กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพกว่า 100 คน เข้ายื่นข้อเสนอภาคประชาชนต่อการพัฒนาระบบบริการสุขภาพต่อนางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่กระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้เพื่อให้การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาแห่งชาติเดินหน้าต่อไปและลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมให้เป็นระบบสุขภาพมาตรฐานเดียวทั้งประเทศ
กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพได้ร่วมกับเครือข่ายผู้เสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ เครือข่ายผู้ป่วยโรคไต โรคมะเร็ง ผู้ติดเชื้อเอชไอวี จึงเสนอ แนวทางการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติโดยขอให้รัฐบาล พรรคเพื่อไทยทบทวนนโยบายการเก็บเงินสมทบ 30 บาทและให้รัฐบาลดำเนินการให้ระบบสุขภาพของประเทศเป็นมาตรฐานเดียวกันด้วยการสนับสนุนงบประมาณในการดูแลสุขภาพของผู้ประกันตนพร้อมกันนี้ขอให้รัฐบาลสนับสนุนและผลักดันให้รัฐสภาเร่งพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข และขอให้เพิ่มค่าใช้จ่ายในการจ่ายต่อโรคในการรักษาพยาบาล (drg) ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้เท่ากับระบบสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ
อย่างไรก็ตามภายหลังรับหนังสือ นางสาว ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ขอขอบคุณทุกท่านที่มายื่นหนังสือขอรับเรื่องนี้ไว้และจะนำไปหารือร่วมกับคณะกรรมการและรัฐมนตรี พร้อมยืนยันว่าหลักประกันสุขภาพที่รัฐบาลสนับสนุนเน้นความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันทุกคน ขณะที่กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ได้มอบเสื้อสีดำขลิบชมพูให้กับ นายกรัฐมนตรีเป็นที่ระลึก
{gallery}action/550109_Health{/gallery}
แถลงการณ์ ฉบับที่ 1/2555
เปิดตัว กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ
8 มกราคม 2555
นับเป็นเวลา 10 กว่าปีมาแล้ว (ตั้งแต่กลางปี 2543) ที่ประชาชนกลุ่มหนึ่งจำนวนกว่า 9 หมื่นคน ได้ร่วมกันลงชื่อเสนอกฎหมายประชาชน ”ร่างพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ขณะนั้นรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องได้ 5 หมื่นชื่อ แต่เนื่องจากประชาชนเครือข่ายต่างๆพบว่าการได้มาซึ่งหลักประกันสุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนสมควรได้รับ เช่นเดียวกันเป็นหน้าที่ของรัฐพึงดำเนินการโดยเร่งด่วน จึงร่วมแรงร่วมใจ ลงทุนลงแรงในการระดมรายชื่อ ซึ่งส่งผลให้มีการกำหนดในนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองจนทำให้ได้รับการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 ด้วยการชูนโยบายสนับสนุนให้เกิดระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในชื่อ “โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค” จากนั้นด้วยแรงประสานภาคีต่างๆ ทำให้รัฐบาล ขบวนประชาชน และนักวิชาการ ผนึกกำลังกันผลักดันให้สามารถออกกฎหมาย “พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” เมื่อปลายปี 2545 ปฏิบัติการของกฎหมายฉบับนี้คือก่อให้เกิดการเข้าถึงการรักษาของประชาชนทุกคนอย่างทั่วถึง ครอบคลุม และเป็นธรรมกับทุกคน
ประวัติศาสตร์ 10 ปีที่ผ่านมามีการยกระดับจากความใฝ่ฝันของประชาชน เป็นกฎหมายของประเทศ ยกเลิกการเก็บเงิน 30 บาททุกครั้งที่ไปรับบริการ พัฒนาระบบการบริหารจัดการรักษาสุขภาพแบบมีมาตรฐาน บนพื้นฐานการคำนวณค่าใช้จ่ายอย่างเป็นจริง เป็นธรรม สำหรับทุกคน ไม่เปิดโอกาสให้การรักษาพยาบาลเป็นธุรกิจเพื่อหวังผลกำไรเกินควร หน่วยงานของรัฐภายใต้กระทรวงสาธารณสุข ตัองปรับตัวเองให้เป็นนักบริหารระบบสุขภาพอย่างมีคุณภาพ คุ้มค่า คุ้มทุน ทั้งการรักษา การฟื้นฟูเยียวยา และการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ที่ผ่านมากว่าทศวรรษก่อให้เกิดระบบการจ่ายเงินค่ารักษาที่พัฒนาขึ้นอย่างเป็นระบบ อย่างมืออาชีพของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นระบบประกันสุขภาพระบบแรกและระบบเดียวที่ผู้แทนประชาชนส่วนต่างๆ มีส่วนร่วมในการบริหารและการควบคุมคุณภาพ
อย่างไรก็ตาม กฎหมายที่กำหนดว่ารัฐต้องดำเนินการหลอมรวมระบบหลักประกันสุขภาพทั้งประเทศให้เป็นระบบเดียวกัน มาตรฐานเดียวกัน และคุ้มครองสิทธิการรักษาเท่าเทียมกัน ยังไม่บรรลุผล ปัจจุบันยังมีระบบการรักษาพยาบาลถึง 3 ระบบ ของข้าราชการ ผู้ประกันตนในประกันสังคม และระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รัฐบาลปัจจุบันซึ่งมาจากพรรคเดียวกันที่สนับสนุนและสร้างกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติขึ้นมา ยังไม่ได้ปรากฏวิสัยทัศน์ไกลไปกว่าจะ “เก็บเงิน 30 บาทอีกครั้ง แต่การเก็บเงินที่จุดบริการไม่ทำให้เกิดความเท่าเทียม เสมอภาคของคนที่ยังเหลื่อมล้ำกันในเรื่องรายได้ ความยากลำบากในการเดินทางเข้าถึงการรักษา การปล่อยให้โรงพยาบาลเอกชนร่วมมือกับประกันสังคมสร้างภาพการรักษาที่แตกต่าง รวมหัวกันขึ้นค่ารักษาอย่างมีเลศนัย การออกมาประกาศเรื่องการรักษาของผู้ประกันตนรายวัน โดยไม่รู้ว่าทำไมไม่ทำมาตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่แล้วปล่อยให้ ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมได้รับการรักษาที่ไม่มีการควบคุมคุณภาพมาตั้งนาน การไม่ยอมหลอมรวมระบบประกันสุขภาพทั้งสามภายใต้ระบบการรบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและไม่เปิดโอกาสให้มีการแสวงผลประโยชน์เกินควรของผู้ให้บริการ ตลอดจนการไม่ยับยั้ง ไม่ชลอการมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการรักษาของคนต่างชาติทั้งๆที่คนในประเทศยังต้องรอคิวรับการรักษาเหล่านี้คือ ภัยคุกคามต่อระบบหลักประกันสุขภาพ การยิ่งขาดแคลนแพทย์ พยาบาลมากขึ้น การสร้างภาพค่ารักษาที่สูงเกินจริง การสร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างบริการสำหรับคนจน คนรวย ที่อาจทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างถูกทิศถูกทาง หรือเท่าที่ควร เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการบางส่วนสามารถแสวงผลประโยชน์เกินควรบนความลำบากในการเข้าถึงสิทธิอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยของประชาชนส่วนใหญ่
เครือข่ายประชาชนที่ร่วมลงชื่อเสนอกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเฝ้าติดตาม และให้เวลากับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รัฐบาล รัฐมนตรีสาธารณสุขมาโดยตลอด ตระหนักถึงภาวะคุกคามนี้ จึงต้องออกมาส่งเสียงและแสดงตัวตนว่าเราเป็น “กลุ่มคนที่รักหลักประกันสุขภาพ” พร้อมจะปกป้องให้ระบบนี้เป็นระบบแห่งชาติอย่างแท้จริง ต้องการจับตามองการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่สวนทางกับพัฒนาการก้าวหน้าที่ผ่านมา การชูนโยบายกลับมาเก็บ 30 บาทอีกครั้งทุกครั้งที่รับบริการเพียงเพื่อลบล้าง พัฒนาการที่เกิดขึ้นในระหว่างรัฐบาลชุดอื่นเพื่อ รีแบรนด์ อีกครั้งเป็นการคิดที่ล้าหลัง และไม่รับผิดชอบต่อหลักการที่ถูกต้อง
กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อ
- จับตาการดำเนินงานของรัฐบาล รัฐมนตรีสาธารณสุข และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ และกฎหมายที่ประชาชนร่วมสร้างมาแต่ต้น
- การเปิดโปงความไม่โปร่งใสของการดำเนินงานของระบบหลักประกันสุขภาพ ทั้งการบริหารจัดการส่วนกลาง และการดำเนินการในระดับ จังหวัด อำเภอ ตำบล และสถานพยาบาล
- การนำเสนอข้อเท็จจริงของการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม มีคุณภาพ มีมาตรฐาน เพื่อแสดงให้เห็นว่าระบบการรักษาของบัตรทองมีมาตรฐานและคุ้มค่า มากกว่าระบบของข้าราชการที่ผลาญเงินภาษีอย่างมหาศาล และการสร้างมายาภาพของประกันสังคม
วันนี้ เราซึ่งมาจากทุกจังหวัดของประเทศไทย เป็นตัวแทนของประชาชนที่ร่วมในปฏิบัติการของกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงขอประกาศจัดตั้ง “กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ” เพื่อดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้น
แถลงมา ณ วันที่ 8 มกราคม 2555