หน้า 1 จาก 2
ประชาชนร่วมประสนับสนุนกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหาย เชื่อทุกฝ่ายได้ประโยชน์ พร้อมเรียกร้องผู้มีอำนาจเร่งนำกฎหมายเข้าสภา
Consumerthai – 6 ส.ค. ที่โรงแรม อมารี ดอนเมือง เครือข่ายศูนย์ประสานหลักประกันสุขภาพประชาชน ประกอบด้วย ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน โซนบูรพา ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน โซนศรีนครินทร์ ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน โซนรัตนโกสินทร์ ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน โซน เจ้าพระยา ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน โซนธนบุรีเหนือ ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน โซนธนบุรีใต้ ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน เขตบึงกุ่ม ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน เครือข่ายแรงงานนอกระบบ ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน เครือข่ายชุมชนแออัด ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน กลุ่มพัฒนาชุมชนใต้สะพาน แถลงจุดยืนสนับสนุน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข เพราะได้ร่วมกันใช้สิทธิ ของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เข้าชื่อ 10,000 ชื่อ เสนอกฎหมายหมายไปตั้งแต่ปี 2552
พร้อมยื่นขอเรียกร้องให้รัฐบาล เดินหน้าเอากฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ในสมัยการประชุมนี้ และผ่านออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้โดยเร็ว เพราะหากทำเรื่องนี้ได้ ก็จะลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เป็นการปฏิรูประบบบริการสาธารณสุข ที่จะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศไทย
นางประจวบ ทิทอง ตัวแทนศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน เขตบึงกุ่ม กล่าวว่า ตนคิดไม่ถึงว่าหมอจะออกมาทำแบบนี้ ทั้งๆ ที่เคารพและศรัทธาหมอ คนแก่ยังยกมือไหว้หมอเลย และยิ่งหมอ -พยาบาลทำงานมาก ก็ยิ่งมีโอกาสพลาดมาก แน่นอนว่า ไม่มีใครอยากเจ็บป่วย เมื่อไปรักษาก็อยากหาย ไม่มีใครอยากเสียหาย แต่เมื่อมันเกิดขึ้น
“เราต้องทนทุกข์ หมอเองก็เป็นทุกข์ ทุกข์กันทุกฝ่าย เพราะเรารู้ หมอไม่ได้ตั้งใจ แต่เราก็อยากให้มีการช่วยเหลือเยียวยา โดยที่หมอไม่ต้องเดือดร้อน แต่ที่ผ่านมา หมอต้องรับผิดชอบเอง หรือไม่ผู้เสียหายก็ไปฟ้องศาล สู้แล้วไม่รู้ชนะหรือเปล่า ถ้าเราชนะ หมอก็แพ้ หมอก็ทุกข์ แต่เราก็ยังต้องพึ่งหมอ จึงคิดว่าน่าจะมีทางที่จะทำให้ชนะทั้งสองฝ่าย เมื่อมีร่างกฎหมายฉบับนี้ จึงช่วยกันหารายชื่อ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย กว่าจะได้ครบ 10,000 ชื่อ เลือดตาแทบกระเด็น” นางประจวบกล่าว
ด้านนางศสิธร กาญจนทัต ตัวแทนศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน และประธานเครือข่ายเศรษฐกิจชุมชนโซนบูรพา ให้ความเห็นว่า จริงๆ แล้ว ตอนนี้มีช่องทางการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเสียหาย ในกฎหมายหลักประกันสุขภาพ มาตรา 41 แต่ก็ได้เฉพาะคนที่ใช้สิทธิบัตรทองเท่านั้น คนประกันสังคม และข้าราชการไม่ได้ และเป็นการช่วยเหลือในเบื้องต้นเท่านั้น ไม่เพียงพอที่จะทำให้อยู่ได้ตามปกติ ร่างกฎหมายฉบับนี้จึงมาอุดช่องว่างของปัญหาได้ ด้วยหลักการที่ว่า ผู้เสียหายได้รับการชดเชยอย่างเหมาะสม ทำให้ไม่ต้องฟ้องหมอ และนำข้อผิดพลาดมาปรับปรุงบริการและพัฒนาระบบต่อไปได้
ในขณะที่นายณัชพล เกิดเกษม ตัวแทนศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน โซนศรีนครินทร์ และประธานสภาองค์กรชุมชน กรุงเทพฯ กล่าวว่า
“งงมาก ไม่เข้าใจว่าทำไมหมอต้องคัดค้าน ทำไมรัฐบาลยังลังเล ทั้งๆที่ยอมรับกันทุกฝ่าย ว่าหลักการกฎหมายฉบับนี้ดี ดังนั้น บางเรื่องที่ไม่เห็นด้วย บางประเด็นยังข้องใจ ก็ควรจะเอาไปคุยกันในสภา และอยากฝากไปถึง สส. ทุกคน และรัฐบาล ขอให้ทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทย ขอให้แสดงความกล้าหาญ แสดงความจริงใจ ด้วยการช่วยกันเอากฎหมายนี้เข้าสภา” นายณัชพล กล่าว
- ก่อนหน้า
- ต่อไป >>