ไม่ว่ารัฐบาลไหนเข้ามา คมช.หรือพรรคประชาธิปัตย์ ก็ไม่กล้าล้มนโยบายนี้ มีแต่พยายามจะทำให้ดีขึ้น แต่ต่อให้ทำดีแค่ไหน อานิสงส์ก็ล้วนไปตกกับทักษิณและพรรคไทยรักไทย ในฐานะผู้ริเริ่มจนประสบความสำเร็จ ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลขิงแก่ยกเลิกเก็บเงิน 30 บาทไปแล้ว และรัฐบาลประชาธิปัตย์ก็ยกเลิกบัตรทองไปแล้ว ให้ใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ แต่ชาวบ้านก็ยังเรียกกันติดปาก ว่าบัตรทอง 30 บาทของไทยรักไทยอยู่ดี
แต่ไม่น่าเชื่อว่าเมื่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเข้ามา จะงี่เง่าถึงขนาดเขียนด้วยมือ ลบด้วยเท้า
หลายคนอาจจะไม่เชื่อและอาจจะบอกว่าแพทย์ชนบทพูดเว่อร์ไป “ขบวนการล้มบัตรทอง” ยังกะข้อกล่าวหา “ขบวนการล้มเจ้า” ใครจะไปล้มนโยบาย 30 บาท ไม่มีใครงี่เง่าขนาดนั้นหรอก ใช่ครับ ไม่มีใครล้มทันทีหรอก แต่ความงี่เง่าไม่รู้จักแยกมิตรแยกศัตรู ตลอดจนมองเห็นแต่ผลประโยชน์เฉพาะหน้า สามารถทำให้นโยบาย 30 บาทเป็นอัมพาตไปได้
เอ้า ดูกันง่ายๆ กับแนวคิดที่จะกลับมาเก็บเงิน 30 บาท ทั้งที่ยกเลิกไปหลายปีแล้ว ผมอยากถามว่าคิดได้ไง เอาอวัยวะส่วนไหนคิด ถ้าไม่งี่เง่าพอจะคิดอย่างนี้ได้ไหม มันก็ไม่ต่างจากนโยบายเลิกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน แล้วกลับมาเก็บใหม่ หาเรื่องให้ชาวบ้านด่าพึม จนรัฐมนตรีพลังงานโดนเด้ง คนเคยเสีย แล้วไม่เสีย แล้วกลับมาเสีย ใครเขาจะพอใจครับ ไปเชื่อพวกหมอเมือง (ตรงข้ามกับหมอชนบท) ได้ไง ที่ว่าไม่เก็บ 30 บาททำให้คนหาหมอพร่ำเพรื่อ
“การยกเลิกการจ่ายเงินครั้งละ 30 บาท ทำให้ประชาชนมาใช้บริการมากขึ้น ส่วนคนที่ยากจนจริงๆนั้น บางคนอาจไม่มีเงินเป็นค่าเดินทาง ก็อาจจะไม่สามารถมารับบริการได้ แต่ผู้มีเงินมากก็จะมารักษาที่โรงพยาบาลมากขึ้น เรียกร้องการรักษามากขึ้น โดยไม่ต้องรับผิดชอบดูแลสุขภาพของตนเอง และไม่ต้องร่วมจ่ายเงินในการดูแลรักษาสุขภาพของตนเองเลย”
นี่คือตรรกของ พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย(สผพท.) ซึ่งเขียนบทความเรื่อง “เมื่อกระทรวงสาธารณสุขไร้อำนาจ-ไร้เงิน ใครคือตัวจริงกุมอำนาจเบ็ดเสร็จบริการสาธารณสุขไทย!” ลงเว็บไซต์ thaipublica
เราๆ ท่านๆ ลองเอาอวัยวะตรองดูก็ได้ว่านี่เป็นตรรกที่น่าเชื่อถือหรือเปล่า
คบคนผิดไม่รู้มิตร-ศัตรู
ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้คือเราจะต้องแยกมิตรแยกศัตรูให้ชัดเจนก่อน ว่าใครอยู่ข้างใคร ในทางการเมือง และในทางนโยบายที่เป็นผลประโยชน์ประชาชน ซึ่งต้องยอมรับว่ามันซับซ้อน
นโยบาย 30 บาทเป็นไอเดียของหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ซึ่งท่านจากไปครบ 4 ปีพอดีในวันที่ 18 มกราคม หมอสงวนเป็นหนึ่งในกลุ่มสามพราน สานุศิษย์หมอประเวศ อาจกล่าวได้ว่านโยบายนี้เป็นไอเดียที่กลุ่มสามพรานช่วยกันคิดขึ้นมา แล้วหมอสงวนกับหมอวิชัย โชควิวัฒน ซึ่งเป็นคนเดือนตุลา ก็เอานโยบายนี้ไปเสนอทักษิณ ผ่านทางหมอมิ้ง พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช และกลุ่มคนเดือนตุลาที่อยู่รอบๆ ทักษิณ และเมื่อพรรคไทยรักไทยเข้ามาเป็นรัฐบาล ก็มีหมอเลี้ยบเป็น รมช.สาธารณสุข ผลักดันให้นโยบายสัมฤทธิ์ผล โดยมีหมอมงคล ณ สงขลา ปลัดกระทรวง หมอกลุ่มสามพราน และชมรมแพทย์ชนบท เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง
กลุ่มคนที่คัดค้านไม่พอใจนโยบาย 30 บาท ก็คือผู้บริหารในกระทรวง เพราะหลังจากรัฐบาลไทยรักไทยออก พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ ตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติขึ้นมา ก็ดึงงบประมาณเกือบทั้งหมดไปจากกระทรวงสาธารณสุข เปลี่ยนเป็นค่ารักษาพยาบาลรายหัว ซึ่ง สปสช.จ่ายตรงไปให้โรงพยาบาลต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชนที่ร่วมโครงการ สปสช.เป็นผู้กำหนดราคาค่ารักษา เป็นผู้จัดซื้อ ต่อรองราคายาและอุปกรณ์ทุกอย่าง
กลุ่มหมอกระทรวงเป็นไม้เบื่อไม้เมากับหมอสามพรานและหมอชนบทมานาน ตั้งแต่สมัยจับทุจริตยาในรัฐบาลชวน 2 ซึ่งทำให้หมอปรากรม วุฒิพงศ์ โดนเด้ง หมอมงคลได้เป็นปลัดแทน
กลุ่มถัดมาก็คือแพทย์ตามโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งหัวใจของ 30 บาท คือการปฏิรูประบบงบประมาณ จากเดิมที่จ่ายงบตามขนาดโรงพยาบาลและจำนวนบุคลากร ทำให้เกิดความไม่สมดุล แพทย์ พยาบาล กระจุกกันอยู่แต่ในตัวเมือง หรือใกล้กรุงเทพฯ แต่นโยบาย 30 บาทเปลี่ยนมาจ่ายงบประมาณตามรายหัวประชากร งบก็หล่นโครมลงไปอยู่ตามจังหวัดไกลปืนเที่ยง ตามโรงพยาบาลชุมชน ที่มีประชากรมาก มีหมอน้อย มีพยาบาลน้อย ส่วนพวกโรงพยาบาลใหญ่ ที่ประชากรไม่มาก แต่ดันมีหมอมาก พยาบาลมาก ก็โดนตัดลด เพื่อบีบให้กระจายบุคลากรสู่ชนบท พวกนี้จึงโวยวายกันทั่ว อ้างว่าขาดทุน
อันที่จริงระบบ 30 บาทก็กำหนดให้ รพ.ใหญ่รับผู้ป่วยจาก รพ.ชุมชน แล้วเก็บค่ารักษาตามอัตราที่ สปสช.กำหนด และ รพ.ใหญ่ยังได้ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ ตลอดจนคนมีเงินรักษาเอง ซึ่งต่อมาเมื่อระบบเข้าที่ ก็ไม่ได้มีปัญหาขาดทุนอย่างที่โวยวายกัน เพียงแต่แพทย์พยาบาลเหล่านี้ก็ยังไม่พอใจอยู่ดี อยากให้แยกเงินเดือนออกจากงบค่าใช้จ่ายรายหัว
กลุ่มที่สามที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับ 30 บาท ก็คือโรงพยาบาลเอกชนเกรดบี ที่ไม่ใช่ รพ.กรุงเทพ บำรุงราษฎร์ สมิติเวช พระราม 9 ธนบุรี ฯลฯ ที่ทำมาหากินกับคนมีกะตังค์หรือคนไข้ข้ามชาติไปแล้ว ไม่มาสน 30 บาทหรอก แต่พวกเกรดบีเกรดซีเนี่ยต้องอาศัยประกันสังคมและ 30 บาทเป็นรายได้พื้นฐาน
พวกนี้ไม่ได้ต้องการล้ม 30 บาท แต่ต้องการให้ สปสช.ดีดเพดานค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้น (รวมทั้งอาจจะอยากให้ลดมาตรฐานการตรวจสอบคุณภาพลง) เมื่อ สปสช.ต่อราคา พวกนี้ก็มักจะโวยวาย เช่นเมื่อ สปสช.ต่อราคาค่าฟอกไตเหลือ 1,500 บาท น.พ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน (เจ้าของเครือ รพ.รามคำแหง) กับ น.พ.เฉลิม หาญพาณิชย์ (เจ้าของค่ายเกษมราษฎร์ ญาติแลนด์แอนด์เฮ้าส์) ก็ส่งจดหมายเวียนถึง รพ.เอกชนทุกแห่ง ไม่ให้เซ็นสัญญา เพราะจะเสียราคาที่รับกับสวัสดิการข้าราชการอยู่ครั้งละ 2,000 บาท
นั่นทั้งๆ ที่หมอเอื้อชาติเป็นกรรมการ สปสช.อยู่โดยตำแหน่ง จึงทำให้บอร์ด สปสช.มีมติประณาม (แต่ก็ยังไม่มีผลอะไรตามมา หมอเอื้อชาติยังอยู่ในบอร์ดชุดปัจจุบัน)
พวกแพทย์ รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป และ รพ.เอกชน คือเสียงส่วนใหญ่ในแพทยสภา (แหงละ เพราะแพทย์ชนบทมีแค่หยิบมือ) อย่าง น.พ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภาหลายสมัย ก็เป็นเจ้าของโรงพยาบาลลาดพร้าว
มิตรศัตรูของนโยบาย 30 บาท มาแปรเปลี่ยนเพราะการเมืองเรื่องเสื้อสี ที่ไม่ต้องพูดมากก็รู้กันว่าเครือข่ายลัทธิประเวศกลายเป็นศูนย์อำนวยการ NGO ฝ่ายไล่ทักษิณ เชียร์รัฐประหาร และเป็นเครื่องมือของรัฐบาลประชาธิปัตย์ โดยมี สสส.เป็นท่อน้ำเลี้ยง
ชะรอยพวกเพื่อไทยคงเคยอ่านที่ผมเขียนว่า “เครือข่ายหมอประเวศล้มรัฐบาลได้” พอเข้ามาก็เลยกะจะล้างบางพวกหมอวิชัย และทายาทหมอสงวนใน สปสช.เป็นอันดับแรก
แต่มันผิดฝาผิดตัวครับ ข้อแรก คุณควรจะไปล้างบาง สสส. เพราะ สปสช.ไม่ได้เอาเงินออกมาเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้ใคร ข้อสอง ถ้าล้างบางลัทธิหมอประเวศ ก็ควรทดแทนด้วย NGO ฝ่ายประชาธิปไตย ไม่ใช่ทดแทนด้วยกลุ่มผลประโยชน์
เพราะอย่างน้อย พวกหมอวิชัย หมอสงวน หมอสุวิทย์ แพทย์ชนบท ก็ไม่เคยมีปัญหาเรื่องทุจริตประพฤติมิชอบ แม้จะเคยหนุนรัฐบาลประชาธิปัตย์ กระทั่งหมอวิชัยทำจดหมายน้อยขอตำแหน่งปลัดกระทรวงให้หมอชูชัย ศุภวงศ์ แต่พอโครงการไทยเข้มแข็งของ ปชป.ส่อทุจริต หมอวิชัยกับแพทย์ชนบท ก็เป็นคนเปิดโปง จนวิทยา แก้วภราดัย โดนเด้ง (และ ปชป.ก็เอาจดหมายน้อยมาแฉหมอวิชัยกลับ นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า “คบคนพาลพาลพาไปหาผิด คบแมลงสาบเป็นพิษจนผุยผง”)
ที่สำคัญกว่านั้นคือ เมื่อพวกหมอประเวศเป็นเหลืองแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าฝ่ายตรงข้ามในนโยบาย 30 บาทเป็นแดง เพราะพวกหมอๆ ส่วนใหญ่ ก็ไม่พอใจทักษิณอยู่แล้ว ยิ่งถูกปลุกอุดมการณ์ราชานิยม ก็ยิ่งไปกันใหญ่ สังเกตดูสิครับ โรงพยาบาลเกือบทุกแห่งในประเทศไทย ในช่วงพันธมิตรกระแสสูง เปิด ASTV วิสัญญีคนไข้กันทั้งสิ้น
เอ้า ยกตัวอย่างง่ายๆ บอร์ด สปสช.ผู้ทรงคุณวุฒิที่รัฐบาลนี้ตั้งใหม่ ในส่วนของผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ได้คุณเสงี่ยม บุญจันทร์ ชนะกิตติศักดิ์ ปรกติ เพื่อนเก่าผม ผู้เป็นไม้เบื่อไม้เมากับนิติราษฎร์
ตอนแรกผมก็สะใจ ไอ้กิตติศักดิ์ (เรียกแบบเพื่อน) มันปกป้องรัฐประหารตุลาการภิวัตน์ดีนัก ว่าแต่คุณเสงี่ยมนี่เป็นใครมาจากไหนผมไม่รู้จัก เอ๊ะ ทนายเสื้อแดงหรือเปล่าหวา พอไปค้นประวัติดู เฮ้ย ที่ไหนได้ แทบหงายหลัง คุณเสงี่ยม บุญจันทร์ เพิ่งไปออก ASTV กับ อ.พิชาย รัตนดิลก เมื่อปลายเดือนกันยา (ทั้งที่ได้รับเลือกเป็นบอร์ด สปสช.แล้ว) คัดค้านข้อเสนอนิติราษฎร์ ด่าอัยการที่ไม่อุทธรณ์คดีภาษีพจมาน ค้นย้อนไปอีกพบว่า คุณเสงี่ยมเคยเป็นเลขาธิการสภาทนายความ สมัยเดชอุดม ไกรฤทธิ์ ให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนกรกฎาคม 2552 ปกป้องกษิต ภิรมย์ ว่าไม่ใช่ผู้ก่อการร้ายยึดสนามบิน และให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 17 เม.ย.2553 หลัง ศอฉ.ล้อมจับแกนนำ นปช.ไม่สำเร็จว่า มวลชนเสื้อแดงที่เข้าไปช่วยเหลือแกนนำให้หลบหนีการจับกุมถือว่ามีความผิด ฐานขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่
อ้าว เฮ้ย เปรียบกับกิตติศักดิ์ ไม่รู้ใครสลิ่มกว่าใคร อย่างน้อยผมก็ยังเชื่อมั่นกิตติศักดิ์ ว่าจะปกป้องผลประโยชน์ประชาชนในนโยบาย 30 บาท แต่คุณเสงี่ยมที่รัฐมนตรีสาธารณสุขเอามานี่ ผมไม่รู้จัก ไม่รู้พลิกกลับมาเป็นบอร์ดในรัฐบาลเพื่อไทยได้ไง (ไหนโวยกันนักว่าไม่ตั้งเสื้อแดง)
ยกตัวอย่างอีกเรื่องนะครับ คุณหมอเชิดชูที่เขียนบทความถล่ม สปสช. เธออ้างถึงการสัมมนาของแพทยสภาเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2553 ว่าวิทยากรในการสัมมนาคือ คุณสุกฤษฏิ์ กิตติศรีวรพันธุ์ นักกฎหมายมหาชน วิจารณ์ สปสช.ว่า ไม่มีประเทศประชาธิปไตยที่ไหนในโลก ที่รัฐมนตรีไม่สามารถสั่งการหน่วยงานในสายงานของตนเองได้
โห พูดได้จับใจ น่าเชิญไปวิพากษ์วิจารณ์ พรบ.จัดระเบียบกลาโหม แต่ปรากฏว่าผมค้นอาจารย์กู คุณสฤษดิ์แกเพิ่งเป็นทนายให้เครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรักชาติ ฟ้องศาลปกครองให้คุ้มครองม็อบของคุณไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ เมื่อต้นปี 54 แล้วก็เคยไปฟ้อง กกต.ต่อศาลปกครองให้สั่งยกเลิกการเลือกตั้ง 2 เมษา 49
ที่ยกมานี่ผมไม่ได้บอกว่าท่านที่เอ่ยนามมีความผิดคิดร้าย แต่ผมจะบอกว่า เฮ้ย ในแวดวงหมอๆ ที่บอกว่าต่อต้านเครือข่ายหมอประเวศเนี่ย ต่างก็นัวเนียหนับหนุนพันธมิตรมาด้วยกันทั้งสิ้น ไม่มากก็น้อย ฉะนั้นพรรคเพื่อไทยอย่าเอาการเมืองเรื่องสีเสื้อมาเช็กบิลพวกหมอวิชัย แล้วเปิดก้นให้อีกฝ่ายเข้าข้างหลัง ระวังจะแสบ
กระทรวงนี้เจ๊คุม
บอร์ด สปสช.ผู้ทรงคุณวุฒิที่ตั้งใหม่มี 7 คน ได้แก่
1.พ.ญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประกันสุขภาพ 2.น.พ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และสาธารณสุข 3.น.พ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนไทย 4.น.พ.พินิจ หิรัญโชติ ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ทางเลือก 5.นางวรานุช หงสประภาส ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการคลัง 6.นายเสงี่ยม บุญจันทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย 7.นาวาอากาศเอก (พิเศษ) น.พ.อิทธพร คณะเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมศาสตร์
แต่ต่อมาต้องเปลี่ยนแปลง 1 ตำแหน่งคือ น.พ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์แผนไทยแทน น.พ.พิพัฒน์ เพราะมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติเนื่องจากยังเป็นเลขาธิการ อ.ย.อยู่
เมื่อเปรียบมวยกับฝ่ายเครือข่ายหมอประเวศ ซึ่งไม่ได้รับเลือกทั้ง 7 คน ได้แก่ น.พ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ, น.พ.ศิริวัฒน์ ทิพธราดล, ภก.สำลี ใจดี, น.พ.ประพจน์ เภตราการ, นางนวพร เรืองสกุล, กิตติศักดิ์ ปรกติ และ รศ.จิราพร ลิ้มปนานนท์ อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ
ก็ต้องบอกว่าฝ่ายหลังมีคุณสมบัติตรงกว่า และมีชื่อเสียงเรื่องต่อสู้กับการทุจริต และการเอารัดเอาเปรียบของบริษัทยาข้ามชาติ ใน 7 คน โอเค คุณเสงี่ยม คุณวรานุช หมอจรัล อาจมีคุณสมบัติตรง ขณะที่ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ คือภริยา ศ.อรุณ เผ่าสวัสดิ์ กรรมการแพทยสภา ผมไม่ทราบว่าท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประกันสุขภาพตั้งแต่เมื่อไหร่
นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา มาในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมศาสตร์ ถ้าบอกว่าสังคมเก่ง ก็คงใช่ หมออิทธพรเป็นคนที่น่าจับตามาก (บางคนเก็งว่าจะมาเป็นเลขา สปสช.ด้วยซ้ำ) เพราะบุคลิกดี มีวาทศิลป์ ที่ผ่านมาก็ทำหน้าที่คล้ายๆ “ล็อบบี้ยิสต์” ของแพทยสภา ป้วนเปี้ยนอยู่แถวรัฐสภาและสมาคมนักข่าว (เพราะเคยอบรมกับสถาบันอิศรา) มีบทบาทสำคัญในการคัดค้านร่าง พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข
น.พ.พินิจ หิรัญโชติ กรรมการแพทยสภา เป็นอดีต ผอ.รพ.นครปฐม ไม่ทราบว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ทางเลือกมาแต่ไหน ท่านอ้างว่าเคยไปอบรมแพทย์ทางเลือกที่เมืองจีน บอร์ดก็เลือกเข้ามาแทน น.พ.ประพจน์ เภตราการ อดีตรองอธิบดีกรมแพทย์แผนไทย
ถ้าจำกันได้ สมัยไชยา สะสมทรัพย์ เป็นรัฐมนตรีจากนครปฐม ก็เคยผลักดันให้ น.พ.พินิจเป็นเลขาธิการ สปสช.แต่ตอนนั้นต้องลงแข่งกับหมอสงวน เลยสู้ไม่ได้
น.พ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ ที่มาเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์แผนไทยแทน น.พ.พิพัฒน์ นี่ยิ่งบ้าเข้าไปใหญ่ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านแพทย์แผนไทย? หมอประดิษฐ์คือกรรมการผู้จัดการ บริษัท เดคคอร์มาร์ท จำกัด ผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ตกแต่งบ้านระดับ “ไฮเอนด์” จากต่างประเทศ (ผมไม่รู้ว่าไฮเอนด์แปลว่าอะไร ไม่มีวาสนาใช้ของระดับนี้) และเป็นหุ้นส่วนในเครือ “แสนศิริ” ซึ่งเพิ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นบอร์ดการบินไทยด้วย
เฮ้ย นี่มันนายทุนพรรคซะมากกว่า เชี่ยวชาญด้านแพทย์แผนไทยมาจากไหน
น.พ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ เคยรักษาการปลัดกระทรวงสาธารณสุข หลังเจ๊หน่อยปลดหมอวัลลภ ไทยเหนือ พอเกษียณแล้วไปสมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ที่ขอนแก่น แล้วสอบตก แต่เจ๊หน่อยยังเอามาเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีตอนย้ายไปว่าการกระทรวงเกษตรฯ
ถ้าย้อนข่าวตอนนั้นคงจำกันได้นะครับ น.พ.วัลลภ ไทยเหนือ ปลัดกระทรวง ถูกเจ๊หน่อยปลด แล้วโวยว่าเป็นเพราะขัดขวางการทุจริตประมูลคอมพิวเตอร์ 900 ล้าน เจ๊หน่อยตั้ง น.พ.จรัลรักษาการปลัด ก่อนจะตั้ง น.พ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เป็นประธานกรรมการสอบทุจริต สอบกันยังไงผมจำไม่ได้แล้ว รู้แต่ว่า น.พ.ชาตรี บานชื่น โดน ปปช.ชี้มูล และโดน น.พ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดสาธารณสุขคนถัดมา ลงโทษตัดเงินเดือนฐานผิดวินัย แต่พอไชยา สะสมทรัพย์ มาเป็น รมว.สาธารณสุข ก็มีการอุทธรณ์คำสั่งไปที่ ก.พ.และ ก.พ.ยกโทษให้
น.พ.จรัลรักษาการปลัดชั่วคราว โดยมีแคนดิเดท 3 คนคือ น.พ.วิชัย เทียนถาวร น.พ.ปราชญ์ และ ภ.ก.ภักดี โพธิศิริ เจ๊หน่อยเลือก น.พ.วิชัยเป็นปลัด แต่ต่อมาก็เจอวิบากกรรมซ้ำซ้อน เกิดคดีทุจริตจัดซื้อรถพยาบาล 232 คัน คราวนี้ น.พ.พิพัฒน์โดนเสียเอง เรื่องยังอยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงของ ปปช.โดย น.พ.สุชัย เจริญรัตนกุล ที่เข้ามาเป็นรัฐมนตรีแทนเจ๊หน่อย สั่งเด้ง น.พ.วิชัย เทียนถาวร และตั้งกรรมการขึ้นปลดล็อกสเปก กระทั่งมาจัดซื้อได้สมัยพินิจ จารุสมบัติ เป็นรัฐมนตรี
ตัวละครเหล่านี้กลับมาหมดนะครับ น.พ.จรัลเป็นบอร์ด สปสช. น.พ.พิพัฒน์ก็ได้รับการผลักดันเข้ามาแต่บังเอิญขัดคุณสมบัติ น.พ.ชาตรี บานชื่น ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ของ สปสช. ส่วน น.พ.วิชัย เทียนถาวร ก็กลับมาเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรี
เรื่องทุจริตคอมพ์ และทุจริตจัดซื้อรถพยาบาล จนบัดนี้ก็ยังค้างอยู่ใน ปปช.เพราะกรรมการ ปปช.ที่สอบเรื่องนี้คือ ภ.ก.ภักดี โพธิศิริ ซึ่งเจ๊หน่อยโวยวายว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสีย และอนุดิษฐ์ นาครทรรพ ก็ไปยื่นถอดถอน ภ.ก.ภักดีต่อวุฒิสภา เป็นเรื่องให้พิจารณากันอยู่ตอนนี้
ฉะนั้น เราคงเห็นภาพรางๆ กันว่า วิทยา บูรณศิริ เป็นรัฐมนตรีสาธารณสุข โดยมีเงาเจ๊หน่อยอยู่ข้างหลัง
ที่บรรยายมานี้ไม่ใช่ว่าสายไทยรักไทยทั้งหมดอยู่ข้างเจ๊หน่อยนะครับ เพราะ น.พ.สุชัย “หมอแม่ยายทักษิณ” ก็เข้ามาปลด น.พ.วิชัย เทียนถาวร และตอนเริ่มต้น 30 บาท หมอเลี้ยบกับหมอหน่อยก็ใช่ว่าจะกินเส้นกัน แต่ตอนนี้ พรรคเพื่อไทยทำเหมือนจะยกกระทรวงสาธารณสุขให้หมอหน่อยทำอะไรก็ได้ตามใจปากไปซะแล้ว
ถลุงงบ 30 บาท
บอร์ด สปสช.มีทั้งหมด 31 คน มีรัฐมนตรีเป็นประธาน ส่วนหนึ่งเป็นบอร์ดตามตำแหน่ง ตามโควตาระบบราชการ เช่น ปลัดคลัง ปลัดกลาโหม ปลัดมหาดไทย ปลัดพาณิชย์ ปลัดสาธารณสุข ปลัดแรงงาน ปลัดกระทรวงศึกษา และ ผอ.งบประมาณ อีกส่วนเป็นผู้แทนองค์กรวิชาชีพ เช่น แพทยสภา สภาการพยาบาล ทันตแพทยสภา สภาเภสัชกรรม และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน อีกส่วนเป็นผู้แทนองค์กรท้องถิ่น อบต.อบจ.เทศบาล และ กทม.อีกส่วนเป็นผู้แทนองค์กรเอกชนที่เกี่ยวกับสุขภาพ 9 ด้าน เลือกกันเองเข้ามาเป็นกรรมการ 5 คน
กรรมการทั้ง 4 ส่วนจะร่วมกันเลือกบอร์ดผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คนข้างต้น ซึ่งที่ผ่านมาก็จะเป็นสายหมอประเวศเสียส่วนใหญ่ แต่ตอนนี้ เครือข่ายหมอประเวศเหลืออยู่แต่ NGO 5 คนเท่านั้น
เมื่อเสียงข้างมากในบอร์ดอยู่ในมือฝ่ายการเมือง ซึ่งเป็นพันธมิตรกับผู้บริหารกระทรวง แพทย์ รพ.ศูนย์ รพ.ชุมชน และ รพ.เอกชน อะไรจะเกิดขึ้น ก็ต้องดูเป้าประสงค์ของฝ่ายต่างๆ ที่สอดคล้องต้องกัน
แน่นอน ฝ่ายการเมืองไม่ต้องการล้ม 30 บาทหรอก เพียงแต่ต้องการเข้าไปมีอำนาจล้วงลูกใน สปสช.ซึ่งตำแหน่งเลขา สปสช.กำลังจะครบวาระในเร็วๆ นี้ ถ้าปล่อยให้ทายาทหมอสงวนสืบทอดกันต่อๆ ไป นักการเมืองก็ไม่สามารถแตะต้องงบประมาณ สปสช.ที่เป็นงบเกือบทั้งหมดของกระทรวงสาธารณสุข
ผู้บริหารกระทรวงก็ต้องการล้มระบบ สปสช. เพราะระบบปัจจุบัน ปลัดกระทรวง รองปลัด ผู้ตรวจ ฯลฯ ไม่มีความหมาย สปสช.คุมงบ 1 แสน 7 พันล้านบาท จ่ายรายหัวๆ ละ 2,755 บาท โดยส่วนใหญ่จ่ายตรงไปยังจังหวัด มีบางส่วนที่ สปสช.คุมเองเฉพาะโรคที่ค่าใช้จ่ายสูง หรือโครงการรณรงค์เป็นพิเศษ
แพทย์ รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป อาจไม่ได้ต้องการล้ม 30 บาท แต่ต้องการล้มหัวใจของ 30 บาท นั่นคือระบบจ่ายรายหัวโดยรวมเงินเดือนแพทย์พยาบาล สิ่งที่พวกแพทย์เรียกร้องคือ ให้รัฐจ่ายค่ารักษาฟรีไป แต่แยกเงินเดือนออกมา ซึ่งถ้าทำอย่างนั้น แพทย์พยาบาลก็จะมากองอยู่ในเมือง ส่วนในชนบทมีงบเหลือเฟือให้รักษาฟรี แต่ไม่มีหมอ
ในเบื้องต้น มีแนวโน้มว่า ทั้งแพทย์ รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป และผู้บริหารกระทรวง ต้องการให้โอนเงิน สปสช.ลงไปให้ผู้ตรวจราชการเขตต่างๆ เป็นคนถือเงิน จากระบบปัจจุบันที่ส่งลงจังหวัด แล้วแต่ละจังหวัดไปตกลงกันเองว่าจะแบ่งลง ร.พ.ชุมชนเท่าไหร่ กันเงินส่วนกลางไว้เท่าไหร่
ส่วน รพ.เอกชน แน่นอนครับว่าไม่ต้องการล้ม 30 บาท แต่ต้องการให้ สปสช.ขยายเพดานค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้น แทนที่จะมาต่อรองให้ลดลง ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเป้าประสงค์ของบริษัทยา ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับ สปสช.เนื่องจาก สปสช.ตั้งแต่ยุคหมอสงวนมาจนปัจจุบัน ทำแสบกับบริษัทยาไว้เยอะ ไม่ว่าจะเป็นการทำ CL ยาข้ามชาติ หรือการต่อรองราคายาและอุปกรณ์ต่างๆ
อาทิ Erythropoietin ยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดงสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ขวดหนึ่งขายทั่วไป 670 บาท สปสช.ซื้อได้ 270 บาท ในปี 2553 ถัดมาปี 2554 ลดได้อีกเป็น 228.50 บาท ประหยัดเงินแต่ละปี 300 กว่าล้าน
สายสวนหัวใจหรือสเตนท์ สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด เมื่อก่อนบริษัทยาดีดราคา 70,000-80,000 บาท แต่ สปสช.ต่อรองราคาได้ 30,000 บาท สำหรับที่ผลิตจากอเมริกา แต่ถ้าเป็นของจีน ต่อรองราคาได้หมื่นกว่าบาท กรณีนี้เคยมีเรื่องอื้อฉาว เพราะ รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง ผ่าตัดใส่ของจีนให้ผู้ป่วยแล้วมาเบิกราคาอเมริกา สปสช.ตรวจพบ ต้องเรียกเงินคืนกว่า 30 ล้านบาท
โครงการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์เทียมให้ผู้ป่วยต้อกระจก เป็นหนึ่งในโครงการที่ สปสช.ทำเอง เรียกว่า Vertical Program ซึ่งพวกแพทย์ รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป โวยวายว่า สปสช.กั๊กเงินเอาไว้ทำเองจน รพ.ขาดทุน แต่ความเป็นจริงคือ สปสช.ทำโครงการรักษา 88,000 ดวงตา ต่อรองให้ทำในราคา 7,000 บาท แล้วแต่ใครจะรับ รพ.รัฐอ้างว่าขาดทุน ทำไม่ได้ รพ.เอกชน น.พ.เอื้อชาติก็บอกว่าทำไม่ได้ แต่มี รพ.เล็กๆ คือ รพ.ศุภมิตร ที่อยุธยาและสุพรรณบุรี ทำได้ 19,000 ดวงตาในปี 2552 และปี 2554 รับทำ 24,000 ดวงตา โดยเปิดให้ผู้ป่วยทั่วประเทศไปรักษา
เลนส์เทียมเมื่อก่อนดีดราคา 4-50,000 บาท แต่ปัจจุบัน สปสช.ซื้อจำนวนมากต่อราคาเหลือ 2,800 บาท ถ้าเป็นเลนส์แข็ง จากราคา 4-6,000 บาทต่อราคาเหลือ 700 บาท
นี่คือตัวอย่างที่ สปสช.สามารถควบคุมกลไกราคายาและอุปกรณ์ ซึ่งส่งผลสะเทือนต่อบริษัทยาและ รพ.เอกชน ที่รู้กันอยู่ว่าฟันกำไรมหาศาลจากค่ายา
เพิ่มงบอย่าคิดว่าดี
อันที่จริง ประเด็นที่แพทย์ รพ.ศูนย์และ รพ.ทั่วไป โวยวายว่า รพ.ขาดทุน ก็มีด้านที่น่าเห็นใจ เพียงแต่แพทย์เหล่านี้โวยวายแล้วก็พยายามจะสรุปให้แยกเงินเดือนออกจากงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว ตามที่ตัวเองตั้งธงไว้
ปัญหาที่ รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป โวยว่าขาดทุน ต้องแยกให้ออกว่ามี 2 ช่วง ช่วงแรกคือช่วงเริ่มโครงการใหม่ๆ ในปี 2545 ซึ่งก็เป็นอย่างที่อธิบายคือ หลายๆ รพ.ยังมีบุคลากรล้นเกิน และระบบส่งต่อยังมีปัญหาเรื่องการเรียกเก็บเงิน แต่ต่อมาเมื่อระบบเริ่มเข้าที่เข้าทาง รพ.ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้โวยว่าขาดทุนอีก รพ.หลายแห่งมีเงินสะสมเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ ในช่วงที่ครบ 5 ปี แต่ไม่พูดกัน
ช่วงที่สอง ที่ รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป กลับมาโวยอีกครั้ง คือช่วงปี 2551 ตรงนี้ต้องยอมรับว่า สปสช.พลาด “เสียท่า” ให้กับ รพ.โรงเรียนแพทย์ และ รพ.ศูนย์ใหญ่ เนื่องจากมีการคิดระบบ DRG มาใช้ เพื่อกำหนดมาตรฐานค่ารักษา โดยใช้ RW เป็นตัวกำหนดค่าน้ำหนักโรค ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายก็สมมติเช่น โรครักษาง่าย 1 RW โรครักษายาก 10 RW ซึ่งปรากฏว่า โรครักษายากส่วนใหญ่ เช่น ผ่าตัดสมอง ผ่าตัดหัวใจ จะมีแต่ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่เท่านั้น
สปสช.คิดมาตรฐานราคาโดยเอาค่ารักษาที่แต่ละโรงพยาบาลเรียกเก็บ มาเฉลี่ยกัน เป็นมาตรฐานสำหรับปีต่อไป สมมติเช่น ผ่าตัดไส้ติ่ง ทั่วประเทศ บาง รพ.อาจเรียกเก็บ 8,000 บาง รพ.เรียกเก็บ 12,000 แต่คิดรวมหมด ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 9,000 เป็นต้น
ผ่าตัดไส้ติ่งไม่มีปัญหา เพราะรักษากันได้แทบทุก รพ.ทั่วประเทศ แต่ผ่าตัดสมองมีปัญหาสิครับ เพราะรักษาได้แค่ รพ.ใหญ่ๆ
พอใช้ระบบนี้ไปพักหนึ่ง รพ.ใหญ่ๆ รพ.มหาวิทยาลัย ก็เริ่มศรีธนญชัย เห็นช่องโหว่ ว่าถ้าต่างคนต่างเรียกเก็บราคาแพง ค่าเฉลี่ยก็ต้องแพงขึ้นๆ ฉะนั้น ก็เกิดรายการฮั้วกันโดยอัตโนมัติ ทำให้เงินจำนวนมากถูกดูดออกไปอยู่ที่ รพ.เหล่านี้ ซึ่งถ้าสังเกตให้ดี จะพบว่า พวก รพ.มหาวิทยาลัยที่เคยโวยเมื่อเริ่มต้น 30 บาทใหม่ๆ ตอนนี้ไม่โวยเลย อยู่สุขสบายดี (แต่ตอนนี้ สปสช.รู้ทันและกำลังแก้ลำอยู่)
คนเดือดร้อนก็คือแพทย์ รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป แต่พวกนี้ก็ยังฝังใจกับความไม่พอใจนโยบาย 30 บาท และกล่าวหาว่า สปสช.กั๊กเงินค้างท่อ หรือเอาไปทำโครงการเอง Vertical Program อย่างที่ว่า
อันที่จริงถ้าดูข่าวอนุกรรมาธิการวุฒิสภา ศึกษาปัญหาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเมื่อปี 53 ก็จะพบว่าในขณะที่หลายโรงพยาบาลโวยวายว่าขาดทุน บางโรงพยาบาลก็บอกว่ามีกำไร เช่นชลบุรี สระบุรี ซึ่งเป็นเรื่องของการบริหารจัดการ รู้จักควบคุมระบบ แต่คณะอนุกรรมาธิการก็สรุปแต่ว่า เป็นเพราะไม่แยกเงินเดือนออกจากค่าใช้จ่ายรายหัว
กระแสถล่ม สปสช.จึงเห็นชัดว่า หนึ่ง ต้องการให้แยกเงินเดือนออก สอง ถล่มผู้บริหาร เพื่อให้รับกับการที่จะต้องสรรหา เลขา สปสช.ใหม่ เช่น ร่อนเอกสารตรวจสอบของ สตง.ซึ่งเป็นการท้วงติงว่าไม่ทำตามระเบียบ แต่ไม่ได้บอกว่าทุจริต และฟังคำชี้แจงของเลขา สปสช.แล้ว หลายเรื่องก็เป็นเรื่องที่ สปสช.ถือว่าตัวเองมีอิสระ บางเรื่องเช่นการจัดซื้อจัดจ้าง การที่ สปสช.ไม่ทำตามระเบียบ กลับจัดซื้อได้ถูกลง
ขอ Note ไว้ด้วยนะครับว่า อย่าคิดว่า สตง.เป็นนางเอกเสมอไป เพราะตอนทุจริตจัดซื้อรถพยาบาล 232 คัน พอตั้งกรรมการมาปลดล็อกสเปก สตง.กลับหาว่ากรรมการชุดหลังทุจริตเสียได้
สาม ข้อสำคัญที่อาจลวงตาชาวบ้านได้ผล คือการเพิ่มเงินค่าใช้จ่ายรายหัว แล้วไปเพิ่มอัตราค่ารักษาให้โรงพยาบาล ทั้งรัฐและเอกชน โดยอ้างว่า รพ.ขาดทุน อ้างว่าเพิ่มคุณภาพ ซึ่งเรื่องพวกนี้หลอกคนภายนอกที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจได้ง่าย
อย่าลืมว่างบค่าใช้จ่ายรายหัวปีแรก จ่ายแค่ 1,202 บาทเท่านั้นนะครับ ปีที่แล้วจ่าย 2,895 บาท ปีนี้ถูกตัดงบเหลือ 2,755 บาท แต่ก็ยังมากกว่าปีแรก 2 เท่ากว่า ถามว่าปีแรกๆ ยังอยู่กันได้ ทำไมตอนนี้อยู่ไม่ได้ ถ้ารู้จักประหยัด ตัดทอน ต่อราคายา อุปกรณ์ อยู่ได้แน่ แต่ถ้าซื้อยากันตามใจบริษัท เพิ่มงบเป็นหัวละ 5,000 ก็เจ๊งครับ
พูดอย่างนี้คนทั่วไปก็ไม่เข้าใจอีก เหมือนยกตัวอย่างสเตนท์ สายสวนหัวใจ หมอ ร.พ.มหาวิทยาลัยหยามของจีน ไม่ยอมใช้ สปสช.ต้องอนุโลมยอมให้ใช้ของอเมริกา แต่ถามว่าที่เปลี่ยนๆ ของจีนกันไป ใช้ได้ไหม
ราคายาก็เหมือนกัน พาราเซตามอล คุณจะซื้อขององค์การเภสัช ขวดละไม่กี่บาท หรือซื้อในห้าง ขวดละหลายสิบบาท หรือซื้อใน รพ.เอกชน ขวดละเป็นร้อย มันก็คือพาราเซตามอล และยาบางอย่าง เช่นยาปฏิชีวนะ ใช้ยาแรง ใช้ยาแพง ก็ใช่ว่าจะดี เพราะยิ่งทำให้เชื้อดื้อยาง่าย
แต่หมอทั่วไป หมอเอกชน หมอ ร.พ.มหาวิทยาลัย ที่มีดีเทลยาสาวๆ เข้าหาบ่อยๆ มักจะสร้างความเชื่อฝังใจให้คนไข้ว่ายาดีต้องแพงกว่า ยายิ่งหายากยิ่งวิเศษ ซึ่งมันอาจจะเป็นยาบางตัว แต่ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป
ตัวอย่างที่อันตรายคือ เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานประกันสังคมประกาศว่า สปส.จะจ่ายค่าบริการทางแพทย์ให้หน่วยบริการ 1 RW = 15,000 บาท มากกว่าข้าราชการและบัตรทอง ที่จ่าย 1 RW=12,000 บาทและ 9,000 บาท
โห เกทับบลัฟฟ์แหลก รัฐมนตรีแรงงานออกมาลอยหน้าลอยตา คิดว่าเป็นผลงานชิ้นโบว์แดง เอาใจผู้ประกันตนทั่วประเทศ
ที่ไหนได้ เสียค่าโง่ครับ เพราะอย่างที่อธิบายข้างต้นแล้วว่า 1 RW คืออัตราค่ารักษาต่อค่าน้ำหนักโรค สมมติง่ายๆ 1 RW เท่ากับการผ่าตัดไส้ติ่ง มันแปลว่าคุณผ่าตัดไส้ติ่งเหมือนกัน แต่ถ้าคุณเป็นข้าราชการ กรมบัญชีกลางจ่ายให้โรงพยาบาล 12,000 ถ้าใช้บัตรทอง สปสช.จ่ายให้ 9,000 ถ้าถือบัตรประกันสังคม สปส.จ่ายให้โรงพยาบาล 15,000
นี่หลายคนยังไม่เข้าใจ คิดว่าดีสิ ประกันสังคมควรจะมีสิทธิดีกว่าบัตรทอง เปล่า ไม่ใช่เลย เงินนี้ไม่ได้จ่ายให้เรา เขาจ่ายให้โรงพยาบาล จ่ายต่างกันทั้งที่ผ่าไส้ติ่งเหมือนกัน โอเค คุณอาจจะได้หมอมีชื่อเสียงกว่า พยาบาลสวยกว่า บริการดีกว่า แต่ในภาพรวมแล้วคือโรงพยาบาลได้ ไม่ใช่เราได้ นี่ไม่รวมค่าห้องค่าใช้จ่ายอื่นๆ หมอพงศธร พอกเพิ่มดี ที่ออกมาโวยเรื่องนี้ถึงบอกว่าประกันสังคมควรไปเพิ่มค่าห้องพิเศษให้ยังดีเสียกว่า
ถามว่าขึ้นค่า RW อย่างนี้ใครได้ ก็ รพ.เอกชนที่รับประกันสังคมอยู่ลูบปาก แล้วใครเสีย ก็คนถือบัตรทอง ที่จะกลายเป็นพลเมืองชั้นสามทันที คิวไม่มีเอาไว้ทีหลัง ส่วนผู้ประกันตนก็เสียเงินกองทุนประกันสังคม แทนที่จะเอาไปใช้อย่างอื่นให้คุ้มค่ากว่า
นี่คือตัวอย่างที่แพทย์ชนบทเรียกร้องว่า รัฐบาลควรจะรวมระบบหลักประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบเข้าด้วยกันแล้วให้ สปสช.ดูแลแต่ผู้เดียว ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ทำให้ผู้ประกันตนต้องมีสิทธิเท่าบัตรทองทั้งที่เสียเงินประกันตนนะครับ เพราะข้อเสนอคือ รัฐจ่ายให้หมดเท่าเทียมกัน เงินประกันสังคมให้เอาไปใช้ด้านอื่น เช่น ประกันการว่างงาน ยังดีกว่า
ทุกวันนี้ ประกันสังคมกับบัตรทอง ที่จริงก็ได้สิทธิแทบจะไม่ต่างกันอยู่แล้ว ถ้าทำอย่างนี้ข้อดีคือ สปสช.จะคุมอำนาจต่อรองทั้งหมด ทำให้ค่ารักษา ค่ายา ถูกลงเท่าเทียม
ประเด็นนี้ดูเหมือนนายกรัฐมนตรีเข้าประชุมบอร์ด สปสช.ครั้งล่าสุด ก็กำชับให้เป็นนโยบาย ซึ่งถือเป็นเรื่องดี นี่จะเป็นการปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพครั้งใหญ่ครั้งที่สอง
แต่ปัญหาคือ ถ้ากลุ่มแพทย์ที่เรียกร้องให้แยกเงินเดือน กับเครือข่ายธุรกิจเอกชน และกลุ่มการเมืองผลประโยชน์ เข้าไปยึด สปสช.ได้ มันก็สวนทางนโยบาย และจะทำให้ทุกอย่างจบเห่ งบประมาณหลักประกันสุขภาพจะบานปลาย จนกลายเป็นภาระหนักของประเทศ ซึ่งถึงตอนนั้นถ้าไม่ล้มก็เหมือนล้มละครับ แล้วก็จะเป็นจริงอย่างที่แพทย์ชนบทบอกว่าเขียนด้วยมือ ลบด้วยเท้า
ผมไม่ได้บอกว่าต้องอัญเชิญลัทธิประเวศกลับมาครองอำนาจตลอดไป แต่อย่างน้อยก็ต้องมีการถ่วงดุล และมีการจัดสัดส่วนให้เหมาะสม อย่างน้อย นักการเมืองพรรคเพื่อไทยหรืออดีตพรรคไทยรักไทย ที่เข้าใจปัญหาก็มีอยู่หลายคน ทำไมไม่ให้พวกเขาเข้ามาดูแล
แต่ถ้าตัดโควต้าแบ่งสมบัติให้เจ๊ไปแล้ว ก็เอวังด้วยประการทั้งปวง
ข้อมูลจาก 'ใบตองแห้ง' ออนไลน์: เพื่อไทยจะถลุง 30 บาท Thu, 2012-01-19 17:31
ใบตองแห้ง 19 ม.ค.55