ภาคประชาชน แฉ ...แผนล้มล้างระบบประกันสุขภาพ ระบุ มีหลายหน่วยงานพยายามโค่น โดยวิธีแทรกแทรงสารพัดอย่าง
วัน 8 ม.ค. ที่โรงแรมริชมอนด์ นายจอน อึ้งภากรณ์ อดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอรด์ สปสช.) ในฐานะประธานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวแถลงข่าวเรื่อง “แฉผังล้มระบบหลักประกันสุขภาพ” พร้อมเปิดตัว “กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ” ครั้งแรก ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือของหลายองค์กร อาทิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ว่า ที่ผ่านมา ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือที่รู้จักกันดีในบัตร 30 บาท รักษาทุกโรค มาจนถึงบัตรทองนั้น พบว่า ตัวระบบสามารถทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงระบบหลักประกันมากขึ้น มีการพัฒนาสิทธิประโยชน์ต่างๆ จนได้รับการยอมรับ แต่จากสถานการณ์ปัจจุบัน
กลับพบว่า ระบบหลักประกันสุขภาพที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อประชาชนกำลังถูกแทรกแซงจากฝ่ายที่เสียผลประโยชน์ โดยเฉพาะพวกนายทุน ภาคธุรกิจ เห็นได้จากการตั้งผู้ทรงคุณวุฒิของ บอร์ด สปสช.แทนที่จะช่วยกันพิจารณาทั้งภาคประชาชน ทั้งฝ่ายการเมือง กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และผู้แทนต่างๆ แต่กลับมีการเลือกผู้ทรงคุณวุฒิที่ปราศจากความเห็นของประชาชน เลือกบุคคลที่สาธารณะแทบไม่รู้จัก ซึ่งภาคประชาชนมองว่าเป็นการเลือกพวกพ้อง จนนำไปสู่การฟ้องศาลปกครอง ซึ่งตรงนี้จะเป็นปัญหาในเรื่องการพิจารณานโยบาย เพราะสุดท้ายการประกาศนโยบายใดๆ จะกลายเป็นว่า ภาคประชาชนเป็นเสียงส่วนน้อย ไม่สามารถออกสิทธิออกเสียงเพื่อประโยชน์ของประชาชนได้อย่างแท้จริง ที่สำคัญ กลับจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นเฉพาะในการจัดซื้อจัดจ้างในวงเงินถึง 500 ล้านบาท โดยอ้างว่า สปสช.มีปัญหาจากการตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) และยังมีความพยายามในการฟื้นคืนอำนาจไปสู่ สธ.โดยการมอบอำนาจการสรรหาเลขาธิการ สปสช.คนใหม่ แทนคนปัจจุบันที่จะหมดวาระลงในช่วงมีนาคมนี้ ไปยัง สธ.แทน ซึ่งไม่ถูกต้อง ผิดหลักกฎหมาย เนื่องจากที่ผ่านมาต้องเป็นบอร์ด สปสช.โดยมาจากหลายฝ่าย และในสัดส่วนเท่าเทียมกัน
ประธานกลุ่ม กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ หน้าที่ของบอร์ด สปสช.ควรต้องตามกฎหมายในเรื่องรวมระบบประกันสังคมกับบัตรทอง กลับยังไม่ดำเนินการ แต่ปล่อยให้ประกันสังคมเพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อถ่วงเวลา ทั้งๆ ที่การเพิ่มสิทธิของประกันสังคมเป็นประโยชน์กับ รพ.เอกชนมากกว่าผู้ประกันตน เพราะสุดท้ายเงินส่วนใหญ่ก็จะไปลงที่ รพ.เอกชน ทั้งๆ ที่ภาษีของผู้ประกันตนก็จ่ายให้ระบบหลักประกันสุขภาพฯ และยังต้องจ่ายเงินทุกเดือนให้ประกันสังคม ก็ควรได้อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพฯที่ดีไปเลยดีกว่า สิ่งเหล่านี้มองว่า หากบอร์ด สปสช.ชุดใหม่ไม่เข้าใจการทำงาน ก็ควรถอยหลังลงเรื่อยๆ และหากมีการเมืองเข้ามาแทรกแซง มีเรื่องผลประโยชน์ ประชาชนคงไม่ได้อะไร
น.ส.สุภัทรา นาคะผิว ผอ.ศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ กล่าวว่า กลุ่มที่มาแทรกแซงระบบหลักประกันสุขภาพ ไม่ใช่ใครอื่น เป็นกลุ่มก๊วนที่เสียผลประโยชน์โดยตรง มีทั้ง 7 กลุ่ม ได้แก่ สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีม่า) สมาคมโรงพยาบาลเอกชน ชมรมโรงพยาบาลเพื่อการพัฒนาระบบบริการประกันสังคม สหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และการสาธารณสุขประเทศไทย (สผพท.) นอกจากนี้ ยังมีคนบางกลุ่มในแพทยสภา กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และฝ่ายการเมือง เข้ามาเกี่ยวข้อง ตรงนี้อยากฝากให้สังคมช่วยจับตาว่า เป็นจริงหรือไม่ เพราะสุดท้ายจะต้องมีการเคลื่อนไหวที่เอื้อประโยชน์ต่อบุคคลพวกนี้แน่นอน
น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่ม กล่าวว่า การเปิดตัวกลุ่มครั้งนี้เพื่อต้องการพิทักษ์สิทธิของประชาชน ต้องการให้ระบบหลักประกันสุขภาพที่เป็นธรรมอยู่ต่อไป โดยยึดหลัก ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว ซึ่งในวันที่ 9 มกราคม จะมีการประชุมบอร์ด สปสช.ทางกลุ่มภาค กทม.จะเดินทางไปยื่นหนังสือสนับสนุนระบบหลักประกันสุขภาพที่ปราศจากการแทรกแซงใดๆ แก่ประธานบอร์ด สปสช.และในจังหวัดต่างๆ ก็จะมีการเคลื่อนไหวลักษณะนี้ อาทิ ในวันที่ 27 มกราคม กลุ่มภาคอีสาน จ.ขอนแก่น จะยื่นหนังสือแก่ผู้ว่าราชการจังหวัด นอกจากนี้ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ ทางกลุ่ม จ.นครปฐม วันที่ 14 กุมภาพันธ์ จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.สงขลา จะเคลื่อนไหวยื่นหนังสือพร้อมกันแก่ผู้ว่าฯ เช่นกัน และในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ กลุ่มภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัด จะยื่นหนังสือให้ สสจ.นายก อบจ.และ ส.ส.เพื่อสนับสนุนดังกล่าว
{gallery}action/550108_Health{/gallery}