บริการสุขภาพ

ภาคประชาชนยื่นจดหมายแพทยสภาให้หยุดโกหก

เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อ เครือข่ายผู้ป่วยโรคเรื้อรัง   เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ เข้ายื่นจดหมายต่อแพทยสภาเพื่อขอให้พูดความจริง  หยุดโกหก ต่อสาธารณะ  กรณี  (ร่าง) พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. .... จุรินทร์เตรียมเปิดเวทีหาข้อสรุป


วันนี้ (29ก.ค.) เครือข่ายภาคประชาชนได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อแพทยสภา เพื่อคัดค้านการเคลื่อนไหวต่อต้านร่างพ.ร.บ.คุ้มครองความเสียหายจากการรับ บริการสาธารณสุข พร้อมทั้งจุดเทียนเป็นสัญลักษณ์เพื่อให้แสงสว่างและสติแก่แพทยสภา

 

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เปิดเผยว่า ได้จุดเทียนเพื่อให้แพทยสภาอยู่ในศีลธรรมและมีสติในการไตร่ตรองร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้โดยไร้อคติ เนื่องจากแพทย์บางคนยังไม่เคยอ่านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้แต่กลับออกมาคัดค้าน ทั้งนี้หากแพทยสภาหยุดเคลื่อนไหวผ่านแพทย์บางกลุ่ม ความสงบสันติจะเกิดขึ้นทันที

 

นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวว่า กลุ่มผู้คัดค้านมีธงต้องการให้ถอนร่างพ.ร.บ.นี้ออกจากสภาเพื่อมาแก้ไข ส่วนตัวมองว่าเงื่อนไขต่างๆ แก้ไขได้ในขั้นตอนการพิจารณาของสภา ทั้งนี้หากมีการถอนร่างออกทั้งที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีลงนามเป็นวาระเร่งด่วนแล้ว เท่ากับรัฐบาลหลักลอย

 

หลังจากนั้นตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคได้เดินทางเข้ายื่นจดหมายถึง  นายกทันตแพทยสภา นายกสภาการพยาบาล และนายกสภาเภสัชกรรมอให้สนับสนุน ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ..ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ขอให้้ชี้แจงข้อมูลกับข้าราชการ และหน่วยในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับ ร่าง พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ....

 

ขณะที่ นพ.อำนาจ กุสลานันท์ อุปนายกแพทยสภา กล่าวว่า แพทยสภายืนยันว่าจะต้องถอนร่าง พ.ร.บ.นี้ออกไปเพื่อพิจารณาให้รอบคอบอีกครั้ง เพราะเนื้อหากระทบต่อระบบการเงินการคลังของประเทศ ทั้งนี้เห็นควรให้ขยายมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพปี 2545 เพื่อครอบคลุมประชาชนทุกคนแทน

 

สำหรับข้อเสนอที่จะให้พิจารณาในสภานั้นมองว่าจะใช้เวลามาก ฉะนั้นหากตกลงกันได้ก่อนแล้วจึงนำร่างเข้าไปใหม่จะทำให้รวดเร็วกว่า ทั้งนี้ยังไม่เคยเห็นและไม่ได้คัดค้านร่างของภาคประชาชน แต่คัดค้านในส่วนของสธ. โดยจดหมายที่ได้รับวันนี้จะนำเสนอต่อนายกแพทยสภา และคณะกรรมการบริหารแพทยสภาต่อไป

 

นพ.จงเจตน์ อาวเจนพงษ์ นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ประธานวิปรัฐบาล ประธานรัฐสภา และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลถอนร่างพ.ร.บ.คุ้มครองฯ ออกมาชั่วคราว และตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ประกอบด้วยบุคลากรทางการแพทย์ ภาคประชาชน และตัวแทนภาครัฐ พิจารณาเพื่อหาจุดร่วม ก่อนนำกลับเข้าสู่สภาอีกครั้ง

 

นพ.ประเสริฐ ศัลย์วิวรรธน์ เลขาธิการแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า บางประเด็นในร่างพ.ร.บ.นี้ยังไม่สิ้นสุด เมื่อประชาชนได้รับการเยียวยาก็ยังสามารถฟ้องร้องต่อได้ ทำให้ไม่สามารถลดการฟ้องร้องได้จริง จึงเห็นว่าควรนำกลับมาพิจารณาใหม่

 

ด้าน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ได้มอบให้นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เชิญทุกฝ่ายมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน ซึ่งคาดว่าเป็นคนละเวที จากนั้นจะนัดมาหารือร่วมกันอีกครั้งโดยภายในสัปดาห์หน้าจะดำเนินการได้ อย่างไรก็ตามขณะนี้ได้บรรจุร่างพ.ร.บ.นี้เข้าสู่วาระการพิจารณาของรัฐสภา แล้ว แต่จะได้รับการพิจารณาเมื่อใดขึ้นอยู่กับคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล)

 

“ส่วนตัวไม่ขอแสดงความคิดเห็นใดๆ กับกฎหมายฉบับนี้”นายจุรินทร์กล่าว และว่าการแต่งชุดดำของแพทย์เพื่อแสดงออกถึงการคัดค้านพ.ร.บ.ฉบับนี้นั้น ถือเป็นสิทธิที่สามารถทำได้หากไม่ไปละเมิดใคร ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแต่ละบุคคล

 

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน