผ่าตัดต้อกระจกถือว่าธรรมดา ติดเชื้อแค่รายเดียวก็แย่แล้ว อันนี้ติดเชื้อพร้อมกัน10รายถือว่าสาหัสนะครับ เพียงแต่ว่าเราก็ตั้งสติว่าจะไม่ให้มีการฟ้องร้อง จะก้มหน้าก้มตารับผิดชอบเต็มที่ แล้วก็ปักหลักเลยว่าให้ทุกคนเตรียมตัวทำงาน ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ฝ่ายเยียวยา ฝ่ายสอบสวนโรค ฝ่ายดูแลครอบครัวผู้ป่วย แยกหน้าที่กันไป เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็ผ่านไปได้ด้วยดี จะว่าหนักใจ ก็ธรรมดา แม้แต่เคสเดียวก็หนักใจ เช่น มีคนไข้ตกเตียง มีคนไข้ให้เลือดผิด พวกนี้ทุกเคสทุกกรณีต้องใส่ใจ ต้องไม่ประมาท
ทุกวันนี้ความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับคนไข้โดยทั่วไปเป็นอย่างไร
ในส่วนตัวที่ผมอยู่ต่างจังหวัดคิดว่ายังพอใช้ได้อยู่ แต่ว่าโรงพยาบาลใหญ่ๆ หมอกับคนไข้เจอกันแป๊บเดียว เวลามันเร่งรัด คนไข้ก็เยอะ หมอก็ยุ่ง ก็ต้องระวังว่ามันจะกระทบกระทั่ง ส่วนใหญ่คนไข้ที่จะฟ้องหมอเนี่ยมักจะอัดอั้นตันใจ มีน้อยที่จะมาฟ้องเพื่อเรียกร้องเงินทอง อาจมีบ้างที่เริ่มต้นคุยกันไม่รู้เรื่องแล้วมีผู้หวังดีมาสอดแทรก แต่เมื่อมีคดีเกิดขึ้นแล้วเราต้องมีกลไล การมีกองทุนนี้จะมีกลไก ซึ่งนอกจากเยียวยาก็จะมีเรื่องการพัฒนาโรงพยาบาลที่มาตรฐานยังไม่ดีพอ มีคณะทำงานที่เป็นกลางไปไกล่เกลี่ย แทนที่จะให้เผชิญหน้ากัน
เป็นไปได้หรือไม่ว่าถ้าพ.ร.บ.นี้ออกมา หมออาจจะปฏิเสธการรักษาในกรณีที่เสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง
ผมเชื่อว่าหมอส่วนใหญ่ที่ตั้งใจมาเป็นหมอ ไม่มีใครบังคับ เหมือนกับตำรวจ ทหาร เมื่ออาสามาเป็นแล้วจะบอกว่า ถ้างั้นจะไม่ไปรบแล้ว ไม่ดูแลความสงบเรียบร้อยของประเทศแล้ว เพราะว่ามันจะเสี่ยงอย่างนั้นอย่างนี้ คงไม่ได้ เมื่อไม่มีใครบังคับ ถ้าไม่พอใจก็คงต้องออกจากอาชีพหมอไปทำอย่างอื่น แต่ถ้าเสี่ยงก็ต้องมีวิธี ไม่มีวิชาชีพไหนที่ไม่เสี่ยง เมื่อรู้ว่าเสี่ยงก็ต้องมีภูมิคุ้มกัน หนึ่งเรื่องความรู้ทางวิชาการ มาตรฐานทางวิชาชีพ สองเรื่องกฎบัตรกฎหมายที่จะมาเป็นหลักประกันเป็นหลังอิงให้
แต่ภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดก็คือ จรรยาบรรณจริยธรรมของคนที่อยู่ในสายวิชาชีพนี้ ถ้าทำดีจริงๆ สังคมก็ไม่เอาเรื่อง หรือว่าโทษหนักก็เป็นเบา โดยเฉพาะเมื่อเราไม่มีเจตนาเพื่อจะเอาเงินเอาทองเขา หรือว่าบิดพลิ้วการรักษา เพราะฉะนั้นผมไม่คิดว่าหมอจะทิ้งภาระความรับผิดชอบเพราะเรื่องนี้ ที่ผ่านมาอาจมีบ้าง เพราะยังกระทบกระเทือนเรื่องจิตใจความรู้สึกอยู่ แต่ถ้าตั้งใจดีคนไข้เขาก็เห็นอยู่ทุกวัน เขาถึงยกย่องวิชาชีพนี้ หมอจะไม่มีเวลา หมอจะมาช้า เขาก็ให้อภัยหมด คนแก่อายุ 80 ก็ยังยกมือไหว้หมออายุน้อยๆ เพราะว่าเขามีศรัทธา ศรัทธาตรงนี้เราต้องรักษาไว้ในวงวิชาชีพ เพราะฉะนั้นต้องไม่เกี่ยงที่จะทำงาน
ผมคิดว่ากฎหมายจะออกหรือไม่ออก แพทย์ส่วนใหญ่จะไม่ทิ้งงานหรอก ปฏิเสธไม่ออกหรอก เพราะว่าสาบานตนมาแล้วตั้งแต่เข้าเรียนแพทย์ว่าจะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์
มุมมองที่แตกต่างต่อพ.ร.บ.นี้จะถึงขั้นทำให้แพทย์แตกแยกกันหรือไม่
ไม่แตกหรอกครับ ก็ทะเลาะกันนิดๆ หน่อยๆ ภาวะปกติก็เถียงกันอยู่แล้วโดยเฉพาะในวงวิชาการ แล้วเรื่องนี้เป็นประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ใครที่ทำให้แตกแยกเขาก็เดือดร้อนเอง แพทย์เขาก็มีการแสดงออกได้โดยเสรี การแสดงออกเพียงแค่นี้ผมไม่คิดว่าจะสร้างความแตกแยกให้วงการ ก็เหมือนกฎหมายอื่นที่มีทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่สุดท้ายถึงวันหนึ่งต้องลงตัวว่าจะเอาหรือไม่เอา ถ้าเอา เอาแบบไหน ตอนนี้ผมคิดว่าส่วนใหญ่เห็นว่าควรจะมีกฎหมายนี้ แต่จะเป็นแบบไหน เดี๋ยวคุยกันในรายละเอียดอีกที
ประเด็นนี้มีการเมืองเข้ามาแทรกแซงหรือไม่
อันนี้ก็แล้วแต่ความเห็น ผมว่าการเมืองแทรกอยู่ตรงไหนก็ไม่แปลก แต่กฎหมายนี้น่าจะมุ่งไปทางวิถีทางมนุษยธรรม ทางกลไกที่จะมีการเยียวยาในสังคม ตรงนี้จะเป็นพื้นฐานในเรื่องอื่นๆ ด้วย เราต้องมองโลกในแง่ดีว่า คนไข้ก็ไม่อยากมาฟ้องร้อง หมอก็ไม่อยากทำผิดพลาด ทั้งสองฝ่ายต้องไม่มีทิฐิที่จะดึงดันเอาชนะคะคานกัน สังคมไม่ได้มีเฉพาะหมอกับคนไข้ มีสังคมรอบข้างอีกเยอะแยะที่รอดูอยู่ แล้วความเกี่ยวข้องเรื่องเงินเรื่องทอง เรื่องธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนพวกนี้เป็นประเด็นทั้งนั้น เป็นประเด็นที่ซ่อนอยู่มันจะต้องเปิดเผยอะไรอีกหลายอย่าง ซึ่งตรงนี้ผู้รับผิดชอบเองต้องตระหนักแล้วหาทางเตรียมตัว ไม่งั้นประเทศจะไม่พัฒนา
คุณหมอมองว่าภาระหน้าที่ของแพทย์ไม่ใช่แค่การรักษา แต่ต้องเชื่อมโยงกับสังคมด้วย?
ผมคิดว่าเราต้องมีจิตอาสา มีหัวใจความเป็นมนุษย์ ครูบาอาจารย์หลายคนก็สอนและเป็นแบบอย่างให้เดินตาม แม้แต่ในหลวงก็ให้แนวทางเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เรื่องสติรู้ทัน ปัญญารู้คิด สุจริตจริงใจ เราก็ยึดมั่นในสิ่งเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ในงานของเรา พอเติบโตขึ้นเป็นผู้บริหารก็ได้แนะนำพรรคพวก รุ่นน้อง ทีมงาน ก็ขยายแนวคิดออกไป ซึ่งทำให้ภูมิคุ้มกันของโรงพยาบาลขอนแก่นค่อนข้างดี เมื่อเกิดปัญหาเราก็ไม่ทรุด ตั้งหลักได้ แต่เราก็ไม่ประมาท ต้องทำให้ได้มาตรฐาน พัฒนาตัวเอง มองในหลายมิติ แล้วก็ทำเรื่องส่วนรวมด้วย
ตอนนี้พวกผมรวมตัวกันทำงานพัฒนาชุมชนยั่งยืน เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เรื่องลดหนี้สินเจ้าหน้าที่ เรื่องปลูกต้นไม้ให้ขอนแก่นอยู่เย็นเป็นสุข เรื่องพยาบาลรักถิ่น ก็คือเอาเด็กนักเรียนมาฝึก แล้วโรงพยาบาลส่งเรียนเอง ร่วมมือกับวิทยาลัยพยาบาล ส่วนใหญ่ก็ทำเรื่องทางสังคมไปด้วย พยายามให้เป็นโรงพยาบาลของสังคม โรงพยาบาลของเมืองขอนแก่น ชาวบ้านพึ่งพาอาศัยได้
เรื่องการบริหารโรงพยาบาล มันไม่มีสูตรสำเร็จ ทุกคนต้องช่วยกัน จะช่วยกันแค่ไหน อยู่ที่สติปัญญาและจิตสำนึก อย่างกรณีพ.ร.บ.นี้ ถือว่าเป็นตัวอย่างทดลองจิตสำนึกของพวกหมอพยาบาล แรกๆ การตอบสนองอาจจะมาหลายรูปแบบ พอกลับไปนั่งคิดนั่งทบทวนเดี๋ยวมันจะลงตัวเอง ให้เวลานิดหนึ่ง แต่ละคนเวลาไม่เท่ากัน แต่อย่านานนัก ถ้านานคนไข้จะเสียประโยชน์ เห็นแก่คนไข้ อันนี้ผมสรุปเอง แต่ถ้าไม่ทำเลย ยิ่งเสียมากกว่านี้
ที่สุดแล้วความภูมิใจของคุณหมอคืออะไร
ผมภูมิใจทุกวันเลย สมัยเด็กๆ ก็ภูมิใจที่สอบเข้าได้ พอจบมาแล้วก็ภูมิใจที่ได้รักษาคนไข้ทุกวัน ความภูมิใจที่ได้มีโอกาสได้แนะนำน้องๆ เพื่อนๆ ภูมิใจที่เราเป็นที่พึ่งเขาได้ สำหรับผมความภูมิใจสูงสุดก็คือได้รับใช้สาธารณะ ได้ทำงานสาธารณะ
ผมคิดว่าทุกวิชาชีพต้องมีจริยธรรม ถ้ายึดมั่นตรงนี้เป็นสรณะ ก็จะมีความภูมิใจได้ทุกคน แต่สำหรับวิชาชีพแพทย์พยาบาล ง่ายที่สุดคือยึดมั่นคำพระราชบิดาที่มีอยู่ทุกโรงพยาบาล ขึ้นป้ายอยู่ทุกโรงเรียนแพทย์
"ยึดประโยชน์เพื่อนมนุษย์เป็นที่หนึ่ง ประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ลาภยศก็จะตกแก่ท่าน ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งวิชาชีพไว้"
โดย : ชุติมา ซุ้นเจริญ
นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 05/08/53