กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคอีสาน ชี้ เก็บ ๓๐ บาทซ้ำเติมคนจน ยิ่งจนยิ่งจ่ายค่าสุขภาพแพง
จากมติบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๕ ที่จะให้เก็บค่าบริการ ๓๐ บาท ในการไปใช้บริการสุขภาพ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๕ ทางเครือข่ายภาคประชาชนที่ทำงานกับประชาชนในพื้นที่ในภาคอีสาน ต่างกังวลต่อเรื่องดังกล่าว เมื่อเก็บ ๓๐ บาท แล้วจะไปซ้ำเติมชาวบ้านหรือกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องไปพบแพทย์อย่างต่อเนื่อง ทำให้เข้าไม่ถึงบริการด้านสุขภาพ
เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๕ เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ ที่ทำการเครือข่ายผู้ติดเชื้อจังหวัดนครพนม ทางเครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสานร่วมกับเครือข่ายผู้ติดเชื้อจังหวัดนครพนมและกลุ่มคนอีสานรักหลักประกันสุขภาพได้ประชุมหารือเกี่ยวกับการเก็บค่าบริการทางการแพทย์ ๓๐ บาททุกครั้งที่เข้ารับบริการในกลุ่มผู้ใช้สิทธิบัตรทอง
ทางด้านนางศรีนวล หลาบเงิน ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อจังหวัดนครพนม ไม่เห็นด้วยที่จะให้เก็บ ๓๐ บาท เป็นการเพิ่มภาระให้กับประชาชน ผู้ป่วยบางคนเข้ารับบริการเป็นประจำ อาทิตย์หนึ่งไปพบแพทย์อย่างน้อย ๓ ครั้ง ซึ่งต้องจ่ายค่าบริการทุกครั้ง บางคนเวลาไปหาหมอ ต้องมีผู้ติดตามไปด้วยเพราะมีโรคแทรกซ้อน ต้องจ่ายค่ารถเพิ่ม ดูแล้วไม่เป็นธรรม ถ้าไม่ป่วยจริงๆไม่มีใครอยากไปโรงพยาบาลนอกจากป่วยจริงๆ เคลื่อนไหวไม่ได้ถึงได้ไปหาหมอ ดังนั้นเก็บ ๓๐ บาทเป็นการเพิ่มภาระให้ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงบริการทางการแพทย์ ที่สำคัญคิดว่ารัฐบาลต้องการดึงเอาไปเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองมากกว่า ว่านี่คือเป็นผลงานของตนเอง
นายปฏิวัติ เฉลิมชาติ ผู้ประสานงานกลุ่มคนอีสานรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า เมื่อช่วงวันที่ ๑๖-๒๘ กรกฎาคม ที่ผ่านมา ได้มีการลงพื้นที่เพื่อประชุมกับตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนในจังหวัดขอนแก่น เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนครและนครพนม ทุกคนส่วนใหญ่เมื่อรับรู้ข้อมูลว่าจะมีการเก็บ ๓๐ บาท ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ เพราะหลังจากที่มี พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๕ ประกาศใช้ ทำให้คนอีสานเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ โดยส่วนใหญ่คนที่ไปโรงพยาบาล หากไม่เจ็บป่วยก็ไม่ต้องการไปหาหมอ เพราะมีต้นทุนหลายอย่างเช่นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าอาหาร ต้องเสียเวลาที่ต้องรอพบหมอตรวจโรคและรับยา อีกทั้ง เป็นการเพิ่มช่องว่างและสร้างความแตกต่างระหว่างผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพหรือบัตรทองที่ต้องจ่าย ๓๐ บาท แต่ผู้ป่วยกลุ่มข้าราชการไม่ต้องร่วมจ่ายอะไรอีกทั้งมีสวัสดิการอีกมากมาย ซึ่งจะทำให้โรงพยาบาลต้องเผชิญหน้าขัดแย้งกับผู้ป่วยโดยรัฐบาลลอยตัวเพียงต้องการให้เก็บ ๓๐ บาท เพื่อเป็นโลโก้ทางการเมือง
ดังนั้น กลุ่มคนอีสานรักหลักประกันสุขภาพ จะขับเคลื่อนให้มีระบบสุขภาพมาตรฐานเดียวกันต่อไป ดังเจตนารมณ์ที่ว่า “ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว ”