"ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนนั้น เป็นจุดให้เกิดการริเริ่มก่อตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนขึ้น หลักธรรมชาติก็จะให้เราพึ่งตัวเราเองมากที่สุดไม่ต้องรอให้คนอื่นมาช่วย จึงได้เริ่มต้นกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ แต่การออมทรัพย์ฐานชุมชน หรือสวัสดิการชุมชนนั้น จะช่วยเหลือได้ครอบคลุม ระบบของชุมชนจะไม่เน้นเงินแต่เน้นความสัมพันธ์ เน้นความร่วมมือเกื้อกูลกัน หากเราส่งเสริมการสร้างภูมิปัญญา การฟื้นฟูฐานพลังทางสังคมให้กับชุมชน" พระสุบินบอกก่อนที่จะตั้งข้อสังเกตถึงการตั้งกองทุนออมแห่งชาติของรัฐบาลก็ไม่ควรเน้นเพียงแค่เม็ดเงิน แต่ควรจะมองถึงความเป็นคน และสังคม ชุมชนด้วยเช่นกัน
"คนเมื่อยามแก่ชราเขาไม่ได้ต้องการเงินมากมายแต่ต้องการกำลังใจ ต้องการสังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน การบูรณาการก็จำเป็นต้องเชื่อมทั้งเงิน ทั้งคนและทั้งทุนทางสังคมด้วย"
ข้อถกเถียง บนเวที นโยบายสาธารณะ "ระบบบำนาญแห่งชาติ ถ้วนหน้า เพื่อประชาชนอย่างยั่งยืน" ซึ่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ จึงอยู่ที่เราจะสร้างระบบบำนาญอย่างไรให้ยั่งยืนและดูแลสวัสดิการได้ภายใต้ฐานชุมชน ที่ปัจจุบัน มีกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ที่ตั้งขึ้นมาดูแลซึ่งกันและกันอยู่
ยิ่งหากลองมาดูการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ที่กำลังก้าวเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ โจทย์ในเรื่องการสร้างสวัสดิการ หลักประกัน ยามแก่ชรา ยิ่งต้องเร่งดำเนินการ ซึ่ง พญ. ลัดดา ดำริการเลิศ ผู้จัดการวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุ ได้บอกถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ว่า เนื่องมาจากการลดลงของอัตราตายและอัตราเกิดอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สัดส่วนประชากรสูงอายุไทยเพิ่มจากร้อยละ 7.4 ในปี 2533 เป็นร้อยละ 11.1 ในปี 2551 และจะเริ่มรุนแรงขึ้นตั้งแต่ปี 2566 จะมีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้สังคมไทยมีเวลาน้อย ที่จะเตรียมพร้อมสำหรับผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น
"ผู้สูงอายุต้องการหลักประกันที่สำคัญ 2 ด้าน คือ หลักประกันด้านสุขภาพ และหลักประกันด้านรายได้ ซึ่งหลักประกันด้านรายได้ต้องสร้างขึ้นตั้งแต่วัยแรงงานผ่านการออมในระหว่างการทำงานที่มีรายได้ เพื่อใช้ในยามชรา" พญ.ลัดดากล่าว
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา ผู้สูงอายุภาคประชาชนได้เสนอการสร้างหลักประกันทางรายได้ และรัฐบาลเอง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลังเองก็คำนึงถึงปัญหาดังกล่าว โดยการผลักดัน ให้มีการจัดตั้งกองทุนออมแห่งชาติ (กอช.) โดย นายสาธิต รังคสิริ รองปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า แม้ที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีการส่งเสริมเรื่องเบี้ยยังชีพ เดิมได้เฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อย ครอบคลุมผู้สูงอายุวัย 60 ปีทุกคน 500 บาท/เดือน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี สามารถขยายไปได้ในอนาคตตามภาวะเงินเฟ้อ มีผู้ได้รับเบี้ยยังชีพ 5.9 ล้านคน ปี 2553 เพิ่มเป็น 6.8 ล้านคน
ส่วนอีกมาตรการหนึ่ง คือ กองทุนการออมแห่งชาติ จะครอบคลุมแรงงานนอกระบบทั้งหมดด้วย โดยกำหนดการออมเป็นบัญชีส่วนบุคคลนับแต่วัยแรงงานจนถึงอายุ 60 ปี ขั้นต่ำ 100 บาทต่อเดือน รัฐสมทบเป็นขั้นบันได คือ กลุ่มอายุ 20-30 สมทบ 50 บาทต่อเดือน กลุ่มอายุ 31-50 สมทบ 80 บาทต่อเดือน กลุ่มอายุ 51-60 สมทบ 100 บาทต่อเดือน การออมจะไม่บังคับแต่เน้นในเรื่องของสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับจากรัฐหากเข้ามาอยู่ในระบบ ขณะนี้ กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ และคาดว่าจะสามารถออกเป็น พ.ร.บ. ให้แล้วเสร็จเป็นของขวัญปีใหม่สำหรับคนไทยทุกคน
"กองทุน กอช.นี้ จะทำให้ผู้สูงอายุมีหลักประกันรายได้เงินบำนาญที่เพิ่มขึ้น อาทิเช่น ผู้ที่ออมในระดับพื้นฐาน 100 บาทต่อเดือน ตั้งแต่อายุ 20 ปี และออมจนครบอายุ 60 ปี จะได้รับบำนาญตลอดชีพเดือนละ 1,710 บาท รวมเบี้ยยังชีพ เป็นเงินทั้งสิ้น 2,210 บาทต่อเดือน ซึ่งจะสามารถบังคับใช้ได้ในอีกไม่นานนี้" นายสาธิตกล่าว
กระนั้นก็ตาม แม้การตั้งกองทุนออมแห่งชาติ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ในมุมของ นางสุจิน รุ่งสว่าง ตัวแทนเครือข่ายแรงงานนอกระบบยังเห็นว่าการตั้งกองทุนออมแห่งชาติ จะมีประโยชน์มากหากรวมเอาเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 500 บาทรวมเข้ามาด้วย และปรับรวมกองทุนประกันสังคมที่เป็นระบบเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขอยู่ กับกองทุนออมแห่งชาติของกระทรวงการคลัง เพื่อให้รวมสวัสดิการด้านอื่นๆ ด้วย
ขณะที่ ดร. อัมมาร สยามวาลา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เห็นด้วยเช่นกันว่า กองทุนส่งเสริมการออมและกองทุนประกันสังคมนั้นควรจะบูรณาการกัน มีกติการ่วมกัน เพียงแต่กองทุนประกันสังคมนั้นเป็นกองทุนภาคบังคับในขณะที่กองทุนกระทรวงการคลังจะเป็นภาคสมัครใจ ซึ่งจำเป็นต้องขึ้นอยู่กับแต่ละคน กติกาหลักตรงนี้ไม่เหมือนกันโดยพื้นฐาน แต่ก็จำเป็นที่รัฐต้องคิดทบทวนให้ดีว่าจะทำอย่างไรให้กองทุนเชื่อมโยงกัน ทำงานไปด้วยกันได้
"การบูรณาการกองทุน เป็นไปได้ถ้ามีความตั้งใจ โดยเฉพาะช่วงการดำเนินการ ภาครัฐต้องมั่นใจที่กระทรวง 3 กระทรวงมาทำงานร่วมกันให้ได้โดยต่อเนื่อง" ดร.อัมมารกล่าว
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของภาคประชาชน ส่วนใหญ่จะเห็นว่า นโยบายการจ่ายเบี้ยยังชีพ ควรกำหนดให้ชัดเจนอยู่ในพระราชบัญญัติกองทุนบำนาญแห่งชาติที่กำลังจะจัดตั้งขึ้นใหม่ด้วย โดยมีระบบการกำกับดูแลและประเมินผลอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส ผลประโยชน์ควรอยู่ที่ระดับเส้นความยากจน และมีการปรับตามระดับอัตราเงินเฟ้อ
นอกจากนี้ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ที่เสนอโดยกระทรวงการคลัง ยังขาดความครอบคลุมสวัสดิการของผู้สูงอายุในด้านอื่นๆ เหมือนเช่นสิทธิประโยชน์ประกันสังคม ซึ่งเป็นความต้องการของผู้สูงอายุ จึงควรให้ความสำคัญกับการสร้างหลักประกันทางสังคมหรือสวัสดิการอื่นๆ ให้กับผู้สูงอายุด้วย และควรระบุให้ชัดเจนว่าเป็นกองทุนการออมเพื่อบำนาญชราภาพแห่งชาติ
ส่วนการเชื่อมต่อระหว่างกองทุนการออมแห่งชาติกับกองทุนประกันสังคมนั้น รัฐต้องคิดทบทวนให้กองทุนเชื่อมโยงกันและทำงานไปด้วยกันได้ ดังนั้น กระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ควรที่จะได้นำเรื่องนี้มาพิจารณาหาคำตอบร่วมกันอย่างจริงจัง
ทั้งนี้สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การสร้างความสัมพันธ์เกื้อหนุนในชุมชน ดังนั้น ควรต้องพิจารณาการเชื่อมโยงระหว่างให้ถึงกองทุนในระดับชุมชนด้วยเช่นกัน
ทีมข่าวคุณภาพชีวิต
นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 05/09/52