สิทธิการรักษาขั้นพื้นฐานของสังคมไทยถือว่ามีการพัฒนาทางระบบสาธารณ สุขอย่างดีมากขึ้น จากการพัฒนาระบบปัญหาสุขภาพโดยรัฐซึ่งแบ่งเป็น 3 ระบบ 1.ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง ดูแลโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ครอบคลุมประชากร 47 ล้านคน 2.ระบบประกันสังคม ดูแลโดยสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ครอบคลุมประชากร 10.5 ล้านคน และ 3.ระบบสวัสดิการข้าราชการ ครอบคลุมข้าราชการประมาณ 5 ล้านคน
หมอชุมชนหวั่นระบบสุขภาพไทยล่ม
เมื่อย้อนกลับไปในช่วงของการจัดตั้งระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ ในช่วงปี 2545 ถือว่าเป็นแนวนโยบายด้านสาธารณสุขที่ประชาชนส่วนใหญ่กว่า 42 ล้านคนพึงพอใจอย่างมากกับโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย มาสู่ยุค “รักษาฟรี” ของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ และกลับมาสู่การรักษา 30 บาทพร้อมเพิ่มคุณภาพให้มากขึ้นในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ตามมาอย่างมากมายก็คือ ปัญหาภาระหนี้สะสมจากนโยบายด้านสุขภาพที่สะสมมากว่า 10 ปีนี้กำลังจะส่งผลอย่างหนัก ที่ส่งผลให้ขณะนี้ตัวเลขกลมๆ ของโรงพยาบาลทั่วประเทศประสบภาวะขาดทุนอยู่ที่ 1 ใน 3 เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยรักษาฟรี นั้นต้องยอมรับว่านำไปสู่ภาวะขาดทุนและส่งผลกระทบต่อการรักษาพยาบาลในระบบ สุขภาพทั้งหมด
แม้ว่าโรงพยาบาลจะได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐ ร่วมถึงได้รับเงินเหมาจ่ายรายหัวในผู้ป่วยประกันสังคมราวๆ 2,100 บาท ซึ่งคาดว่าจะมีการปรับขึ้นอยู่ที่ ประมาณ 2,500 บาทต่อคน แต่ 2 กลุ่มทั้งข้าราชการและระบบประกันสุขภาพแห่งชาติก็ยังคงเป็นงบประมาณจำนวนมาก ที่โรงพยาบาลแต่ละแห่งต้องแก้ไข โดยวิธีการหนึ่งก็คือ การใช้วิธีการและยาที่มีราคาแพงหรือสามารถเบิกงบประมาณจำนวนสูงเพื่อมาชดเชย กับเม็ดเงินที่ต้องแบกรับจากระบบรักษาฟรี วิธีการดังกล่าวจึงช่วยให้โรงพยาบาลหลายแห่งไม่ขาดทุนหรือขาดทุนไม่มากนัก แต่เมื่อกลับมามองในโครงสร้างงบประมาณก็จะพบว่างบประมาณรายจ่ายด้านสุขภาพ ของบุคลากรข้าราชการเพิ่มสูงขึ้น และกระทรวงการคลังก็เลือกที่จะตัดงบประมาณในส่วนของข้าราชการออก ด้วยเหตุนี้สิทธิในการรักษาพยาบาลของข้าราชการจึงลดลงลงเรื่อยๆ
“ระบบรักษาฟรีมีจำนวนผู้ใช้สิทธิมากที่สุด โรงพยาบาลก็แก้ไขด้วยการใช้งบของข้าราชการมาชดเชย สุดท้ายรัฐบาลก็จะตัดงบการรักษาพยาบาลของข้าราชการเพิ่มขึ้น แต่เม็ดเงินด้านสุขภาพกลับมีเพียงกลุ่มผู้ใช้ระบบประกันสังคมเป็นผู้จ่าย เท่านั้น” แหล่งข่าวนายแพทย์ระดับสูงกล่าว
ประเด็นต่อเนื่องที่เกิดตามมาคือ จำนวนบุคลากรที่ขาดแคลน ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล และบุคลกรอื่นๆ ภายในสถานพยาบาล เนื่องจากงบประมาณที่ติดลบทำให้ไม่สามารถเพิ่มอัตรากำลังได้มากนัก รวมถึงปัญหาด้านความเท่าเทียมในการรักษาที่กลุ่มข้าราชการซึ่งกำลังถูกตัด สิทธิในการรักษาพยาบาล อาทิ การยกเลิกยาบางชนิด การลดสิทธิในการรักษาของบุตรโดยจำกัดอยู่ที่ 3คน ซึ่งถือว่าเป็นสวัสดิการสำคัญในการดึงดูดบุคลากรเข้าสู่ภาคราชการแทนภาค เอกชน รวมไปถึงระบบประสังคมที่ผู้ใช้แรงงานต้องจ่ายเงินสมทบกลับได้รับสิทธิในการ รักษาพยาบาลที่ไม่เท่าเทียมกับระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ แม้ว่าขณะนี้จะอยู่ระหว่างการปรับปรุงสิทธิการรักษาก็ตาม
“ทางออกที่มองไว้ก็คือ การรวมระบบประกันสุขภาพเป็นระบบเดียวคือ มีพื้นฐานด้านสุขภาพเท่าเทียมกันและฟรีทุกกลุ่ม และมีรายละเอียดแยกกันในแต่ละกลุ่มหรือข้าราชการก็ควรได้สิทธิเพิ่มเติม ผู้ใช้ประกันสังคมก็ควรมีทางเลือกมากขึ้น ขณะที่ผู้ที่รักษาฟรีเดิมก็เชื่อว่าพร้อมจะจ่ายเงินเพิ่มหากระบบการรักษา พยาบาลมีคุณภาพดีขึ้น”
|
|
ขณะที่ผู้ใช้ระบบประกันสังคมอาจจะเพิ่มเงื่อนไขทั้งการจ่ายเงินเพิ่ม เพื่อเลือกรูปแบบการรักษา-การใช้ยาเพิ่มเติมเช่นกัน หรืออาจแก้กฎหมายเพื่อให้สามารถใช้ระบบประกันสุขภาพของรัฐ หรือ เลือกที่จะจ่ายเบี้ยประกันและรักษาสุขภาพผ่านภาคเอกชนแทน รวมไปถึงแนวคิดการจัดตั้ง “โรงพยาบาลประกันสังคม” เพื่อรองรับกลุ่มผู้ใช้ระบบประกันสังคมโดยเฉพาะ โดยหลักการถือว่าค่อนข้างดี แต่โอกาสที่จะเกิดขึ้นจริงนั้นค่อนข้างยาก เนื่องจากงบประมาณในการจัดตั้งโรงพยาบาลให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ หรือเพียงพอต่อผู้อยู่ในระบบก็ใช้งบประมาณจำนวนมาก ขณะที่บุคลากรด้านการแพทย์ก็ยังคงขาดแคลนอยู่ซึ่งยังมีความเป็นไปได้ที่ค่อน ข้างยากสำหรับแนวทางดังกล่าว
ขณะเดียวกันทางฟากฝ่ายของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือที่รู้จักกันในแบรนด์ “30 บาทรักษาทุกโรค” ก็กำลังร้อนแรงด้วยกระแสต่อต้านการแต่งตั้งคณะกรรมการบอร์ดที่ไม่โปร่งใส จนถือกำเนิดกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ที่มาจากเครือข่ายแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ รวมถึงชมรมแพทย์ชนบทที่ออกมาแฉขบวนการล้มหลักประกัน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะกลุ่มต่างๆ ที่ไม่พอใจหลักการของระบบหลักประกันที่ช่วยเหลือคนจนให้เข้าถึงบริการทางการ แพทย์ในราคาถูก
หมอชนบทจี้นายกฯ ดูแลระบบประกันสุขภาพ
นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท เผยว่า วันที่ 20 มกราคมนี้ ชมรมแพทย์ชนบทจะเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เพื่อคัดค้านความพยายามที่จะล้มระบบประกันสุขภาพ ผ่านการแทรกแซงของกลุ่มการเมือง เครือข่ายโรงพยาบาลเอกชน และบริษัทยาข้ามชาติ โดยต้องการให้ทุกคนให้คำมั่นสัญญาว่าจะทำให้หลักประกันสุขภาพปลอดจากการ เมืองและผู้แสวงหาผลกำไร นอกจากนั้นยังเรียกร้องให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้ามาดูแลเรื่องนี้ด้วยตนเอง
“หากยังปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป ก็เท่ากับว่ารัฐบาลไม่มีความจริงใจต่อการทำหลักประกันสุขภาพ หรือนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค คงเป็นเพียงการหวังกอบโกยทางการเมือง เพื่อหาฐานเสียงจากคนไทย 47 ล้านในระบบหลักประกันสุขภาพ”
ถึงเวลาที่รัฐต้องปฏิรูประบบสุขภาพ 100%
อย่างไรก็ดี เป็นเวลาล่วงเลยมานานกว่า 1 ปี นับตั้งแต่ นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ชี้จุดอ่อนของสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมซึ่งด้อยกว่า บัตรทองจากการวิจัยโครงการ “การจัดทำข้อเสนอทางเลือกและรูปแบบบริหารจัดการสวัสดิการด้านรักษาพยาบาลของ ระบบประกันสังคมในอนาคต” ซึ่งทำให้เกิดกระแสสังคมเรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลในประเด็นที่ยังด้อยกว่าให้เท่าเทียม กับบัตรทอง จึงเริ่มมีการปรับเปลี่ยนในชุดสิทธิประโยชน์ของ สปส. ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลจนถึงเดือนสิงหาคม 2554 ของ นพ.พงศธร พบว่า การเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางการแพทย์มีผลบังคับใช้ 5 กรณี ประกอบด้วย
1.เพิ่มค่ารักษามะเร็ง 7 ชนิด มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 20 กรกฎาคม 2554
2.เพิ่มสิทธิประโยชน์ทันตกรรมผ่าฟันคุดครั้งละ 300 บาท โดยให้รวมกับถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน รวมแล้วไม่เกิน 2 ครั้ง หรือ 600 บาทต่อปี และใส่ฟันเทียมตามอัตราที่กำหนด มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 31 สิงหาคม 2554
3.ยกเลิกจำกัดการเจ็บป่วยฉุกเฉินไม่เกิน 2 ครั้งต่อปี เป็นไม่จำกัดจำนวนครั้ง มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 31 สิงหาคม 2554
4.สิทธิประโยชน์ไตขยายครอบคลุมผู้ป่วยไตวายก่อนเข้าเป็นผู้ประกันตน
5.ปรับรูปแบบการจ่ายค่ารักษาในกลุ่มโรคร้ายแรง โดยจะมีการคำนวณตามระดับความรุนแรงของโรค ซึ่งมีระดับตั้งแต่ 2-40 โดยเริ่มต้นระดับละ 15,000 บาท และสูงสุด 600,000 บาทต่อราย ทั้งนี้ วงเงินค่ารักษาจะจ่ายเพิ่มขึ้นตามน้ำหนักความรุนแรงของโรคตามลำดับ จะมีผลบังคับใช้ 1 มกราคม 2555 เป็นต้นไป
ขณะที่สิทธิประโยชน์ที่ผ่านมติคณะกรรมการประกันสังคม แต่ยังไม่เป็นประกาศของคณะกรรมการการแพทย์ จึงยังไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง มี 3 กรณี คือ
1. การรักษาโรคเรื้อรังจากไม่เกิน 180 วัน เป็นดูแลต่อเนื่องภายใน 1 ปี (สปส.ให้ข่าวว่าจะมีผลบังคับใช้ได้วันที่ 1 ม.ค.2555)
2. จัดวิธีสนับสนุนงบประมาณเพื่อให้ผู้ประกันตนเข้าถึงยาจำเป็นที่มีราคาแพง (สปส.ให้ข่าวว่าจะมีผลบังคับใช้ได้วันที่ 1 ม.ค.2555)
3.ความครอบคลุมยาต้านไวรัสเอชไอวี
อย่างไรก็ดี เขายังยืนยันว่า แม้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดในรอบ 20 ปีของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) แต่สิทธิประโยชน์ก็ยังไม่ถึงสิ่งที่ผู้ประกันตนควรจะได้รับ โดยเฉพาะประเด็นสำคัญที่ยังไม่มีรัฐบาลชุดไหนให้ความสนใจ คือผู้ประกันตนยังคงเป็นกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายเบี้ยประกันอยู่
นพ.พงศธร ชี้ทางออกด้านสุขภาพสำหรับสังคมไทยว่า ถึงเวลาที่สังคมไทยจะต้องมีระบบสุขภาพที่เป็นมาตรฐานเดียว คือคนไทยต้องได้รับสิทธิประโยชน์ที่เหมือนกัน รัฐบาลต้องลงมาจัดการให้คนไทยทุกคนได้รับการเข้าถึงบริการที่เท่าเทียมกัน ประเทศจำเป็นต้องมีระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ มิฉะนั้นจะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงโดยไม่จำเป็น และต้องมีการวางระบบเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง
ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของการจัดการสุขภาพขั้นพื้นฐาน ของคนไทยนพ.พงศธร เสนอว่าทุกระบบควรยุบรวมเข้าด้วยกัน แม้กระทั่งสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ ซึ่งเป็นจุดแข็งของระบบราชการที่ชดเชยจุดอ่อนเรื่องอัตราเงินเดือนที่น้อย กว่าเอกชน แต่การแก้ปัญหาที่ถูกจุดควรพุ่งเป้าไปที่การเพิ่มเงินเดือนข้าราชการมากกว่า