นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ดสปสช.) สัดส่วนภาคประชาชน เปิดเผยว่า มีอำนาจทางการเมืองเข้ามาล็อบบี้การคัดเลือกบอร์ดสปสช.สัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ เมื่อวันที่ 12 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยพบพฤติกรรมการโทรศัพท์สั่งการให้เลือกตัวบุคคล และทำโพยให้บอร์ดจำนวน 12 คน เลือกตาม
ทั้งนี้ จะยื่นเรื่องให้นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข นำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อยับยั้งการรับรองตำแหน่งดังกล่าว พร้อมจัดการคัดเลือกใหม่ แต่หากครม.ไม่ดำเนินการ จะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองต่อไป
นายนิมิตร์ กล่าวว่า บุคคลที่ผ่านการคัดเลือกดำรงตำแหน่งบอร์ดสปสช.สัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 7 คน เป็นผู้เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลเอกชนถึง 4 คน ขณะที่ผู้ที่มีคุณวุฒิมากกว่ากลับไม่ได้รับเลือก ซึ่งจะส่งผลต่อการจัดทำนโยบายที่เอื้อต่อโรงพยาบาลเอกชนอย่างแน่นอน
นายนิมิตร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาพบบอร์ดสปสช.ที่มาจากโรงพยาบาลเอกชนมุ่งรักษาประโยชน์ให้กับโรง พยาบาลเอกชน เช่น เมื่อสปสช.ต้องการลดค่าล้างไตให้สมเหตุสมผล จาก 2,000 บาทเหลือ 1,500 บาท บอร์ดรายนั้นได้ทำหนังสือเวียนถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศว่า ไม่ให้เซ็นรับสัญญาดังกล่าว เพราะจะทำให้โรงพยาบาลเสียราคาค่ารักษา
"เห็นได้ชัดว่าผลการโหวตรายชื่อที่ได้รับการล็อบบี้ส่วนใหญ่จะเท่ากันคือจะ12 ต่อ 9 เสียง" นายนิมิตร์ กล่าว
นายวิทยา กล่าวว่า จะจัดการคัดเลือกใหม่เพียง 1 ตำแหน่งคือ นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่ดำรงตำแหน่งทับซ้อน ส่วนกรณีที่ระบุว่ามีฝ่ายการเมืองแทรกแซงการเลือกบอร์ดสปสช.ขอให้พูดให้ชัด อย่างไรก็ตามขณะนี้ได้ผลการคัดเลือกแล้ว คงจะดำเนินตามกระบวนการต่อไป
พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล รองประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.) กล่าวว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยการคัดเลือกตัวบุคคลยังมีปัญหา เพราะไม่สามารถหาบุคคลที่เป็นผู้แทนจากภาคต่างๆ ได้อย่างแท้จริง จึงขอเสนอให้มีการแก้ไข