บริการสุขภาพ

วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 20 ฉบับที่ 7181 ข่าวสดรายวัน จี้หมอยุติ ต้านพรบ. คุ้มผู้ป่วย

ประธาน เครือข่ายผู้เสียหายทาง การแพทย์ออกแถลงการณ์หลังหมอเคลื่อนไหวต้านพ.ร.บ. คุ้มครองคนไข้ ชี้มีพ.ร.บ.เหมือนคุ้มครองทั้งหมอ-คนไข้ไปพร้อมๆ กัน เพราะลดปัญหาคนไข้ฟ้องหมอ และหากเกิดปัญหาก็ได้รับการเยียวยาทันท่วงที โดยแพทย์-พยาบาลไม่ต้องชดใช้ด้วย เพราะจริงๆ แล้ว เป็นการช่วยไม่ให้คนไข้ฟ้องอาญาแพทย์ด้วย ขณะที่นายกแพทยสภาหนุนถอนร่างก่อน อ้างจะเกิดปัญหาคนไข้ขอชดเชยจนรัฐบาลเจ๊ง

จาก กรณีที่แพทยสภาและกลุ่มแพทย์เคลื่อนไหวต่อต้านร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหาย จากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. .... และนัดรวมพลครั้งใหญ่ในวันที่ 30 ก.ค.นี้ เพื่อล้มร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวนั้น ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 27 ก.ค. นางปรียานันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวว่า เครือข่ายฯ ออกแถลงการณ์เพื่อชี้แจงให้สังคมรับทราบความจำเป็นของร่างพ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ ว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นความหวังเดียวของผู้ป่วยที่จะได้รับความเป็นธรรมและจะลดปัญหาการฟ้อง ร้องต่อบุคลากรทางการแพทย์ เพราะจะมี 1.กองทุนชดเชยความเสียหายด้วยความรวดเร็ว 2.คณะกรรมการกลางที่ไม่ใช่แพทย์ทั้งหมดเหมือนแพทยสภามาพิจารณาการชดเชยที่ เป็นธรรม และ 3.มีการพัฒนาระบบป้องกันความเสียหายไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำ

นาง ปรียานันท์ กล่าวว่า แถลงการณ์ระบุว่า เงินกองทุนจะมาจากการจ่ายสมทบ รัฐบาลจะเป็นผู้จ่ายสมทบแทนสถานพยาบาลของรัฐ และในส่วนสถานพยาบาลของเอกชนก็ต้องมีการจ่ายสมทบเช่นกัน เงินทั้งหมดก็มาจากภาษีชาวบ้านและเงินคนไข้ แพทย์-พยาบาลไม่ได้เป็นผู้จ่าย การจ่ายเงินชดเชยจะไม่มีการเพ่งโทษไปที่ตัวบุคลากรทางการแพทย์ จะมีการสอบสวนให้รู้สาเหตุและหาทางป้องกันแก้ไข เพื่อยกระดับมาตรฐานวิชาชีพ พ.ร.บ.ฉบับนี้จะแก้ไขปัญหาทั้งต้นเหตุและปลายเหตุไปพร้อมกัน

"เครือ ข่ายฯ ก่อตั้งมาแล้ว 8 ปี พวกเราเห็นว่าการต่อสู้ได้สร้างความทุกข์ให้เกิดขึ้นทั้งสองฝ่าย จึงสมควรต้องมีระบบดูแลรับผิดชอบต่อคนไข้ที่ได้รับความเสียหายแทนบุคลากรทาง การแพทย์ และช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ไม่ต้องรับภาระใช้ค่าเสียหาย จะได้ปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือชีวิตเพื่อนมนุษย์ต่อไปอย่างเต็มที่ การตอบโต้กับคนไข้แบบตาต่อตาฟันต่อฟันของหน่วยงานนั้นทำให้คนไข้เสื่อม ศรัทธา และก่อให้เกิดวิกฤตความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับคนไข้อย่างรุนแรง โดยเฉพาะแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนไม่รับรักษาผู้ป่วย แพทย์หวาดระแวงไม่กล้ารักษา ทำให้หมอลาออก นักศึกษาไม่อยากเรียนแพทย์" แถลงการณ์ระบุ

แถลงการณ์ระบุต่อว่า ขอวิงวอนให้แพทยสภาและกลุ่มแพทย์ที่ต่อต้านพ.ร.บ.ฉบับนี้ โปรดหยุดคิดและเห็นใจในความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์ ขอความเมตตาให้ท่านมองพวกเราอย่างเข้าใจ ว่าครั้งหนึ่งชีวิตของพวกเราก็คือวัตถุดิบในการเรียนรู้ของท่านในอันที่จะ พัฒนายกระดับมาตรฐานวิชาชีพ และขอวิงวอนให้รัฐบาลได้ โปรดเดินหน้านำร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. .... เข้าบรรจุเป็นวาระในเดือนส.ค.นี้ ตามที่ได้รับปากกับประชาชนว่าจะผลักดันร่างพ.ร.บ.นี้ล้านเปอร์ เซ็นต์ เพื่อประโยชน์ของคนไทยทั้งประเทศ ในอันที่จะสร้างความเป็นธรรมและสันติสุขให้เกิดขึ้นในสังคมต่อไป

ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ไม่เข้าใจว่ากลุ่มแพทย์ที่ออกมาเรียกร้องให้ถอนร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว มีเหตุผลอะไร เพราะความจริงแล้วพวกแพทย์จะรู้เรื่องร่างพ.ร.บ.นี้มาโดยตลอด เพราะมีการดำเนินการมาตั้งแต่น.พ.มงคล ณ สงขลา เป็นรมว. สาธารณสุข ซึ่งขณะนี้มีร่างพ.ร.บ.นี้รวมทั้งสิ้น 7 ฉบับ ที่เตรียมนำเสนอเข้าการพิจารณาของสภา ซึ่งยังสามารถเสนอขอให้แก้ไขได้ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะขอให้ถอนร่างพ.ร.บ. และหากทางรัฐบาลดำเนินการถอนร่างพ.ร.บ.นี้ตามขอเรียกร้องของทางสมาพันธ์ฯ ทางภาคประชาชนก็จะมีการเคลื่อนไหวใหญ่เช่นกัน

"เหตุผลที่มีการออกมา เคลื่อนไหวของทางสมาพันธ์ฯ คงเป็นเพราะมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ทั้งยังให้ข้อมูลที่ผิดๆ กับประชาชน ที่ระบุว่าหากมีการประกาศใช้ร่างพ.ร.บ.นี้จะเป็นการสนับสนุนให้ผู้ป่วยฟ้อง อาญาแพทย์ ซึ่งความจริงแล้วตรงกันข้าม ร่างพ.ร.บ.นี้จะช่วยแพทย์ไม่ให้ถูกฟ้องอาญาด้วยซ้ำ และการหารือกับทางสภาการพยาบาล และสภาเภสัชกรรม ก็เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.นี้ ดังนั้นการที่ทางสมาพันธ์ฯ มาอ้างว่ากลุ่มสภาวิชาชีพเห็นด้วยกับการถอนร่างพ.ร.บ.นี้จึงไม่เป็นความจริง " น.ส.สารี กล่าว

น.พ.มงคล ณ สงขลา อดีตรมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ร่างกายมนุษย์มีความซับซ้อนมาก แม้แพทย์จะมีความตั้งใจรักษาผู้ป่วยให้หาย แต่ความผิดพลาดย่อมอาจเกิดขึ้นได้ แต่หากมีร่างพ.ร.บ.นี้ ผู้ป่วยจะได้รับการเยียวยาทั้งเงินชดเชย และการเยียวยาจิตใจ เหมาะสมกับความเสียหายที่เกิดขึ้น ผู้เสียหายจะได้รับค่าเสียหายเร็วขึ้นจากเดิมที่จะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี ยืนยันว่าร่างพ.ร.บ.นี้จะเกิดผลดีต่อทั้งแพทย์และผู้ป่วย

ขณะ ที่น.พ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า อยากให้มีการถอนร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวออกจากสภาผู้แทนราษฎรก่อน เพื่อนำมาวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วน เพราะพบว่ามีการศึกษาจากหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เยอรมัน รวมถึงองค์การอนามัยโลก ธนาคาร โลก ว่า แนวทางการจ่ายค่าชดเชยแบบดังกล่าว จะทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐบาลมาก ซึ่งหลายประเทศเลือกที่จะไม่ทำ เพราะรัฐไม่สามารถแบกรับภาระได้ไหว และจากประเทศที่เดินหน้าวิธีดังกล่าวไปแล้ว ก็พบว่าอัตราการเอาเงินชดเชยเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 เท่า และจะสามารถทำได้ในประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการ มีการเก็บภาษีสูงมาก ประชากรน้อย ซึ่งต่างจากประเทศไทยที่มีประชากรมาก เก็บภาษีน้อย

"การ จะทำอะไรต้องมีการศึกษาให้ละเอียด ดูจากประสบการณ์ของประเทศที่เคยทำไว้แล้ว เพราะไม่มีประเทศที่เจริญประเทศไหนในโลกทำกัน ซึ่งผมจะไม่ขัดข้องหากรัฐบาลเป็นรัฐสวัสดิการที่เก็บรายได้สูง แต่วิธีนี้กำลังจะทำให้รัฐบาลเจ๊ง เป็นการมองมุมเดียวที่เห็นแก่ได้ แทนที่เงินจะนำไปใช้ในการรักษา ก็จะต้องแบ่งส่วนไปจ่ายค่าชดเชยหมด อีกทั้งยังไม่มีการกำหนดเพดานไว้ สุดท้ายแล้วผลเสียก็จะอยู่ที่ประชาชนเอง และเชื่อว่าพ.ร.บ.นี้ผ่านสภา ก็จะทำให้จำนวนการฟ้องร้องในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน" น.พ.สมศักดิ์ กล่าว

น.พ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในวันที่ 28 ก.ค. เวลา 10.00 น. ทางสำนักงานคณะกรรม การสุขภาพแห่งชาติ จะจัดแถลงข่าว "พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข เส้นทางสมานฉันท์ แพทย์ ผู้ป่วย จริงหรือ" ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.นี้ เพื่อให้มีความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน เพราะที่ผ่านมามีทั้งผู้ที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ขณะเดียวกันทราบมาว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข ก็ให้ความสนใจเรื่องนี้ และกำลังหาทางออกในเรื่องนี้อยู่

ข้อมูลจาก นสพ.ข่าวสด 28 ก.ค. 53

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน