สื่อจิงโจ้เผยความเห็นแพทย์มีแตกต่างในวิธีตัดกระเพาะอาหารให้เล็กลง เพื่อลดน้ำหนัก ชี้แม้ทำให้น้ำหนักลงอย่างเห็นผลรวดเร็ว แต่สุดอันตรายอาจทำคนไข้ถึงตายได้
การผ่าตัดกระเพาะอาหารให้เล็กลง ซึ่งรวมถึงการตัดส่วนของกระเพาะออกไปถึง 80 เปอร์เซ็นต์แม้จะถูกระบุว่าเป็นวิธีที่ทำให้น้ำหนักตัวลดลงได้อย่างมาก แต่ในวงการแพทย์มีความเห็นแตกต่างกันในการที่จะนำวิธีนี้มาใช้กับคนไข้หรือ ไม่ โดยที่แพทย์บางรายเห็นว่าวิธีตัดกระเพาะให้เล็กลงนั้นเป็นวิธีการที่รุนแรง และอันตรายอย่างยิ่งต่อคนไข้ ซึ่งแพทย์บางคนปฏิเสธที่จะทำการผ่าตัดนี้ให้แก่คนไข้
เว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ดิ ออสเตรเลียน เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน รายงานความเห็นของแพทย์ถึงการลดน้ำหนักด้วยวิธีการตัดกระเพาะอาหารทิ้งว่า แพทย์บางรายเห็นว่าวิธีการนี้มีความเสี่ยงมากเกินไปจนทำให้พวกเขาปฏิเสธที่ จะใช้วิธีการนี้กับคนไข้เนื่องจากวิธีการนี้ที่เรียกว่า สลีฟ แกสเทรคโทมี หรือสลิฟวิง ซึ่งก็คือการผ่าตัดเอาส่วนของกระเพาะหรือทั้งหมดออกนั้น อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงต่อคนไข้ได้ และวิธีการนี้ยังเป็นอันตรายแก่คนไข้มากกว่าการผ่าตัดแบบใช้สายรัดลดขนาด กระเพาะอาหาร ที่เรียกว่า แล็พ-แบนดิง ถึง 10 เท่าด้วย
ขณะที่แพทย์บางรายบอกว่าการตัดกระเพาะอาหารทิ้งสามารถทำให้คนไข้ลด น้ำหนักตัวได้มากถึง30-40 กิโลกรัมภายในเวลา 1 ปี และคนไข้ยังสามารถรับประทานอาหารจำพวกแป้งอย่างขนมและพาสต้าได้
รายงานระบุว่า ทันทีที่มีการตัดกระเพาะส่วนหนึ่งทิ้ง ส่วนที่เหลือของกระเพาะอาหารที่ถูกเย็บจะกลายรูปทรงเป็นลักษณะคล้ายกับผล กล้วยและมีความสามารถในการรับอาหารได้ลดลง จากประมาณ 2 ลิตร เหลือเพียงราว 100 มิลลิลิตรและจะมีความดันในกระเพาะอาหารเพิ่มมากขึ้นหลังจากรับประทานอาหารใน ปริมาณน้อยๆ เข้าไปซึ่งจะทำให้รู้สึกอิ่มเร็วมากขึ้น
ดร.ไมเคิล ทาลบ็อต ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านลำไส้ โรงพยาบาลเซนต์ จอร์จ ของออสเตรเลียกล่าวเตือนว่า อาการแทรกซ้อนที่ร้ายแรงที่สุดของการผ่าตัดกระเพาะทิ้งคือจะทำให้น้ำย่อยใน กระเพาะอาหารรั่วออกมาจากรอยเย็บ ซึ่งจะทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงที่อาจทำให้คนไข้ต้องไปนอนรักษาตัวในโรง พยาบาลนานเป็นเดือน หรือทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้ การผ่าตัดแบบสลิฟวิงนั้นควรจะทำให้เฉพาะคนไข้โรคอ้วนที่มีความจำเป็นที่จะ ต้องลดน้ำหนักภายในเวลาอันรวดเร็วเท่านั้น
“ระดับความเสี่ยงมีตั้งแต่จาก 0.5-3 เปอร์เซ็นต์ขึ้นอยู่กับจุดสำคัญของการผ่าตัดว่าอยู่ที่ใดและประสบการณ์ของ แพทย์” ดร.ทาลบ็อตกล่าว และว่าโดยเฉลี่ยคนไข้ที่ใช้วิธีนี้สามารถลดน้ำหนักตัวได้มากถึง 60 เปอร์เซ็นต์ หรือราว 30-40 กิโลกรัมภายในเวลา 12 เดือน
ด้าน ดร.อาลี ซาร์รุก แพทย์ผู้ทำการผ่าตัดกระเพาะคนไข้รายแรกของโรงพยาบาลแคมป์เบลล์ทาวน์ กล่าวว่า คนไข้ที่ใช้วิธีสลิฟวิ่งสามารถลดน้ำหนักตัวได้ในทันที และไม่ต้องหลีกเลี่ยงการรับประทานพาสต้า ขนมปังหรือเนื้อ
ชารอน แฟร์เบร์น คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีน้ำหนักตัว 105 กิโลกรัม ซึ่งเข้ารับการผ่าตัดกระเพาะให้เล็กลงเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้วกล่าวว่า “ฉันน่าจะผ่าไปตั้งแต่ 10 ปีก่อนแล้ว” และจากที่มีประกันสุขภาพคุ้มครองอยู่ ทำให้แฟร์เบร์นเสียค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะเองจริงๆ เพียง 3,000-7,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 93,000-217,000 บาท)
อย่างไรก็ตาม เวนดี บราวน์ ศัลยแพทย์แห่งศูนย์วิจัยและการศึกษาโรคอ้วน ปฏิเสธที่จะทำการผ่าตัดกระเพาะเพื่อลดน้ำหนักให้แก่คนไข้ โดยให้เหตุผลว่ามีความเสี่ยงมากเกินไป การผ่าตัดรัดกระเพาะหรือบายพาสกระเพาะ ยังสามารถแก้ไขได้หากแพทย์ทำผิดพลาด แต่การทำสลิฟวิงหรือการตัดส่วนของกระเพาะอาหารของคนไข้ทิ้ง เราไม่สามารถหากระเพาะอาหารใหม่ให้แก่คนไข้ได้(ดิ ออสเตรเลียน)
มติชน วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 หน้า 22