บริการสุขภาพ

ตัวแทนองค์กรผู้บริโภคผิดหวังสมาพันธ์แพทย์ ฯ ที่ถอนตัวจากคณะกรรมการสามฝ่าย‏

 ตัวแทนองค์กรผู้บริโภคผิดหวังสมาพันธ์แพทย์ ฯ ที่ถอนตัวจากคณะกรรมการสามฝ่าย พร้อมกังวลเพราะไม่แน่ใจจุดยืนของแพทย์กลุ่มนี้ ว่า ต้องการล้มกฎหมายหรือมีความจริงใจแค่ไหนในการช่วยกันหาทางออกของความเห็นต่างในสาระกฎหมาย เพราะที่ประชุมได้ยอมรับและเห็นชอบเรื่องเจตนารมณ์และหลักการของกฎหมายร่วมกัน” ย้ำยังมีความหวังกับตัวแทนวิชาชีพอื่น ๆ ที่เหลือในคณะกรรมการ

consumerthai - 4 ส.ค. 53 นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หนึ่งในคณะทำงานสามฝ่าย กล่าวว่ารู้สึกผิดหวังอย่างยิ่งที่สมาพันธ์แพทย์ถอนตัวจากคณะทำงาน เพราะในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา สังคมไทยต้องเผชิญกับความขัดแย้งที่ต่างฝ่ายต่างไม่ฟังเหตุฝังผลกันจนนำไปสู่วิกฤตทางการเมืองและสังคมที่เลวร้ายที่สุดในประเทศไทย

"ในการประชุมร่วมกันเมื่อวันที่ ๒ สิงหาคมที่ผ่านมา ทุกฝ่ายเห็นด้วยในหลักการ ๓ ข้อคือ ๑) มีการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบและมีความเสียหาย ๒) ผู้ให้บริการทำงานอย่างมีความสุข ไม่ต้องกังวลเรื่องการฟ้องร้อง ๓)มีระบบพัฒนา ป้องกัน ความเสียหาย

ดังนั้น ความเห็นต่างในรายละเอียดของ ร่าง พรบ. กำลังจะสร้างวัฒนธรรมที่ดีของการสร้างความสมานฉันท์ด้วยการรับฟังกัน-เข้าใจกันด้วยเหตุและผลด้วยกลไกคณะทำงานที่ประกอบด้วยบุคคลฝ่ายต่างๆจะได้มาร่วมหารือกัน แต่กลับถูกปฏิเสธจากสมาพันธ์แพทย์ฯเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องน่าเสียใจอย่างยิ่ง

สังคมไทยบอบช้ำมามากพอแล้วกับการเอาชนะคะคานอย่างไร้สติ จึงอยากขอให้สมาพันธ์แพทย์ทบทวนการเข้าร่วมคณะทำงานอีกครั้ง หรือขอให้นำความเห็นต่างทั้งหมดไปพิจารณาในสภาฯ หลังจากที่ร่าง พรบ.ผ่านที่ประชุมวาระแรก"
เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าว

นอกจากนี้ยังกล่าวขอบคุณกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง และเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ที่เข้าใจหลักการของกฎหมายเป็นอย่างดี และสนับสนุนกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายในการรับบริการสาธารณสุข และกล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬากังวลว่า

"คิดว่า เป็นเรื่องเข้าใจคลาดเคลื่อนและเป็นรายละเอียดของกฎหมายที่สามารถปรับปรุงและแก้ไขได้ในขั้นตอนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เช่น ความกังวลว่าโรงพยาบาลจุฬา ฯ จะต้องจ่ายสมทบปีละ ๑๐ ล้าน ซึ่งในความเป็นจริง  โรงพยาบาลรัฐที่ให้บริการประชาชน รัฐจะเป็นผู้จ่ายสมทบ หากพิจารณาจากรายละเอียดจากทั้งมาตรา ๒๐ และมาตรา ๒๒ จะเห็นว่าจะมีการโอนเงินมาตรา ๔๑ จากกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ เงินอุดหนุนจากรัฐบาล

หรือหากโรงพยาบาลจุฬา ฯ จะมีส่วนช่วยสมทบเงินจำนวนเพียง ๑๐ ล้านบาท ต่อปี เพื่อเฉลี่ยความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นร่วมกัน ก็เป็นเงินจำนวนไม่มาก แทนที่จะให้โรงพยาบาลต้องรับภาระและแพทย์ต้องมีความทุกข์จากการถูกฟ้อง ทั้งนี้ กรณีการฟ้องในปัจจุบันที่ไม่มีคงไม่มีใครกล้ารับประกันว่าจะไม่เกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งกฎหมายฉบับนี้จะมีการจ่ายชดเชยให้กับแพทย์และผู้ประกอบวิชาชีพทุกคนที่มีความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุข"
นางสาวสารีกล่าว

ด้าน นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ขอเรียกร้องไปยังสมาชิกรัฐสภาทุกท่าน  ว่า เรื่องนี้เป็นประโยชน์กับคนไทยทุกคน เพื่อลดปัญหาความขัดแย้ง และเพื่อดูแลช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบ

 

"อยากให้รัฐสภารีบเดินหน้าพิจารณากฎหมายฉบับนี้โดยเร็ว และออกมาอธิบายว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นประโยชน์กับแพทย์ และผู้ป่วยอย่างไร และรัฐสภาควรเป็นกลไกที่สำคัญที่จะช่วยหยิบข้อกฎหมายที่ยังมีความเห็นต่างกันอยู่ มาปรับปรับปรุงให้เป็นประโยชน์กับส่วนรวมให้มากที่สุด เพราะขณะนี้ทุกฝ่ายได้เห็นด้วยในเจตนารมณ์และหลักการของกฎหมายฉบับนี้แล้ว ดังนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐสภาที่จะทำกฎหมายให้ดีมี่สุด และทุกฝ่ายต้องยอมรับในภารกิจนี้ของรัฐสภา" ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์กล่าว

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน