สภาองค์กรของผู้บริโภค จี้ ‘แบนไกลโฟเซต’ หลังมาตรการจำกัดการใช้ล้มเหลว

news 07062021 cover

วันความปลอดภัยอาหารโลก - สภาองค์กรของผู้บริโภค จี้ ‘แบนไกลโฟเซต’ หลังมาตรการจำกัดการใช้ล้มเหลว

วันนี้ (7 มิถุนายน 2564) ‘วันความปลอดภัยอาหารโลก (World Food Safety Day)’ ปี 2564 มาภายใต้แนวคิด ‘ปลอดภัยตอนนี้เพื่อสุขภาพที่ดีในวันพรุ่งนี้ (Safe food now for a healthy tomorrow)’ โดยตระหนักถึงภาระโรคที่เกิดจากอาหารทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อบุคคลทุกวัย โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และบุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำ จึงเน้นว่าการผลิตและการบริโภคอาหารปลอดภัยมีประโยชน์ทั้งต่อผู้คน โลก และเศรษฐกิจในระยะยาว ดังนั้น การตระหนักถึงความเชื่อมโยงเชิงระบบระหว่างสุขภาพของคน สัตว์ พืช สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจจะช่วยให้เราตอบสนองความต้องการในอนาคตได้ ทั้งนี้ ในภาคการผลิตทางการเกษตรของประเทศไทยยังคงเป็นการผลิตเชิงเดี่ยว ทำให้ยังพบสารพิษตกค้างในผลผลิตและการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายสูง และยังคงเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยอีกด้วย โดยเฉพาะไกลโฟเซตสารกำจัดวัชพืช ที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติให้ยกเลิกเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ก่อนจะกลับมติให้จำกัดการใช้ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2562

สภาองค์กรของผู้บริโภคซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคโดยมีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองผู้บริโภค มีความห่วงใยต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการใช้สารไกลโฟเซต จึงได้มีการติดตามสภาพการบังคับใช้มาตรการจำกัดการใช้ไกลโฟเซต

คณะอนุกรรมการอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ของคณะกรรมการอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) จัดให้มีงานศึกษา เรื่อง ผลการบังคับใช้มาตรการควบคุมการขายและการใช้ของวัตถุอันตรายไกลโฟเซตที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2562 ระหว่างเดือนกรกฎาคม - เดือนกันยายน 2563 โดยสำรวจร้านค้าที่จำหน่ายวัตถุอันตรายรวมถึงร้านค้าออนไลน์ และสัมภาษณ์เกษตรกรที่ใช้สารเคมี ผู้รับจ้างฉีดพ่น และพนักงานเจ้าหน้าที่ใน 15 จังหวัด ว่ามีการปฏิบัติตามมาตรการของกรมวิชาการเกษตรหรือไม่อย่างไร ผลสำรวจ พบว่า ร้านค้าสารเคมีทางการเกษตรที่ปฏิบัติตามมาตรการจำกัดการใช้ไกลโฟเสต มีน้อยกว่าร้อยละ 15

ปัญญณัฏฐ์ ว่องวณิชย์อรุณ นักวิจัยอิสระ กล่าวว่า ข้อค้นพบในการศึกษาพบว่า มีร้านค้าร้อยละ 13.8 ของกลุ่มตัวอย่างในงานศึกษาที่สามารถปฎิบัติตามมาตรการควบคุมการขายวัตถุอันตรายไกลโฟเซตได้อย่างครบถ้วน ในขณะที่เกษตรกรและผู้รับจ้างฉีดพ่น มีเพียงร้อยละ 14.3 และ ร้อยละ 1.8 ตามลำดับ ที่สามารถปฏิบัติตามมาตรการจำกัดการใช้ โดยยังพบการนำไกลโฟเซตไปใช้ในพื้นที่ห้ามใช้ด้วย เช่น แปลงเพาะปลูกพืชผัก นอกจากนี้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามประกาศฉบับนี้ ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ปลัด และ อบต. ในหลายพื้นที่ไม่ได้มีการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบและไม่มีการกำกับให้มีการปฏิบัติตามมาตรการของกรมวิชาการเกษตรที่ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ไปแล้ว อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ในบางพื้นที่ยังไม่ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการควบคุมการขายและการจำกัดการใช้วัตถุอันตรายไกลโฟเซตฉบับนี้แต่อย่างใด รวมทั้งมาตรการนี้ไม่สามารถควบคุมการสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ได้

ด้าน ผศ.ดร.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายต้องยกระดับการควบคุมไกลโฟเซตจากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 เพื่อคุ้มครองสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค

"จากงานศึกษาชิ้นนี้ชี้ให้เห็นถึงความย่อหย่อนและความอ่อนแอในการบังคับใช้ในทุกมาตรการของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งการควบคุมร้านค้าที่จำหน่ายวัตถุอันตรายไกลโฟเซต เกษตรกร ผู้รับจ้างฉีดพ่น และพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล และเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ เอง สะท้อนให้เห็นว่า มาตรการในการควบคุมและจำกัดการใช้สารเคมีไกลโฟเซตไม่สามารถทำได้จริงในทางปฏิบัติ จึงไม่สามารถลดความเสี่ยงจากผลกระทบตามความมุ่งหมายของมาตรการได้” ผศ.ดร.ภญ.ยุพดี กล่าวและว่า สภาองค์กรของผู้บริโภค เห็นว่า ‘วันความปลอดภัยอาหารโลก’ เป็นโอกาสที่ดีที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายต้องเริ่มเดินหน้ากระบวนการแบนไกลโฟเซต อีกทั้งตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ในคณะกรรมการวัตถุอันตรายควรแต่งตั้งจากผู้แทนจากผู้บริโภคตัวจริง ซึ่งในขณะนี้ประเทศไทยก็มีการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคอย่างเป็นทางการแล้ว

ขณะที่ ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai - PAN) กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวล คือ ไกลโฟเซตเป็นสารกำจัดวัชพืชที่สถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติ (IARC) ขององค์การอนามัยโลก จัดให้เป็นสารที่ก่อมะเร็งในระดับ 2A หมายความว่า มีหลักฐานค่อนข้างชัดว่าเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ (Probably carcinogenic to humans) โดยอิงจากหลักฐานที่ ‘จำกัด’ ของมะเร็งในมนุษย์ (จากการสัมผัสจริงที่เกิดขึ้นจริง) และหลักฐานที่ ‘เพียงพอ’ ของมะเร็งในสัตว์ทดลอง (จากการศึกษาไกลโฟเซต ‘บริสุทธิ์’) และ IARC ยังสรุปด้วยว่ามีหลักฐานที่ ‘ชัดเจน’ สำหรับความเป็นพิษต่อพันธุกรรมของทั้งไกลโฟเซตบริสุทธิ์ และสำหรับไกลโฟเซตที่เป็นผลิตภัณฑ์

ทั้งนี้ การประเมินเอกสารของ IARC อ้างอิงจากการรวบรวมอย่างเป็นระบบและการทบทวนการศึกษาที่เปิดเผยต่อสาธารณะและที่เกี่ยวข้องทั้งหมดกว่า 1,000 ชิ้น โดยผู้เชี่ยวชาญอิสระที่ปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ที่เข้มงวด และใช้ระบบการจำแนกประเภทที่ได้รับการยอมรับและใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงทั่วโลก IARC ถูกบริษัทกล่าวหาว่าบิดเบือนข้อมูลหลังจากจัดให้ไกลโฟเซตอยู่ในชั้น 2A เพราะตัดข้อความว่า ‘ไกลโฟเซตไม่ก่อมะเร็งในสัตว์ทดลอง’ ออกจากดราฟท์ในช่วงของการพิจารณา ซึ่ง IARC ได้ชี้แจงภายหลังว่า การตัดข้อความนั้นออก เนื่องจากขาดหลักฐานที่น่าเชื่อถือและยังมาจากบทความวิชาการที่พบว่าถูกเขียนโดยนักวิทยาศาสตร์ของมอนซานโต้ แต่กลับใส่เป็นชื่อนักวิทยาศาสตร์คนอื่นแทน (Ghost writer) เพื่อตบตาว่าเป็นงานวิจัยที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน

อย่างไรก็ตาม แม้กลุ่มบริษัทสารเคมีจะโต้แย้งว่าไกลโฟเซตไม่ใช่สารก่อมะเร็ง แต่บริษัท ไบเออร์ เอจี ผู้ผลิตจำหน่ายเคมีภัณฑ์ยักษ์ใหญ่ของเยอรมนี (ควบรวมกิจการกับมอนซานโต้) ได้ตกลงจ่ายเงินชดเชยกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 3 แสนล้านบาท เพื่อยุติคดีความกว่าแสนคดีในสหรัฐฯ ที่ฟ้องร้องว่าสารเคมีกำจัดวัชพืชราวด์อัพของบริษัท ซึ่งมีไกลโฟเซตเป็นสารออกฤทธิ์ว่าก่อให้เกิดมะเร็งต่อผู้ฉีดพ่นและสัมผัส ท้ายสุด จากงานวิจัยโดยสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์เมื่อปี 2556 ยังพบว่า ไกลโฟเซตกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านมชนิดอาศัยฮอร์โมนเอสโตรเจนได้


รายละเอียดเพิ่มเติม จากงานศึกษา เรื่อง ผลการบังคับใช้มาตรการควบคุมการขายและการใช้ของวัตถุอันตรายไกลโฟเซตที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2562

1. พื้นที่สำรวจข้อมูล 15 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ นครสวรรค์ สุพรรณบุรี นครปฐม กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สงขลา ชัยภูมิ มหาสารคาม ยโสธร และจันทบุรี

2. ร้านจำหน่าย เข้าสำรวจ 65 ร้าน พบว่า มีร้านที่จำหน่ายไกลโฟเซตจำนวน 59 ร้านค้า โดยสำรวจตามมาตรการจำกัดการใช้ ดังนี้ (1) การจัดวางแยกไกลโฟเซตออกจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชชนิดอื่น (2) การติดป้าย “วัตถุอันตรายที่จำกัดการใช้” (3) การแสดงเอกสารใบอนุญาตจำหน่ายวัตถุอันตรายที่จำกัดการใช้ (ไกลโฟเซต) (4) มีผู้ควบคุมการจำหน่ายประจำร้านพร้อมแสดงใบอนุญาต (5) การขอให้ผู้ซื้อ(เกษตรกร)แสดงหลักฐานผ่านการอบรม (6) การบันทึกข้อมูลปริมาณสารเคมีที่จำหน่ายเพื่อแจ้งแก่กรมวิชาการเกษตร (บันทึกได้เฉพาะร้านค้าที่จำหน่ายไกลโฟเซตให้กับทีมวิจัย 36 ร้าน)

โดยสรุปพบว่า มีร้านค้าที่สามารถปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการขายและการใช้ของวัตถุอันตรายไกลโฟเซตได้ครบทุกมาตรการ จำนวน 8 จาก 59 ร้านค้า คิดเป็นร้อยละ 13.6

artwork 07062021 safefoodday 2

3. เกษตรกร สัมภาษณ์เกษตรจำนวน 69 ราย มีกรอบในการสัมภาษณ์ตามข้อกำหนดของมาตรการ ดังนี้ (1) ชนิดพืชที่ปลูก (2) การเข้าอบรมการใช้ไกลโฟเซต (3) การจัดเตรียมไกลโฟเซตให้ผู้รับจ้างฉีดพ่น (4) การใช้อุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสมขณะฉีดพ่น

จากการสำรวจข้อมูลเกษตรกรจำนวน 69 ราย พบว่า ในจำนวนนี้มีผู้ที่ใช้ไกลโฟเซตในการจัดการวัชพืชจำนวน 35 ราย  ที่มีใบอนุญาตหรือผ่านการอบรมการใช้ไกลโฟเซตจากกรมวิชาการเกษตร 10 ราย (ร้อยละ 28.6) ส่วนการนำไปใช้กำจัดวัชพืชในพืชที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ไกลโฟเซตมีมากถึง 18 ราย (ร้อยละ 51.4) และในการฉีดพ่นมีการป้องกันตนเองอย่างเหมาะสม 7 ราย (ร้อยละ 20.0)

โดยสรุปพบว่า มีเกษตรกรที่สามารถปฎิบัติตามมาตรการจำกัดการใช้เพียง 5 ราย คิดเป็นร้อยละ 14.3

artwork 07062021 safefoodday 3

4. ผู้รับจ้างฉีดพ่น สัมภาษณ์จำนวน 57 ราย โดยมีกรอบในการสัมภาษณ์ตามข้อกำหนดของมาตรการ ดังนี้ (1) ผ่านการอบรมหลักสูตรการใช้ไกลโฟเซต (2) การจัดเตรียมไกลโฟเซต (3) การใช้อุปกรณ์ป้องกันขณะฉีดพ่นไกลโฟเซต (4) ลูกจ้างผ่านการอบรมหลักสูตรการใช้ไกลโฟเซต (5) ชนิดพืชที่รับจ้างฉีดพ่น (6) การบันทึกรายละเอียดการใช้เพื่อแจ้งแก่กรมวิชาการเกษตร

จากการสำรวจผู้รับจ้างฉีดพ่นวัตถุอันตรายไกลโฟเซตจำนวน 57 ราย พบว่า ผ่านการอบรมการใช้ไกลโฟเซต 19 ราย (ร้อยละ 33.3) รับจ้างฉีดพ่นในพืชตามมาตรการกำหนดไว้ 32 ราย (ร้อยละ 56.1) ยังพบผู้ที่รับจ้างในพื้นที่สาธารณะ 1 ราย ในส่วนของการใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองขณะฉีดพ่นถูกต้องตามมาตรการกำหนดนั้นมีเพียง 10 ราย (ร้อยละ 17.5) ที่สามารถปฎิบัติตามได้ และในจำนวนนี้มี 19 รายที่มีลูกจ้างในความดูแล ลูกจ้างทุกคนอายุเกิน 18 ปีตามที่มาตรการกำหนดไว้ แต่มีเพียงนายจ้าง 5 รายเท่านั้นที่ส่งลูกจ้างในความดูแลเข้าอบรมการใช้ไกลโฟเซต อีกทั้งการจดบันทึกข้อมูลการใช้ไกลโฟเซตเพื่อการแจ้งต่อกรมวิชาการเกษตร มีผู้รับจ้างที่จดบันทึกเพียง 8 ราย (ร้อยละ 14.0)

จากข้อมูลการสำรวจทั้งหมด พบว่า มีผู้รับจ้างสามารถปฎิบัติตามมาตรการทุกข้อได้เพียง 1 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.8

artwork 07062021 safefoodday 4

5. การจำหน่ายสารเคมีจำกัดการใช้ไกลโฟเซตผ่านช่องทางออนไลน์ จากการสืบค้นข้อมูลออนไลน์จาก 5 เว็บไซต์ที่มีการจำหน่ายสารเคมีกำจัดศัตรูพืช พบว่า มีการจำหน่ายไกลโฟเซตหลากหลายยี่ห้อ ในทั้ง 5 เว็บไซต์ คือ LAZADA, Shopee, CHEMIKASET.COM, PUIYAONLINE.COM และ KASETCENTER.COM และได้ทดลองสั่งซื้อไกลโฟเซตผ่านทางเว็บไซต์ Shopee พบว่า สามารถซื้อได้ โดยทางร้านค้าออนไลน์ไม่มีการสอบถามข้อมูลการอบรมการใช้ ข้อมูลพืชที่นำไปใช้ หรือขอให้ส่งเอกสารทะเบียนเกษตรกรและใบอนุญาตการผ่านการอบรมการใช้ไกลโฟเซตจากกรมวิชาการเกษตร เพียงระบุชื่อ ที่อยู่ จำนวนที่ต้องการสั่งซื้อ วัตถุอันตรายที่จำกัดการใช้ไกลโฟเซตก็จัดส่งถึงผู้ซื้อ

artwork 07062021 safefoodday 6

Tags: สภาองค์กรของผู้บริโภค, เกษตรกร, ผู้บริโภค, ร้านค้าออนไลน์, แบนไกลโฟเซต, 3สารอันตราย, วันความปลอดภัยอาหารโลก, เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช, ผู้รับจ้างฉีดพ่น, eMarketplace

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน