22 ส.ค. กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพอีสานออกแถลงการณ์ คัดค้านโยบายการเก็บ 30 บาทของรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยเพราะการไม่เก็บ 30 บาทต่อครั้ง ไม่ใช่สาเหตุที่ประชาชนจะไปโรงพยาบาลมากขึ้น
ในแถลงการณ์ระบุว่า ข้ออ้างของรัฐบาลชุดปัจจุบันภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย ที่นำนโยบาย “30 บาทรักษาทุกโรค” กับมาใช้อีกครั้งและจะเริ่มดำเนินการเก็บเงิน 30 บาทในวันที่ 1 กันยายน 2555 เป็นต้นไป โดยอ้างว่าเพื่อลดปัญหาการขาดทุนของสถานพยาบาลในระบบ และต้องการให้ประชาชนใช้บริการสุขภาพเท่าที่จำเป็น
กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคอีสาน ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 30 บาทต่อครั้ง เพราะการไม่เก็บ 30 บาทต่อครั้ง ไม่ใช่สาเหตุที่ประชาชนจะไปโรงพยาบาลมากขึ้น จากข้อมูลพบว่าประชาชนไปโรงพยาบาลเพราะความเจ็บป่วยและความจำเป็น การเพิ่มจำนวนของผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติรัฐบาลต้องนำปัจจัยอื่นๆมาประเมินร่วมด้วย เช่นการขยายชุดสิทธิประโยชน์ในการรักษาโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น การจ่ายยาต้านไวรัสเอชไอวี ทั้งสูตรพื้นฐานและสูตรดื้อยา รวมถึงการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง การดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย การผ่าตัดต้อกระจก การผ่าตัดลิ้นหัวใจ การรักษาโรคมะเร็ง นิ้วในถุงน้ำดี เป็นต้น จึงทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นเพิ่มมากขึ้น รวมถึงมีอัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังและโรคไม่ติดต่อเพิ่มขึ้น เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจ มะเร็ง จึงทำให้มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่ผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเท่านั้น แต่มีทั้งผู้ป่วยที่เป็นข้าราชการ และผู้ประกันตน ดังนั้นผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงไม่ใช่จำเลยที่ทำให้ระบบสาธารณสุขต้องล้มละลาย
การใช้บริการในหน่วยบริการของผู้ป่วยในสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลจะต้องสนับสนุนงบประมาณ เหมาจ่ายรายหัว โดยที่ประชาชนได้ร่วมจ่ายผ่านการเสียภาษีอยู่แล้ว ขณะที่ระบบบริการสุขภาพอื่น คือ สิทธิสวัสดิการข้าราชการซึ่งรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณเช่นกันแต่ผู้ใช้ไม่ต้องร่วมจ่ายเพิ่ม กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคอีสาน ไม่เห็นด้วยกับการกลับมาใช้นโยบายการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 30 บาทต่อครั้ง ด้วยเหตุผลดังนี้
1.การเก็บ 30 บาทไม่ได้ช่วยพัฒนาคุณภาพหน่วยบริการได้จริงตามที่กล่าวอ้าง ทั้งนี้ เมื่อปี 2546 รัฐบาลมีรายได้จากการเก็บค่ารักษาพยาบาลครั้งละ 30บาท รวมทั้งหมด 1,073 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.9 เป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับอัตราค่าเหมาจ่ายรายหัวที่รัฐต้องจัดสรร เข้าระบบ
2.การพัฒนาคุณภาพหน่วยบริการต้องใช้การจัดการงบประมาณผ่านค่าใช้จ่ายรายหัว เพื่อยกระดับพัฒนาระบบคุณภาพการรักษาและการบริการ ประกอบกับการลดรายจ่ายที่เกินจำเป็น
3 .จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นไม่ใช่เพราะรักษาฟรี โดยจากข้อมูลอัตราการใช้บริการทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในระหว่างปีที่ร่วม จ่าย 30 บาทต่อครั้งกับปี 2550 ที่ไม่มีการร่วมจ่ายก็ไม่มีความต่างในอัตราการใช้บริการอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่คนมาใช้บริการมากขึ้นเพราะเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่จำเป็นและการเพิ่ม สิทธิประโยชน์ เช่น โรคเอดส์ ไต มะเร็ง เป็นต้น
4.หลักประกันสุขภาพเป็นสิทธิ์ของประชาชนไทยที่จะได้รับบริการสาธารณสุขที่มี คุณภาพมาตรฐาน อย่างเท่าเทียมกันด้วยสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
5. ให้รัฐบาลเร่งออก พรบ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 61 รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550
สิทธิของบุคคล ซึ่งเป็นผู้บริโภค ย่อมได้รับการคุ้มครองในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง และมีสิทธิร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค
ให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐในการตราและการบังคับใช้กฎหมายและกฎ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ ให้รัฐสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการขององค์การอิสระดังกล่าวด้วย
กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคอีสาน จึงขอย้ำว่าประชาชนมีสิทธิ์ประสงค์ไม่ร่วมจ่าย 30 บาทตามวงเล็บ 21 ของประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง บุคคลที่ไม่ต้องร่วมจ่ายค่าบริการ พ.ศ.2555