บริการสุขภาพ

แพทย์-ผู้ป่วย เมื่อรักของเราจืดจาง

ความเห็นที่ไม่ ตรงกันในเรื่อง ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ.... ระหว่างบุคลากรสาธารณสุขบางส่วนกับกลุ่มเอ็นจีโอและประชาชน กลายเป็นประเด็นร้อนที่สังคมกำลังจับตาดูว่า เรื่องนี้จะลงเอยแบบไหน

อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายจะเห็นตรงกันใน 3 ประเด็นคือ หนึ่ง-ต้องมีการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบและมีความเสียหาย สอง-ผู้ให้บริการควรทำงานอย่างมีความสุข ไม่ต้องกังวลเรื่องการฟ้องร้อง และสาม-มีระบบพัฒนาป้องกันความเสียหาย

จับความกันดีๆ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อาจตีความได้ว่า ทุกวันนี้ความขัดแย้งระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยเป็นความขัดแย้งที่ทุกฝ่ายยอม รับว่าดำรงอยู่จริงและมีทีท่าว่าจะรุนแรงขึ้นทุกวี่วัน ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองฯ ก็คือกลไกที่จะเข้ามาเยียวยาและลดความขัดแย้งลง ซึ่งทุกฝ่ายยอมรับในหลักการ แต่ยังเห็นต่างในข้อปลีกย่อย

สังคมกำลังเพ่งดูความขัดแย้งและจับจ้องเฉพาะตัวกฎหมาย จนเหมือนกับจะลืมประเด็นสำคัญบางประการว่า เอาเข้าจริงๆ แล้ว แม้กลไกเยียวยาเป็นสิ่งจำเป็น แต่นั่นคือปลายเหตุ ขณะที่ต้นเหตุของความขัดแย้งระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยยังมิได้แห้งหายไปแต่ อย่างใด

ทำไมจึงจืดจาง
หากพูดถึงอดีต ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยค่อนข้างเป็นความทรงจำที่โรแมนติก เป็นความเอื้ออาทรและผูกพันระหว่างมนุษย์ผู้เจ็บไข้กับมนุษย์ผู้ให้ความช่วย เหลือ ใครจะมองเป็นความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์อย่างหนึ่งก็แล้วแต่ แต่ก็ยอมรับว่าคนไข้ยังให้ความเคารพแพทย์ในฐานะผู้บำบัดความไข้ มิใช่ในฐานะผู้ให้บริการ

“ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วยนั้น ในตอนที่ผมเรียนอยู่อาจารย์จะเน้นย้ำในเรื่องนี้มาก แสดงว่ามีการตระหนักถึงเรื่องนี้มานานแล้ว แต่มันเป็นลักษณะที่มากับการแพทย์แผนตะวันตกที่มีความสัมพันธ์แบบผู้รับ บริการกับผู้ให้บริการ ต่างจากการแพทย์พื้นบ้านที่หมออยู่ในชุมชน การรักษาก็เป็นลักษณะยาขอหมอวาน อาจจะมีค่ายกครูบ้าง แต่มันจะเป็นลักษณะความสัมพันธ์อีกแบบหนึ่ง”

นายแพทย์มารุต เหล็กเพชร แพทย์ประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลพรุใน อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา ผู้ซึ่งใส่ใจเกี่ยวกับเรื่องของความสัมพันธ์ของแพทย์ ผู้ป่วยและชุมชนมาโดยตลอด กล่าวถึงลักษณะของการแพทย์ในแบบเดิม และสถานการณ์ในปัจจุบัน

“ใน ช่วงแรกบ้านเราไม่มีปัญหาการฟ้องร้องมาก เพราะเราให้เกียรติและให้ความนับถือหมออยู่ แต่พอระบบมันเข้าที่ มีหมอมากขึ้น โรงพยาบาลและคลินิกก็มากขึ้น การให้บริการก็เป็นแบบการค้ามากขึ้นไปด้วย กลายเป็นผู้ให้และผู้รับบริการโดยสมบูรณ์

“ทีนี้สมมติว่าเราไปฝากท้องที่โรงพยาบาลเอกชน จ่ายเงินไป 5 หมื่น เราย่อมหวังถึงบริการที่ดี และสิ่งตอบแทนที่ดีที่สุดตามหลักการค้าทั่วไป แต่พอมันเป็นเรื่องการแพทย์มันก็มีความผิดพลาดได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเจ็บปวด หรือความผิดพลาดทางการแพทย์ต่างๆ ซึ่งมันเกิดขึ้นได้”

นอกจากรูปแบบการรักษาที่มีความเป็นธุรกิจมากขึ้นแล้ว ความตระหนักในเรื่องสิทธิของประชาชนก็มีส่วนทำให้เกิดการกระทบกระทั่งเช่น กัน สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคบอกว่า แต่การเข้าถึงการรักษายังไม่ใช่เรื่องของสิทธิพื้นฐานเช่นยุคนี้ที่ถูกบรรจุในรัฐธรรมนูญ

“แต่เดิมทีสถานพยาบาลหรือผู้ให้บริการจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าใครจะได้ รักษาฟรี คือมีอำนาจในการตัดสินใจ มันทำให้ความสัมพันธ์ตรงนี้เป็นยาหอมเหมือนเมื่อวาน อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยด้วย คล้ายๆ กับว่าคนก็มีปากมีเสียงมากขึ้น เช่น พอเกิดอะไรขึ้นก็ไปหาสื่อมวลชนให้ช่วย”

แต่สารีไม่คิดว่าระบบหลักประกันสุขภาพจะเป็นสาเหตุหลักของเรื่องนี้ แต่มีหลายปัจจัยที่มาประกอบกัน
ขณะที่ แพทย์หญิงอรพรรณ์ เมธาดิลกกุล แพทย์โรงพยาบาลราชวิถี สมาชิกสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) แห่งประเทศไทย แสดงความเห็นเกี่ยวกับกรณีที่ปัจจุบันคนไข้กับหมอมีข่าวฟ้องร้องกันถี่ไม่ เหมือนสมัยก่อนที่อยู่กันมาได้อย่างดีว่า

“หนึ่ง-เกิดจากกลุ่มเอ็นจีโอกลุ่มหนึ่งที่มีทนายอยู่ 40 คน ทำเรื่องการฟ้องแพทย์โดยตรง กระบวนการนี้เมื่อก่อนไม่มีนะคะ แล้วก็มี สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ที่มาตรา 41 ขึ้นมา มาตรานี้บอกว่า ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการบริการสาธารณสุข เขาจะมีการกันเงินไว้ แล้วคณะกรรมการนี้ก็ไม่ได้เอาความถูกต้องทางด้านจริยธรรมมาจับทั้งหมด ถ้าใครเสียหาย แม้ว่าจะไม่ได้เกิดจากการกระทำของแพทย์ เป็นกรณีสุดวิสัยหรือไม่พึงประสงค์ก็ให้การช่วยเหลือ เพราะฉะนั้นคนก็เริ่มเห็นช่องทางในการได้เงิน ดิฉันเชื่อว่าเงินเป็นปัจจัยที่ทำให้คนเข้ามาจัดการแพทย์ แล้วในที่สุดก็จะกลายเป็นบูมเมอแรงกลับไปจัดการตัวประชาชนเอง

“และ สอง คือ เกิดจาก พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ตั้งเงินก้อนนี้ไว้โดยตรง ตอนนี้ก็เลยเกิดปัญหาว่ามีทั้งคนไข้จริงและไม่จริงใน พ.ร.บ. มาตรา 41 แล้วพอมาเป็น พ.ร.บ. ตัวล่าสุด มันก็จะเกิดคนไข้ไม่จริงขึ้นมาอย่างมากๆ เพราะไม่มีการพิสูจน์ถูกผิดใดๆ ทั้งสิ้น แต่อันนั้นยังมีบ้างเล็กๆ น้อยๆ เพราะมีวิชาชีพแพทย์ตรวจสอบ ตรงนี้จะกลายเป็นสังคมกลับหลังหันเลยนะ สมัยก่อนนี่ถึงกับมีคนไข้มากราบเท้าเลยนะ จนเราตกใจ มีซื้อขนมมาให้ เดี๋ยวนี้ไม่มีอีกแล้ว แม้กระทั่งตัวหมอเองที่รักคนไข้ก็ยังคิดอยู่เลยว่าถ้าสถานการณ์เป็นอย่างนี้ หมอเองก็อาจจะทนไม่ไหวนะ”

เป็นอีกมุมมองหนึ่งต่อกรณีนี้
อย่างไรก็ตาม ข้อหนึ่งน่าจะเป็นเพราะผู้ป่วยสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น เรียกว่ามีความรู้ในโรคภัยของตัวเองพอประมาณ ก็อาจทำให้เกิดการซักถาม โต้แย้งกับหมอมากกว่าแต่ก่อนในภาพใหญ่ เมื่อระบบสาธารณสุขของเรายังไม่แข็งแรง ไม่เพียงพอ แพทย์แต่ละคนต้องรักษาคนไข้จำนวนมากต่อวัน แม้จะไม่อยากให้ผิดพลาด แต่บางครั้งก็สุดวิสัย

รื้อฟื้นความสัมพันธ์
เมื่อต้นเหตุแห่งความขัดแย้งไม่ได้ถูกขจัดไป ไม่ว่าทั้งสองฝ่ายจะเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองฯ จะช่วยลดการฟ้องร้องได้จริงหรือไม่ แต่ความระหองระแหงระหว่างแพทย์และผู้ป่วยก็จะต้องเกิดขึ้นอยู่ดี

เย็นจิตร ไสยรัตน์ คือหนึ่งในผู้ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลที่ตัดสินใจฟ้องร้อง เพราะเธอได้เข้ารับการผ่าตัดเนื้องอกในมดลูก แต่แพทย์กลับพลาดไปถูกกระเพาะปัสสาวะรูรั่ว 2 รู แพทย์จึงให้กลับไปบ้านและยังต้องใส่สายสวนปัสสาวะและถุงใส่ปัสสาวะอยู่ตลอด เวลา ก่อนมีการนัดเย็บรูรั่วที่กระเพาะปัสสาวะอีกครั้ง ในวันที่ 23 มิถุนายน 2549 แต่ 1 ปีผ่านไปอาการรั่วของกระเพาะปัสสาวะก็กลับมาอีก ซึ่งนำไปสู่การฟ้องร้อง แต่สุดท้ายทางโรงพยาบาลจะยินยอมจ่ายเงินชดเชยให้กับเย็นจิตร เป็นเงินจำนวน 500,000 บาท ในขั้นตอนของการไกล่เกลี่ยในศาล แต่เย็นจิตบอกว่า

“คน ไข้ทุกคนไม่มีใครอยากฟ้องหมอหรอก อยากให้เห็นใจคนไข้ เราไม่ได้โทษว่าใครผิด แต่ควรมีการเยียวยาช่วยเหลือ อยากให้โรงพยาบาลยื่นมือช่วยเหลือตั้งแต่เนิ่นๆ การฟ้องร้องสำหรับคนไข้ถือเป็นความทุกข์ ลำบากใจ ยุ่งยาก อยากฝากถึงหมอและคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้เห็นใจคนไข้ที่ได้รับความเดือดร้อนอยากให้ช่วยเหลือเท่าเทียมกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคนที่ถือบัตรทอง ประกันสังคม บัตรข้าราชการ”

คำกล่าวของเย็นจิตรอาจพอรับรองได้ว่า หากทางโรงพยาบาลและแพทย์มีกระบวนการเยียวยาที่เหมาะสมและทันท่วงที ความผิดพลาดที่เกิดก็ไม่จำเป็นต้องนำไปสู่การฟ้องร้องเสมอไป ดังกรณีที่เกิดขึ้นกับโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น เมื่อการผ่าตัดดวงตาเกิดผิดพลาด

นายแพทย์วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ ผู้ อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น กล่าวถึงประสบการณ์การเยียวยาดูแลผู้ป่วยหลังได้รับการผ่าตัดต้อกระจกแล้ว ติดเชื้อว่า ใช้หลักการที่เคยปฏิบัติ โดยคิดว่าเป็นส่วนผิดพลาดของโรงพยาบาลด้วย ไม่ใช่ว่าเป็นความผิดของแพทย์ที่ผ่าตัด ตัวโรงพยาบาลในฐานะขององค์กรต้องรับผิดชอบ

“เริ่ม ต้นเยียวยา เราขอโทษก่อน เสียใจกับเขา แสดงตัวว่ายินดีรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่อย่าเพิ่งพูดเรื่องเงิน เขาเจ็บป่วยอยู่ เราก็รักษาไม่ให้โรคมันลุกลามก่อน แสดงความรับผิดชอบด้วยการรักษาโรคที่เราถนัด ต่อไปก็ค่อยๆ เจรจาเรื่องความเสียหาย เรื่องเงินก็สำคัญอยู่ ถ้าเขายื่นเรื่องเองฟ้องร้องเอง เรื่องมันก็จะช้า เราก็ต้องใช้วิธีว่าหนักเป็นเบา ค่าใช้จ่ายพวกลูกไม่มีเงินไปโรงเรียน สามีขาดรายได้ ก็ต้องเยียวยาไปก่อน”

แต่กว่าจะมาถึงตรงจุดนี้ ทางโรงพยาบาลเองก็ต้องเผชิญกับความทุกข์ใจของคนไข้และญาติมิตร หลายคนก็โกรธ เพราะเป็นเรื่องที่ตนไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่ง ผอ.รพ.ศูนย์ขอนแก่นก็เล่าถึงช่วงเวลานั้นให้ฟังว่า

“คนไข้ก็เครียดนะ เขาสับสน ญาติบางคนร้องห่มร้องไห้ กลัวว่าจะเกิดอันตรายร้ายแรงกับคนไข้ บางคนโกรธ เราก็ต้องอดทนรับฟังเขา แล้วพอได้จังหวะเราก็เรียกประชุมรับฟังความคิดเห็น เราก็เป็นฝ่ายรับฟังเป็นส่วนใหญ่ ค่อยๆ เจรจาว่าแต่ละรายเดือดร้อนอย่างไร บรรเทาหนักเป็นเบา อารมณ์เขาก็อ่อนลง ญาติเขาก็คุยกันเองนะว่าคนนั้นคนนี้ได้รับการดูแลไหม เขาไม่ทิ้งกัน เราก็ต้องดูแลเขาด้วยความเสมอภาคทั้งสิบราย บางรายถ้ายังไม่พอใจ เราก็เจรจาอีกสองสามรอบ ไปหาเขาถึงบ้าน

“สุดท้ายมีอยู่รายหนึ่งจะฟ้องเราแน่ เพราะไม่พอใจมาก แต่พออีกเก้ารายเขาตกลง รายนี้ก็ใจอ่อน ตอนหลังก็อวยพรเรา เขายกมือขออนุโมทนา ขอให้คุณหมอมีความสุขความเจริญ เพราะว่าเขาพูดเองเลยว่าเราก็ไม่ได้เจตนา เขาก็ไม่อยากจะฟ้องร้อง ภายใน 1 เดือนเรื่องก็ลงเอยด้วยดี เขาก็ยังไปแนะนำคนไข้ใหม่ด้วยว่า ไม่ต้องกลัว คุณหมอเขาดูแลดี แล้วเรื่องอย่างนี้มันก็ไม่ได้เกิดขึ้นกันได้ง่ายๆ”

เรื่องราวนี้ทำให้ ‘ขอนแก่นโมเดล’ เป็นที่กล่าวขวัญในหมู่บุคลากรสาธารณสุข เอ็นจีโอ และประชาชน มันแสดงให้เห็นว่า หากมีกระบวนการเยียวยา พูดคุย ในฐานะมนุษย์ที่รู้สึกรับผิดชอบและเจ็บร้อนต่อความทุกข์ของผู้อื่นอย่างจริง ใจ ความบาดหมางจะบรรเทาลงโดยแทบไม่ต้องใช้กลไกอำนาจของรัฐหรือกฎหมายลงมาจัดการ

เช่นกัน นพ.มารุต ก็พยายามจะรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างโรงพยาบาล หมอ และชุมชนให้กลับมากลมเกลียว โดยการสื่อสารและสร้างความมีส่วนร่วม

“การ ที่คนไข้ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากโรงพยาบาลแล้วไปฟ้องร้อง ส่วนมากมักจะเกิดจากท่าทีที่ไม่เป็นมิตรต่อกัน มีการสื่อสารกันน้อย ตรงนี้แก้ไขได้โดยสร้างความสัมพันธ์ที่ดี มีการพูดคุยกับคนไข้ คือถ้าจะมีความเสี่ยงใดๆ ในการรักษาเราต้องบอกเขา อธิบายและสร้างทางเลือกร่วมกัน ที่ผ่านมาหมออาจจะไม่ได้อธิบาย และถือสิทธิ์ว่าเราจะรักษาด้วยวิธีการแบบไหนก็ได้

“ตอนนี้คนไข้มีความรู้มากขึ้น ซึ่งเขาย่อมต้องการที่จะมีทางเลือกที่แตกต่างออกไป มีการตัดสินใจร่วมกัน ซึ่งที่ผ่านมาเราอาจจะละเลยมันไป แต่ตอนนี้เราต้องเน้นเรื่องการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจระหว่างหมอ คนไข้ และชุมชน เพราะคำตอบมันไม่ได้มีอย่างเดียว มันไม่ได้ทำให้หมอเหนื่อยขึ้นเลยนะ แต่อาจจะใช้เวลามากขึ้น ซึ่งตามหลักการแล้วในการรักษาโรค ถ้าจะให้ดีต้องมีการพูดคุยกันอยู่แล้ว ที่ผ่านมาหมออาจจะลดมาตรฐานตนเองลงไป อาจจะเพราะมีคนไข้มาก”

.........

กฎหมายอาจเป็นกลไกหนึ่งของสังคมที่จะประคับประคองการอยู่ร่วมกัน แต่กฎหมายเพียงอย่างเดียวย่อมไม่ใช่คำตอบเบ็ดเสร็จ ถึงที่สุดแล้ว การปรับปรุงระบบสุขภาพทั้งหมดอย่างเป็นองค์รวม การเพิ่มปริมาณและคุณภาพของแพทย์ให้สอดคล้องกับปริมาณคนไข้ การเข้าถึงยา ฯลฯ ย่อมไม่อาจละเลย หากต้องการลดความขัดแย้งระหว่างแพทย์กับคนไข้

สุด ท้าย เราคงเปลี่ยนแปลงการรักษาพยาบาลในรูปธุรกิจและสิทธิไปสู่วันวานคงไม่ได้ แต่อย่างน้อย สิ่งที่ นพ.มารุต กล่าวปิดท้าย น่าจะเป็นเครื่องเยียวยาสำคัญข้อหนึ่ง

“ในการรักษาโรคนั้น เราต้องปฏิบัติกันแบบมนุษย์กับมนุษย์มากขึ้น”

…..
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK

โดย ASTVผู้จัดการรายวัน 5 สิงหาคม 2553

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน