แพทย์ชนบท เภสัชกรชนบท เครือข่ายผู้บริโภคย้ำ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข หมอได้ประโยชน์หนุนให้มีกฎหมาย เครือข่ายผู้เสียหายเดินหน้ายื่นจดหมายต่อแพทยสภาเพื่อขอให้พูดความจริง หยุดโกหก วันพรุ่งนี้ นพ.วชิระ บถพิบูลย์ ในฐานะตัวแทนชมรมแพทย์ชนบท กล่าวถึง ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้มีประโยชน์ต่อสังคม และตนหวังว่า น่าจะสร้างความสัมพันธ์อันดีทุกฝ่าย และถือว่ามีประโยชน์อย่างมากและครอบคลุมผู้ใช้สิทธิ์ทุกคน
“จากประสบการณ์ที่ผ่านมาถึงแม้ปัจจุบันนี้จะมีการชดเชยและเยียวยาผู้เสียหายซึ่งเป็นเสมือนบททดลอง ตามมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ซึ่งสามารถเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายเรียกได้ว่าเกือบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็บรรเทาความเสียหายเฉพาะผู้ใช้สิทธิรักษาบัตรทองเท่านั้น ไม่ครอบคลุมทั้งหมด ไม่ครอบคลุมไปถึงผู้ใช้บัตรประกันสังคม หรือบัตรข้าราชการ รวมถึงสิทธิ์อื่นๆ ซึ่งหากมี กม.ตัวนี้ออกมาจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย และจะช่วยยกระดับสังคมไทยอีกระดับหนึ่งในการให้บริการคุณหมอก็จะได้รักษากันอย่างสบายใจมากขึ้นและผู้รับบริการเอง หากไม่จำเป็นจริงๆ เขาก็คงไม่ได้อยากฟ้อง อยากได้เพียงบริการที่ดี แต่หากเกิดความผิดพลาดด้วยเหตุสุดวิสัยก็น่าจะได้รับการดูแลและเยียวยาเช่นกัน ทำให้เขาไม่เดือดร้อน
อยากให้ ร่าง พ.ร.บ.นี้เข้าสภาไปก่อน ส่วนจะไปแปรญัติอะไรหรือเพิ่มเติมอะไร เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ก็ค่อยไปปรับแก้ได้ภายหลัง แต่หากมีการเคลื่อนไหวคัดค้านของหมอบางกลุ่ม ก็เป็นสิทธิที่จะทำได้ แต่อยากให้สังคมตรึกตรองด้วย และหาก กม.ฉบับนี้จะถูกยกเลิกไปก็เป็นที่น่าเสียดาย เพราะกฎหมายฉบับนี้จะยกระดับสิทธิ ศักดิ์ศรีและอำนาจของคนไข้ ให้ได้รับการดูแลอย่างเพียงพอ ซึ่งก็จะช่วยลดความเลื่อมล้ำทางสังคมด้วยเช่นกัน” ตัวแทนชมรมแพทย์ชนบท กล่าว
ด้าน นพ.วีรพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น คุณหมอที่เคยมีกรณีรักษาผู้ป่วยตาต้อกระจกแล้วผู้ป่วยติดเชื้อระหว่างการผ่าตัด ทำให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรง 11 รายและต้องควักลูกตาทำให้ตาบอดสนิทจำนวน 10 ราย กล่าวว่า ถ้าหามีกฎหมายตัวออกมาตั้งแต่ปี 2553 ตนน่าจะเบาหน่อย
“คนไข้ที่ตาบอด 10 รายเป็นคนไข้บัตรทอง 6 ราย และอีก 4 รายใช้สิทธิข้าราชการ พอเกิดเหตุขึ้นก็กลายเป็นว่าคนไข้บัตรทองได้สิทธิ์ที่ดีกว่า พอเกิดเหตุทั้งผมและพยาบาลก็รีบดำเนินการดำเนินเรื่องเข้าสู่การชดเชย ตามมาตรา 41 ซึ่งก็ได้เงินชดเชยไปรายละ หนึ่งแสนสองหมื่นบาท เป็นการชดเชยในกรณีสูญเสียอวัยะ บางรายไม่พอใจเราก็เพิ่มไป ก็อย่างว่าละตาบอดหนึ่งข้างชดเชยกี่แสนก็ไม่คุ้ม
ผมคิดว่าถ้าหากมี พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ออกมาเราจะมีเวทีในการพูดคุยกันระหว่างหมอกับคนไข้ ซึ่งที่โรงพยาบาลขอนแก่นเราตั้งเวทีในการเจรจากัน คุยกับรับฟังความคิดเห็นของคนไข้ ของญาติคนไข้ ทางเราเองก็ขอโทษเขา เรื่องต่างๆก็ผ่านไปด้วยดี พอมีเวทีให้พูดคุยกันความเข้าใจก็เกิด เพราะทั้งหมอและพยาบาล ไม่มีใครอยากให้ความผิดพลาดเกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่ถ้าหากพลาดพลั้งมาก็ต้องคุยกัน ต้องสร้างสัมพันธ์กัน” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น
นอกจากนี้ยังยกตัวอย่างการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อเยียวยาเบื้องต้นว่าควรเป็นอย่างไรบ้าง แล้วต่อไปจะเยียวยาอย่างไรต่อไป “ผมก็ได้กำหนดไว้ว่าจะไม่มีการขึ้นโรงขึ้นศาล หมอและพยาบาลที่อยู่ในโรงพยาบาลจะต้องไม่เดือดร้อน แล้วเราก็สร้างระบบการดูแลและเยียวยาขึ้นมาให้คนไข้ ไปดูแลเขา แล้วผลดีก็ตามมาคนไข้ทั้ง 10 รายกลับมาเป็นคนไข้ของเราต่อ ตอนแรกเขาก็จะไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่นแต่เราดูแลเขาดี เขาก็กลับมา บางรายขายข้าวมันไก่ก็นำมาเลี้ยงมาฝากหมอและพยาบาล
ซึ่งผมว่าโดยหลักการของ พ.ร.บ.ตัวนี้หากนำมาใช้จริง หมอก็ไม่น่าจะถูกฟ้อง อย่างที่โรงพยาบาลขอนแก่นมีคนไข้รายหนึ่งอยากจะฟ้อง นำทนายมาด้วย แต่ด้วยหลักการดูแลและเยียวยาเบื้องต้นเขาก็ลดความร้อนแรงลง แล้วพอมีการเยียวยาที่ไม่ใช่ตัวเงินเข้าไปอีก อย่างดูแลเรื่องการรักษาต่างๆ การดูแลไปถึงครอบครัวเขาซึ่งได้รับความเดือดร้อนซึ่งอาจจะ 100 เปอร์เซ็นต์ของคนไข้ ตรงนี้เราเอาอะไรไม่วัดไม่ได้ เราก็ดูแลให้ดีที่สุด ซึ่งผมคิดว่าถ้าหาก กฎหมายตัวนี้มาผมคิดว่าโรงพยาบาลต่างๆจะได้รับประโยชน์เป็นอย่างมาก ทำให้โรงพยาบาลมีหลังพิงมากขึ้น เพราะมีกองทุนเข้ามาช่วยเหลือเยียวยาแล้วก็มีคณะอนุกรรมการเข้ามาช่วยพูดคุย เราก็จะได้มีมาตรฐานในการพิจารณาช่วยเหลือเยียวยาคนไข้ บางรายที่เขาฟ้องไปหลายล้านก็ไม่คุ้มกับเขา ถึงแม้ไม่มีกฎหมายตัวนี้ ถ้าคนไข้จะฟ้องเขาก็ยื่นฟ้องได้อยู่แล้ว ถ้ามีกฎหมายตัวนี้ออกมาให้เป็นเกณฑ์ ผมว่าถ้ามีกระบวนการเยียวยาเบื้องต้นทุกอย่างก็จะผ่อนหนักให้เป็นเบา ถึงแม้ว่าหลายคนจะมีความแคลงใจในบางมาตรา ผมว่าก็น่าจะให้กฎหมายผ่านเข้าสภาฯแล้วค่อยมาถกกันว่าจะแก้มาตราไหนน่าจะดีกว่า” นพ.วีรพันธ์ กล่าว
ภญ. ศิริพร จิตร์ประสิทธิศิริ ชมรมเภสัชชนบท กล่าวถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาเกี่ยวกับการเยียวยาคนไข้ที่ผ่านมากว่า 8 ปีหลังจากมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปี 2545 ที่ผ่านมาว่า ที่โรงพยาบาลที่ทำงานอยู่นั้นไม่มีเคสไหนที่จะเอาเรื่องราวถึงสื่อมวลชน
“เพราะมีการพูดคุยกันเมื่อคนไข้เกิดความไม่เข้าใจอะไร ก็จะส่งทีมงานเข้าไปเยี่ยมถึงบ้านและสอบถามว่ามีปัญหาอะไรและมีอะไรที่ไม่สบายใจ แล้วทีมนั้นก็จะนำข้อมูลกลับมาพูดคุยถึงทางออกกับทีมงานโรงพยาบาลรวมถึงผอ.โรงพยาบาลแล้วนำข้อมูลกลับไปตอบคนไข้และนำเขาเข้าสู่กระบวนการเยียวยาตามหลักการชดเชยตามมาตรา 41 ซึ่งทุกคนก็พอใจ และจากการทำงานทำให้เราได้รู้ว่าจริงๆแล้วคนไข้ไม่ต้องการร้องเรียนหมอ คนไข้ต้องการเพียง 1)ต้องการให้หมอได้เข้าใจความรู้สึก ความสูญเสียของเขา 2)อยากให้หมอทบทวนกระบวนการของตัวเองว่าเหตุการที่เกิดขึ้นเกิดขึ้นเพราะอะไร เกิดขึ้นจากความผิดพลาดจริงไหม หรือความบังเอิญ และถ้าเกิดจากเป็นความผิดพลาดจริง เขาก็อยากให้หมออธิบายว่าได้เกิดการปรับปรุงกระบวนการอะไรที่จะไม่ให้เกิดความผิดพลาดกับคนอื่นอีก” ตัวแทนชมรมเภสัชชนบทกล่าวถึงประสบการณ์ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ยังกล่าวถึง พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จะช่วยเพิ่มเติมจาก มาตรา 41 ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯซึ่งจะช่วยขยายความคุ้มครองไปถึงโรงพยาบาลเอกชนด้วย รวมถึงสิทธิข้าราชการและประกันสังคม
“อาจจะมีคำถามว่า มี พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดฯ อยู่แล้ว จะมีกฎหมายตัวนี้ออกมาอีกทำไม ต้องบอกว่าพ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดฯ นั้นครอบคลุมเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐไม่ครอบคลุมถึงเจ้าหน้าที่ใน ร.พ.เอกชน ซึ่งทางโรงพยาบาลสามารถใช้เยียวยาคนไข้ได้
ส่วนพี่น้องที่ประกอบอาชีพด้านสาธารณะสุขแล้วกังวลว่าหากกฎหมายตัวนี้เกิดขึ้นแล้วจะมีการฟ้องอาญามากขึ้นนั้น การฟ้องอาญา ม.34 หากผู้เสียหายฟ้องอาญาไว้แล้ว จะไม่สามารถใช้กฎหมายนี้ได้ ซึ่งกฎหมายตัวนี้ได้บังคับให้เลือกใช้สิทธิเพียงสิทธิเดียวเท่านั้น และ ม.45 จะมีการบรรเทาโทษ หรือละเว้นโทษให้ หากมีการช่วยเหลือ หรือแสดงความรับผิดชอบภายใต้กฎหมายนี้ไปแล้ว ซึ่งศาลก็ต้องพิจารณาหลายๆส่วน เชื่อว่าความเป็นธรรมยังมีอยู่ เพียงแต่ว่าเราต้องผสานความสัมพันธ์ของหมอกับคนไข้ต่อไปและไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม” ภญ. ศิริพร กล่าว
ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยกตัวอย่างเคสผู้เสียหายทางการแพทย์เพื่อให้เห็นภาพว่าทำไมถึงต้องมี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ โดยยกตัวอย่างกรณีนางบังอร มีประเสริฐ ซึ่งเธอได้เข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในปี 2545 ซึ่งบังอรแน่นอึดอัดท้องและกินยาคุมมาเป็นเวลา 5 ปี ได้เข้าตรวจท้องที่โรงพยาบาล มีการตรวจปากมดลูก ตรวจเลือด ตรวจท้อง แล้วหมอก็บอกว่าเป็นเนื้องอกจึงนัดให้มาผ่าตัด ปรากฎว่าเมื่อผ่าตัดเข้าไปพบว่าในท้องของบังอรคือเด็กแฝด
“ทางมูลนิธิฯจึงได้ทดลองใช้ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ปี 2539 ขอความเป็นธรรมจากกระทรวงสาธารณะสุข ทาง สธ.ก็จัดคณะกรรมการขึ้นมา 6 คน สุดท้ายคำวินิจฉัยออกมาว่า การผ่าท้องเป็นการวินิจฉัยโรค ซึ่งเรารู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจาก สธ. จึงฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนคำสั่ง ของ สธ. และศาลปกครองสูงสุดตัดสินว่าเรื่องของบังอรเป็นความผิดทางละเมิดไม่เกี่ยวกับศาลปกครองให้ส่งเรื่องไปที่ศาลจังหวัด ซึ่งกว่าผู้หญิงคนหนึ่งทวงถามความเป็นธรรมถึงการผ่าท้องตัวเองต้องใช้เวลาถึง 7 ปี ใช้เวลานานมากกว่าจะได้รับความชดเชยและกรณีต่อมาคุณดอกรัก เราตัดสินใจไม่ใช้ พรบ.ความรับผิดทางละเมิดฯ แต่ฟ้อง สธ. ในคดีแพ่ง และได้รับเงินชดเชยประมาณ 800,000 บาท โดย สธ. ไม่อุทธรณ์
นั่นเป็นเพียงตัวอย่างที่ทำให้รู้ว่าเราต้อง ผลักดันให้มี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ต้องยอมรับว่า 1)ความขัดแย้งของแพทย์และคนไข้มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ 2)ประเทศไทยยังไม่มีกลไกการชดเชยความเสียหายให้กับประชาชนที่ได้รับความ่เสียหายจากบริการสาธารณะสุข ยกเว้นมีกลไกการจ่ายเงินช่วยเบื้องต้นตาม มาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในคนไข้บัตรทอง 3)นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอให้มีการตั้งคณะทำงานยกร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข โดยมีนพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข เป็นประธาน และมีองค์ประกอบจากนักวิชาการ แพทยสภา กองประกอบโรคศิลปะ ตัวแทนผู้เสียหาย องค์กรผู้บริโภค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีหลักการสำคัญ 3 ประการ คือ การชดเชยความเสียหายจากบริการสาธารณสุขโดยไม่พิสูจน์ถูกผิด การลดการฟ้องฟ้องระหว่างแพทย์และคนไข้ และการนำความเสียหายที่เกิดขึ้นปรับปรุงระบบบริการสาธารณสุข
4)กระทรวงสาธารณสุขได้ปรับร่างกฎหมายเป็นฉบับของกระทรวงสาธารณสุข และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากแพทยสภาและผู้ประกอบวิชาชีพไม่น้อยกว่า 300 คน โดยกลุ่มประชาชนผู้เสนอกฎหมายคัดค้านการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนั้น กระทรวงสาธารณสุขได้นำร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ครม.เห็นชอบและส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาในรายละเอียดต่อไป 5) การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา มีตัวแทนทุกฝ่ายทั้งจากกองประกอบโรคศิลปะ แพทยสภา แพทยสมาคม สมาคมคลินิกเอกชน ตัวแทนผู้เสียหาย องค์กรผู้บริโภค ผู้ทรงคุณวุฒิและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน
6) มีประเด็นอย่างน้อย 4 ประเด็นที่กลุ่มผู้เสนอกฎหมาย ได้แก่ เครือข่ายผู้ป่วย ผู้เสียหายทางการแพทย์ องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรผู้บริโภค ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐบาล อทิเช่น การเปลี่ยนชื่อกฎหมาย การมีสำนักงานภายใต้กระทรวงสาธารณสุข โครงสร้างหรือองค์ประกอบของคณะกรรมการ กระบวนการไกล่เกลี่ยในกฎหมายฉบับนี้ เป็นต้น ทั้งที่อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้เป็นประธานรับฟังความเห็นและได้ทำบันทึกเรื่องนี้ของกระทรวงสาธารณสุขถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 7) ตัวแทนผู้ป่วย องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรผู้บริโภค ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อให้จัดตั้งกองทุนชั่วคราวในการชดเชยความเสียหาย โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้จัดทำข้อมูลว่าจะใช้งบประมาณจำนวนเท่าใด ซึ่งได้มีการเสนอข้อมูลให้นายกรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อย” เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าว
นอกจากนี้ยังตอบประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงและคัดค้านของหมอบางกลุ่มดังนี้
1. ได้เงินแล้วแถมฟ้องอาญาต่อได้อีก มาตรา ๔๕
- มาตรา 45 ของร่างกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ฉบับคณะรัฐมนตรี เขียนไว้ว่า
- ในกรณีผู้ให้บริการสาธารณสุขถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญา ฐานกระทำการโดยประมาทเกี่ยวเนื่องกับการให้บริการสาธารณสุข หากศาลเห็นว่าจำเลยกระทำผิด ให้ศาลนำข้อเท็จจริงต่าง ๆ ของจำเลยเกี่ยวกับประวัติ พฤติการณ์แห่งคดี มาตรฐานทางวิชาชีพ การบรรเทาผลร้ายแห่งคดี การรู้สำนึกในความผิด การที่ได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามมาตรา ๓๓ หรือมาตรา ๓๙ การชดใช้เยียวยาความเสียหาย และการที่ผู้เสียหายไม่ติดใจให้จำเลยได้รับโทษ ตลอดจนเหตุผลอื่นอันสมควร มาพิจารณาประกอบด้วยในการนี้ ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดหรือจะไม่ลงโทษเลยก็ได้
- โดยข้อเท็จจริง กฎหมายฉบับนี้ช่วยทำให้การพิจารณาคดีอาญาเป็นคุณกับแพทย์และผู้ประกอบวิชาชีพ ตลอดจนศาลมีอำนาจสั่งไม่ลงโทษหากได้รับการชดเชยเยียวยาความเสียหายไปแล้ว เพราะสิทธิในการฟ้องคดีแพ่ง และคดีอาญาเป็นสิทธิของทุกคนที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทย
มาตรา 34 ยังช่วยหมอ และพิจารณาเป็นคุณกับแพทย์
- เรื่องการฟ้องร้องแพทย์ กฎหมายฉบับนี้ก็ไม่มีมาตราใดที่จะเปิดช่องให้ฟ้องแพทย์หรือโรงพยาบาล หรือเจ้าหน้าที่อื่นในโรงพยาบาลเลย ตรงกันข้ามกลับจะช่วยแพทย์และโรงพยาบาลอย่างมาก เพราะร่างมาตรา 34 ฉบับของรัฐบาล กำหนดว่า “หากผู้เสียหายหรือญาติไม่ตกลงยินยอมรับเงินชดเชยและได้ฟ้องร้องผู้ให้บริการสาธารณสุขหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความเสียหายเป็นคดีต่อศาล ให้สำนักงานยุติการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้ผู้เสียหายหรือทายาทไม่มีสิทธิ์ที่จะยื่นคำขอตามพระราชบัญญัตินี้อีก”
- นอกจากนี้ยังมาตรา 45 ที่เป็นประโยชน์ต่อแพทย์และโรงพยาบาลกรณีมีการฟ้องร้องคดีอาญากับแพทย์หรือโรงพยาบาลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 หรือมาตรา 300 ซึ่งไม่เกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้เลย ร่าง มาตรา 45 ฉบับของรัฐบาล กำหนดว่า “ในกรณีที่ผู้ให้บริการสาธารณสุขถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาฐานกระทำการโดยประมาทเกี่ยวเนื่องกับการให้บริการสาธารณสุข หากศาลเห็นว่าจำเลยกระทำความผิด ให้ศาลนำข้อเท็จจริงต่างๆ ของจำเลยเกี่ยวกับประวัติ พฤติการณ์แห่งคดี มาตรฐานทางวิชาชีพ การบรรเทาผลร้ายแห่งคดี การรู้สำนึกในความผิด การที่ได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามมาตรา 33 หรือ มาตรา 39 การชดใช้เยียวยาความเสียหาย และการที่ผู้เสียหายไม่ติดใจให้จำเลยได้รับโทษตลอดจนเหตุผลอื่นอันสมควร มาพิจารณาประกอบด้วย ในการนี้ ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ สำหรับความผิดนั้นเพียงใด หรือจะไม่ลงโทษเลยก็ได้”
2. ไม่มีตัวแทนวิชาชีพในคณะกรรมการนโยบายตามมาตรา 7
- ไม่เป็นความจริง เพราะมาตรา 7 (3) มีผู้แทนสถานพยาบาลจำนวน 3 คน เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้ จัดให้มีกองทุนเยียวยาความเสียหาย โดยมีที่มาของเงินจากสถานพยาบาลของรัฐ(รัฐเป็นผู้จ่ายสมทบ) และสถานพยาบาลเอกชน จึงต้องมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในคณะกรรมการนโยบาย และการจ่ายเงินไม่ได้มีการพิสูจน์ถูกผิด
- กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ต้องการจับผิดแพทย์ หรือพิจารณามาตรฐานของแพทย์ จึงไม่มีความจำเป็นต้องมีราชวิทยาลัยทุกสาขา และควรใช้กลไกเช่นเดียวกับการพิจารณามาตรา 41 ของกฎหมายหลักประกันซึ่งมีสามฝ่ายคือ ผู้ประกอบวิชาชีพ(ซึ่งตามกฎหมายนี้ให้น้ำหนักกับผู้จ่ายเงินเนื่องจากเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากกว่าวิชาชีพ จึงใช้ผู้แทนสถานพยาบาล ซึ่งคิดว่าเป็นตัวแทนผู้ประกอบวิชาชีพอยู่แล้ว ผู้ป่วยหรือองค์กรคุ้มครองในสัดส่วนที่เท่ากันกับผู้ประกอบวิชาชีพ คือ 3 คน ส่วนสุดท้ายเป็นตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
3. มาตรา 6 การไม่คุ้มครองกรณีความเสียหายซึ่งหลีกเลี่ยงมิได้จากการให้บริการสาธารณสุขตามมาตรฐานวิชาชีพ เป็นการแก้ไขร่างกฎหมายในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งร่างกฎหมายหลายฉบับไม่ได้ระบุไว้อย่างนี้ และนับเป็นรายละเอียดที่สามารถแก้ไขได้ในขั้นตอนการพิจารณากฎหมาย
- หรือหากพิจารณาจากร่างของประชาชนผู้เสนอกฎหมายก็ชัดเจนว่า ไม่มีการยกเว้นการคุ้มครองในเรื่องนี้ และถือว่าเป็นเรื่องที่จะต้องคุ้มครองเพราะเป็นความเสียหายที่ไม่ใครตั้งใจให้เกิดขึ้น (หาข้อมูลได้จากร่างกฎหมายตามเว็บไซท์ข้างต้น)
4. การยืดอายุความจาก 1 ปีเป็น 3 ปี และเริ่มนับเวลาจากการที่ "ประชาชนทราบความเสียหาย" ไม่ได้เริ่มนับจาก "วันเวลาที่เกิดเหตุการณ์" ซึ่งคงจะยากในการพิสูจน์ข้อ "กล่าวอ้าง" ของผู้เสียหายว่า "ทราบความเสียหาย" เมื่อใด และถ้าประชาชน “อ้าง” ว่ายังมีความเสียหายอีก ก็ยังสามารถร้องขอ “เงินช่วยเหลือและชดเชย” ได้ถึง 10 ปี ส่วนบุคลากรนั้นทำงานไป 10ปี อาจถูกกรรมการมาชี้โทษได้ (โดยกรรมการไม่รู้เรื่องมาตรฐานวิชาชีพดังกล่าว) ถึง 10 ปี
- การขยายอายุความเป็นไปตามกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ซึ่งเป็นวิธีพิจารณาคดี ไม่ได้ขยายอายุความเพราะกฎหมายฉบับนี้
- ขอยืนยันว่ากฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้เพ่งโทษไปที่ตัวบุคคล ดังนั้นไม่มีเหตุให้ชี้โทษผู้ประกอบวิชาชีพ
5. ประเทศสวีเดน คนฟ้องร้องมากขึ้น หลังจากมีกฎหมายฉบับนี้
- ข้อกล่าวหาเรื่องนี้ไม่เป็นความจริง รายงานของ The Swedish Patient Insurance Association ระบุว่า ก่อนปี ค.ศ. 1975 เมื่อยังไม่มีระบบชดเชยความเสียหายแบบนี้ในสวีเดน ผู้เสียหายต้องฟ้องร้องผ่านศาลตามกฎหมายว่าด้วยการละเมิด พบว่ามีผู้เสียหายได้รับการชดเชยประมาณ 100 ราย ต่อปีเท่านั้น
- หลังจากมีกฎหมาย The Swedish Patient Injury Act แล้ว มีผู้เสียหายได้รับการชดเชยเพิ่มขึ้นเป็นประมาณปีละ 5,000 รายโดยผู้เสียหายที่ร้องขอการชดเชยจะไม่มีภาระค่าใช้จ่ายใด ๆ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในกระบวนการพิจารณา การดำเนินการต่าง ๆ ตั้งแต่ร้องเรียนเข้ามาจนกระทั่งได้รับการชดเชยเฉลี่ยรายละประมาณ 900-1,000 เหรียญ (ยูโร) เท่านั้น และประมาณร้อยละ 50 ได้รับการชดเชยภายใน 6 เดือน ร้อยละ 80 ได้รับการชดเชยภายใน 1 ปี เมื่อเทียบกับระบบการฟ้องศาล พบว่าค่าใช้จ่ายต่อรายสูงถึงประมาณ 22,000 เหรียญ และใช้เวลายาวนานหลายปี
6. ร่างที่กฤษฎีกา แก้ดีแล้ว แต่ NGO บีบให้รัฐมนตรีแก้ใหม่
- ไม่เป็นความจริง เพราะ เครือข่ายผู้เสนอกฎหมายมีประเด็นโต้แย้ง 4 ประเด็นสำคัญได้แก่ สำนักงานกองทุน ฯ ควรเป็นสำนักงานที่เป็นอิสระ แต่ตามร่างของคณะรัฐมนตรียังมีสำนักงานภายใต้กรมสนับสนุนบริการสาธารณสุข กระบวนการไกล่เกลี่ย โครงสร้างกรรมการในกฎหมาย ยังคงเหมือนเดิมตามคณะกรรมการกฤษฎีกา ยกเว้นชื่อกฎหมายเท่านั้น
7. ประชาชน 65 ล้านคน ได้ หรือ เสีย จาก พ.ร.บ.นี้
- ประชาชนได้ทั้ง 65 ล้านคน เพราะปัจจุบันเรามีระบบการช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 เฉพาะคนไข้บัตรทองกลุ่มเดียว ยังไม่รวมระบบประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งยังมีคนอีกประมาณ 16 ล้านคน รวมทั้งกลไกที่จะเกิดขึ้นจะมีทั้งการช่วยเหลือเบื้องต้นที่รวดเร็ว และการชดเชยความเสียหาย
8. คนหมื่นคน(คนที่เสนอกฎหมาย) เป็นคนที่ได้ประโยชน์กลุ่มเดียว
- ไม่เป็นความจริง การเสนอกฎหมายนี้เกิดขึ้นจากพัฒนาการการทำงานของเครือข่ายผู้ป่วย ผู้เสียหายทางการแพทย์ องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรผู้บริโภค ที่สนับสนุนการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่เท่าเทียมมีคุณภาพ และได้รับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากปัญหาบริการสาธารณสุข
ผู้เสนอกฎหมายเป็นผู้ทำหน้าที่ในการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 163 ที่กำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 10,000 ชื่อเข้าชื่อกันเสนอกฎหมาย ซึ่งมีความยากลำบากในการดำเนินการที่ต้องรวบรวมทั้งสำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประชาชน และไม่ได้รับคุณค่าในการเสนอกฎหมายจากรัฐสภา เห็นได้จาก(ร่าง) พรบ.องค์การอิสระผู้บริโภค พ.ศ. .... หรือ(ร่าง) พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข จะไม่ได้รับการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรหากวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้านไม่สนับสนุน
9. โรงพยาบาลรัฐต้องจ่ายเงินสมทบมีการแจ้งให้ผู้ที่จะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน รู้ตัวล่วงหน้าหรือยังว่า นอกจากจะต้องทำงานบริการประชาชนแล้ว ยังต้องจ่ายเงินล่วงหน้าก่อนที่จะเกิดความเสียหายอีก ถ้าเป็นโรงพยาบาลรัฐบาล ก็คงไม่มีปัญหาอะไร โรงพยาบาลก็ต้องขอรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลที่จะต้องเอาเงินภาษีจากหยาดเหงื่อแรงงานของประชาชนมาเพิ่มงบประมาณให้โรงพยาบาลเพื่อส่งเข้ากองทุน คุ้มครองผู้เสียหายนี้
โรงพยาบาลรัฐ รัฐบาลเป็นคนจ่ายเงินสมทบกองทุน โรงพยาบาลเอกชนจ่ายสมทบ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ เพราะโรงพยาบาลสามารถลดเงินการจ่ายทำประกันการให้บริการได้ และในปัจจุบันค่ารักษาพยาบาลของเอกชนก็สูงมาพอที่จะเจียดมาจ่ายสมทบกองทุนได้ไม่ยาก
และในวันที่ 29 ก.ค.53 เวลา 13.30 น. เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อ เครือข่ายผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ เข้ายื่นจดหมายต่อแพทยสภาเพื่อขอให้พูดความจริง หยุดโกหก ต่อสาธารณะ กรณี (ร่าง) พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ....และยื่นจดหมายต่อสภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา สภาพยาบาล เพื่อขอให้สนับสนุน(ร่าง) พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ....และในเวลา 15.00 น. จะเข้าพบปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอให้ชี้แจงข้อมูลกับข้อราชการและหน่วยในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. .. ณ กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี