หายนะด้านการเข้าถึงยา หญ้าแพรกต้องแหลกลาญ หากรัฐบาลตัดสินใจร่วม CPTPP

cover01CPTPP

                    เมื่อไม่นานมานี้ ประเด็นร้อนในสังคมออนไลน์มีการพูดถึง “ท่าที” ของรัฐบาลไทย ต่อการเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ “ยา” ที่อาจนำไปสู่ผลกระทบเชิงลบในระยะยาวได้ข้อตกลงดังกล่าว ครอบคลุมการค้า การบริการ และการลงทุน รวมถึงการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม กลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ โดยทั้งหมดต้องมีการสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกสำหรับ CPTPP นั้น ที่ผ่านมาถูกมองและตีความออกเป็น 2 ทางที่อาจจะสวนทางกัน ในมุมหนึ่งมองว่านี่คือโอกาสทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ทั้งการยกระดับแรงงาน การดึงเม็ดเงินการลงทุนเข้าประเทศ เสริมสร้างศักยภาพทางการแข่งขันในตลาดโลก

           ทว่า ในอีกมุมหนึ่ง คือการมองเห็นผลกระทบเชิงลบในหลายด้านที่ประเทศไทยจะเสียเปรียบหากเข้าร่วมเป็นสมาชิก โดยเฉพาะเรื่อง “คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา” ที่อาจนำไปสู่การผูกขาดโดยบริษัทข้ามชาติ อาทิ เมล็ดพันธุ์ ยารักษาโรค
           เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2564 เป็นอีกครั้งที่มีการพูดถึงเรื่องนี้ ภายใต้เวทีเสวนาออนไลน์หัวข้อ “ก้าวข้ามสิทธิบัตร ผลิตยารักษาโควิด แก้วิกฤตโลก” ที่จัดขึ้นในเวที “ฉันคือผูบริโภค”  ตอนหนึ่งของการเสวนา มีการกล่าวถึงปัญหาและผลกระทบในเรื่องของยาและวัคซีนที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ทั้งในแง่การเข้าถึงยา-การผลิตยาในประเทศ รวมไปถึงความไม่พร้อมของรัฐบาลไทยที่จะเข้าร่วม CPTPP อีกด้วย
            นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่รณรงค์เพื่อการเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ บอกว่า CPTPP จะเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงยาอย่างแน่นอน โดยเฉพาะประเด็นการ “ปรับแก้กฎหมาย” ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจะยิ่งทำให้กลายเป็นข้อจำกัดของคนไทยในการเข้าถึงยา  “อย่าง พ.ร.บ. สิทธิบัตร ที่มีการดำเนินการแก้ไขมา 2 ปีแล้วนั้น จะพบว่ามาตราที่เกี่ยวข้องกับ CL หรือการใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา กลับถูกแก้ไขให้ใช้ได้ยากขึ้น ทั้งที่ในสถานการณ์โควิด-19 ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศมีการประกาศ CL เพื่อช่วยให้ประชาชนของตัวเองเข้าถึงยาไปหลายตัวแล้ว” นายเฉลิมศักดิ์ ระบุ
             นายเฉลิมศักดิ์ อธิบายต่อไปว่า ในร่าง พ.ร.บ. สิทธิบัตรที่กำลังแก้ไขอยู่นั้น ได้สร้างอุปสรรคต่อการประกาศ CL เพิ่มขึ้น เช่น การเสนอต่อกระทรวง ทบวง หรือกรมอาจจะไม่เพียงพออีกแล้ว ต้องเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติด้วย

              ที่สำคัญ ยังเปิดช่องให้กับผู้ทรงสิทธิ์ หรือผู้ที่จดสิทธิบัตรไว้ สามารถดำเนินการฟ้องศาลเพื่อที่จะระงับ หรือยุติมาตรการ CL ได้ด้วย ซึ่งหลักการดังกล่าวถือเป็นสิ่งที่สวนทางกับทิศทางของโลก  “ถ้าประกาศใช้ CL ก็เป็นไปได้ว่าจะถูกฟ้องร้องจากประเทศคู่เจรจา หรือประเทศคู่ค้าใน CPTPP โดยจะเป็นการฟ้องร้องในคณะอนุญาโตตุลาการ เนื่องจากการประกาศ CL กระทบต่อนักลงทุนต่างชาติ ทำให้เขาไม่ได้กำไรหรือไม่สามารถหาประโยชน์จากยาหรือวัคซีนได้” นายเฉลิมศักดิ์ ระบุ
มากไปกว่านั้น ประเทศไทยกำลังพยายามดื้อรั้นที่จะเจรจา CPTPP ต่อ แม้ว่ามีการรายงานผลการศึกษาต่อรัฐสภาไปแล้วว่าประเทศไทยไม่มีความพร้อมที่จะเข้าร่วมข้อตกลงนี้ และข้อตกลงนี้จะก่อให้เกิดความเสียหายในหลายด้าน โดยเฉพาะ “ระบบสุขภาพ” ของประเทศไทย

             “รัฐสภาเองก็มีมติออกมาชัดเจนว่าไทยไม่ควรเข้าร่วม แต่ทางรัฐบาลกลับเดินหน้า มีความพยายามเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกรอบหนึ่ง และทำให้หน่วยงานต่างๆ กลับไปปรับปรุงมาตรการและกฎหมายเพื่อรองรับการเข้าร่วม CPTPP ให้ได้” นายเฉลิมศักดิ์ กล่าว และว่า อยากสื่อสารกับภาครัฐว่า ไม่ควรติดอยู่กับความเชื่อเดิมๆ ที่คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มงวด โดยไม่เปิดให้ใช้มาตรการที่ยืดหยุ่น

              ด้าน รศ.ดร.ภญ.นุศราพร เกษสมบูรณ์ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเสริมโดยยกตัวอย่างถึงยาสำคัญในการรักษาโควิด-19 เช่น ยาฟาวิพิราเวียร์ (favipiravir) ซึ่งหากประเทศไทยเข้าร่วม CPTPP ก็จะผลิตยาชนิดนี้ใช้เองภายในประเทศได้ช้าลง แต่นับว่าโชคยังดีที่ขณะนี้ ประเทศไทยยังไม่เข้าร่วม  “กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ปฏิเสธคำขอสิทธิบัตรยาฟาวิพิราเวียร์ของบริษัทญี่ปุ่นไปแล้ว นั่นทำให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เตรียมความพร้อมในการขึ้นทะเบียนยาและผลิตได้ทันที แต่หากรัฐบาลเข้าร่วม CPTPP ไป เราก็จะผลิตยาตัวนี้ได้ช้าลงและมีความเสี่ยงทางกฎหมาย” รศ.ดร.ภญ.นุศราพร ระบุ

              นั่นเพราะ หากประเทศไทยเข้าร่วม CPTPP จะถูกกำหนดเอาไว้ว่า การขึ้นทะเบียนยาต้องมีการตรวจสอบสถานะสิทธิบัตรด้วย และในกรณีที่บริษัทยาที่เป็นเจ้าของสิทธิบัตรนั้นสงสัยว่าจะมีการละเมิด ก็จะเกิดการฟ้องร้องขึ้นมาแน่นอนว่า ในระหว่างการฟ้องร้องนั้น ก็จะทำให้บริษัทยาภายในประเทศไม่สามารถผลิตยา ขึ้นทะเบียน หรือจำหน่ายได้ ตรงนี้ก็เป็นระยะเวลาที่จะสูญเสียไป

              นอกจากนี้ หากรัฐบาลเห็นว่าประเทศอยู่ในภาวะฉุกเฉิน ก็สามารถประกาศใช้ CL ได้ทันที แต่ถ้าไทยเข้าสู่ CPTPP ก็จะมีข้อความที่อยู่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการเวนคืน เช่น เปิดโอกาสให้มีการฟ้องร้องจากนักลงทุน ซึ่งก็คือผู้ทรงสิทธิ์ที่อาจจะฟ้องร้องรัฐบาลได้ และก็มีโอกาสที่รัฐบาลจะเสียประโยชน์

              “อยากจะบอกกับรัฐบาลว่า ถ้าเรามองไปยังอุตสาหกรรมยา แม้จะมีขนาดเล็กแต่ก็มีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตคนไทย หากรัฐบาลต้องการส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงด้านยา ต้องการเห็นคนไทยมียาใช้ยามที่จำเป็นในภาวะวิกฤติ เราต้องไม่ดำเนินนโยบายที่จะทำให้อุตสาหกรรมยาของเราอ่อนแอ แต่การเข้าร่วม CPTPP จะเป็นการทำร้ายอุตสาหกรรมยาในประเทศ” รศ.ดร.ภญ.นุศราพร ระบุ
             สำหรับข้อสรุปที่เกิดขึ้นในเวทีเสวนาออนไลน์แห่งนี้ คือความเห็นร่วมกันว่าประเทศไทยไม่ควรเข้าร่วม CPTPP และหากมีความต้องการที่จะเจรจา จำเป็นต้องทำอย่างน้อย 2 เรื่อง ได้แก่
             1. ต้องมีการกำหนดกรอบเจรจาให้ชัดเจน ซึ่งกรอบเจรจานี้ต้องรวมถึงประเด็น-สินค้าอ่อนไหว หรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในวงกว้างกับประชาชนในประเทศไทย ถ้าไปเจรจาแล้วไม่สามารถคุ้มครองเรื่องเหล่านี้ได้ ก็จะต้องยุติการเจรจาและไม่เข้าร่วม
             2. รัฐบาลต้องมีการเตรียมความพร้อมไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบาย กฎหมาย งบประมาณ บุคลากร เพราะว่าการที่จะเข้าร่วม CPTPP จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงหลายเรื่องในประเทศไทย อาทิ กฎหมายเดิมที่ขัดกับ CPTPP บุคลากรที่จำนวนและศักยภาพยังมีไม่เพียงพอ รวมทั้งงบประมาณที่จะมารองรับ เช่น กรณีค่ายาแพงขึ้นจากการเข้าร่วม ซึ่งจะสัมพันธ์กับค่าเหมาจ่ายรายหัวในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 3 ระบบของประเทศไทย
แน่นอน นั่นย่อมหมายถึงงบประมาณจำนวนมหาศาลที่รัฐบาลต้องจ่ายเพิ่ม และหมายถึงภาษีของประชาชนที่ต้องเสียไปให้กับอุตสาหกรรมยาข้ามชาติ

Tags: เครือข่ายผู้บริโภคภาคประชาชน, CPTPP, FTAwatch, NoCPTPP

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน