สปส.เตรียมเกลี่ยจำนวน รพ.รัฐ-รพ.เอกชนให้มีสัดส่วนที่เท่ากัน หวังลดแรงต่อรองของภาคเอกชน พร้อมหาทีมแพทย์เฉพาะทาง ตั้งหน่วยงานใหม่ตรวจสถานพยาบาลรับเรื่องร้องทุกข์ผู้ประกันตน
นายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า สปส.มีแนวคิดเพิ่มสัดส่วนสถานพยาบาลของรัฐ ที่เป็นคู่สัญญาของประสังคมให้เท่ากับหรือใกล้เคียงกับสัดส่วนสถานพยาบาลเอกชน ที่จะเข้ามาเป็นคู่สัญญากับ สปส. ซึ่งมองว่าจะเป็นวิธีการป้องกันไม่ให้โรงพยาบาลเอกชนสามารถต่อรองเรียกค่าหัวรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นในแต่ละปีอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
"ตอนนี้โรงพยาบาลรัฐไม่ได้มีน้อยไปกว่าโรงพยาบาลเอกชนเลย เพราะถ้าโรงพยาบาลรัฐรวมกับสถานพยาบาลแล้วมีร่วม 100 กว่าแห่ง แต่ก็ยอมรับว่า ขณะนี้ คลินิกเอกชนที่กระจายอยู่ตามชุมชนทั่วประเทศ มีมากกว่าโรงพยาบาลรัฐ ทำให้เงินค่าหัวและแรงต่อรองในการรักษาพยาบาลไปตกอยู่ที่เอกชนเป็นส่วนใหญ่" นายปั้นกล่าว
ในการประชุมกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) จะมีการประชุมอีกครั้งในวันที่ 15 ก.ย.นี้ เนื่องจากต้องรอให้นายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานบอร์ดในการประชุม โดยมีวาระสำคัญเรื่องการขยายสิทธิ
ทางด้านนางสุจิตรา บุญชู รองเลขาธิการ สปส. กล่าวว่า สปส.ยืนยันหลักเกณฑ์ในการโอนย้ายผู้ประกันตนไปยังสถานพยาบาลเฉพาะทางนอกเครือข่ายโรงพยาบาลคู่สัญญาที่ผู้ประกันตนทำอยู่ว่าสามารถทำได้ แต่ต้องมีการทำหนังสือส่งตัวไปจากสถานพยาบาลที่ผู้ประกันตนทำอยู่เท่านั้น อีกทั้งโรงพยาบาลที่เป็นคู่สัญญากับผู้ประกันตนจะไม่มีสิทธิปฏิเสธการรักษา และต้องออกค่ารักษาพยาบาลให้ผู้ประกันตนทั้งหมดอยู่แล้ว
ส่วนกรณีของนายมงคล จรูญศักดิ์ ผู้ประกันตน สปส. ซึ่งป่วยด้วยโรคเส้นเลือดโป่งพองข้างกระดูกสันหลังและมะเร็ง ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งไม่ได้เป็นคู่สัญญากับโรงพยาบาล เท่าที่สอบถามจากประกันสังคม จ.กาญจนบุรี พบว่า ผู้ประกันตนเดินทางไปรักษาที่โรงพยาบาลนอกเครือข่ายเอง โดยไม่มีหนังสือส่งตัวไปในตอนแรก
"เราพยายามนัดคุยกับผู้ประกันตนรายนี้ ขอให้มาให้รายละเอียด ส่วนค่ารักษาพยาบาลในส่วนที่จ่ายไป เราก็อาจจะออกให้ได้ แต่ไม่ใช่การไปแฉกับสื่ออย่างนี้ แต่เขาก็ไม่ยอมมาคุยกับเราเลย" นางสุจิตรากล่าว
อย่างไรก็ตาม มีรายงานด้วยว่า ขณะนี้ สปส.กำลังทาบทามแพทย์และพยาบาลผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในโรคต่างๆ มาเป็นที่ปรึกษาประจำหน่วยงานใหม่ที่ สปส.จะตั้งขึ้น เพื่อรับเรื่องราวร้องทุกข์โดยเฉพาะ มีสถานะเทียบเท่าระดับกองโดยทีมแพทย์และพยาบาลดังกล่าวมีหน้าที่ เป็นเหมือนผู้ตรวจราชการออกตรวจสถานพยาบาลกว่า 200 แห่งของ สปส.ทั่วประเทศ หากพบว่าสถานพยาบาลใด มีมาตรฐานการรักษาไม่ได้คุณภาพ ก็จะตั้งกรรมการขึ้นมาสอบสวนทันที เชื่อว่าแนวทางนี้ จะสามารถคุมมาตรฐานโรงพยาบาลเครือข่าย รองรับผู้ประกันตนที่จะเพิ่มขึ้นอีกเกือบ 6 ล้านคนได้
อนุกรรมการด้านประสิทธิภาพของ สปส.เสนอว่า ควรจะมีการยกสถานะหน่วยงานตรวจสอบนี้เป็นระดับสำนัก เพื่อให้ขอบข่ายการทำงานกว้างขึ้น ขณะที่แหล่งข่าวจากเครือข่ายแรงงาน ระบุว่า มีการเคลื่อนไหวของผู้นำแรงงาน และนักวิชาการแรงงาน เห็นควรเสนอให้ สปส.ลดเงินสมทบกรณีผู้ประกันตนที่ไม่เคยใช้สิทธิในการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะผู้ประกันตนที่ยังโสด ไม่มีครอบครัว และบุตร ซึ่งจะเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้ประโยชน์จากการขยายสิทธิ เพราะแม้ว่าจะเป็นไปตามกฎของการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข แต่ก็ควรให้ความเป็นธรรมตามหลักการประกันภัย ที่ผู้ที่ไม่เคยใช้สิทธิเลย ควรได้รับค่าลดหย่อนเงินสมทบด้วย
ข้อมูลจาก นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 08 / 09 / 52