'มพบ. ยื่นร้องสอด คดี รพ. เอกชน ฟ้องศาลปกครองสูงสุด เลิกคุมราคายา - ค่ารักษาพยาบาล

1267506

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นร้องสอดเพื่อร่วมเป็นผู้ถูกฟ้อง กรณี รพ. เอกชน ฟ้องศาลปกครองสูงสุด ยกเลิกประกาศ กกร. คุมราคายา - ค่ารักษาพยาบาลพร้อมยืนยันว่าการยกเลิกประกาศฯ ส่งผลต่อผู้บริโภคจำนวนมาก

          จากกรณีที่สมาคมโรงพยาบาลเอกชน และผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชน 41 แห่ง ยื่นฟ้อง คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.), รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และอธิบดีกรมการค้าภายใน ต่อศาลปกครองสูงสุด และขอให้ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เรื่อง การกำหนดสินค้าและบริการควบคุม โดยเฉพาะการควมคุมราคายา เวชภัณฑ์ บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นๆ ของสถานพยาบาล รวมทั้งมีคำขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา ให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศดังกล่าวนั้น

          ล่าสุด (17 มิถุนายน 2562) นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมทนายความ เดินทางไปยังศาลปกครองสูงสุด เพื่อยื่นร้องสอดร่วมเป็นผู้ถูกฟ้องกับกระทรวงพาณิชย์ โดยนางสาวสารีให้เหตุผลในการร้องสอดว่า แม้ล่าสุดศาลปกครองจะยกคำร้องในการสั่งทุเลาคำสั่งชั่วคราวไปแล้ว แต่คำฟ้องของสมาคมโรงพยาบาลเอกชนที่ให้เพิกถอนประกาศ กกร. ยังคงอยู่

          นางสาวสารีกล่าวอีกว่า ปัจจุบัน ปัญหาค่ารักษาพยาบาลโรงพยาบาลเอกชนแพงเป็นปัญหาที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แสดงให้เห็นว่ามีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องดังกล่าวจำนวนมาก เมื่อมีประกาศของ กกร. ที่ควบคุมราคายาและค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชน ก็ทำให้ประชาชนสามารถร้องเรียนต่อกระทรวงพาณิชย์ได้หากพบว่าโรงพยาบาลเอกชนมีการเก็บค่ารักษาแพงเกินไป ซึ่งถ้ากระทรวงพาณิชย์พิจารณาตรวจสอบแล้วพบว่าแพงจริง โรงพยาบาลที่ถูกร้องเรียนจะมีโทษปรับได้ถึง 140,000 บาท ซึ่งทำให้เขาไม่คิดค่ารักษาแพงอีก แต่ถ้ายกเลิกประกาศดังกล่าวก็อาจทำให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบและไม่มีช่องทางที่สามารถเรียกร้องเป็นความเป็นธรรมได้

          นางสาวสารีกล่าวต่ออีกว่า นอกจากเรื่องค่ารักษาพยาบาลแพงแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องการรักษาเกินความจำเป็นและเรียกเก็บเงิน เช่น กรณีการรักษาในตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (Universal Coverage for Emergency Patients: UCEP) ซึ่งผู้ป่วยควรจะได้รับการรักษาฟรี แต่กลับพบว่าในจำนวนผู้ที่ใช้บริการโครงการดังกล่าวประมาณ 300,000 ราย มีผู้ที่ถูกวินิจฉัยว่าไม่เข้าข่ายฉุกเฉินจึงต้องเสียเงินถึง 256,000 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 84 ดังนั้น มพบ. จึงมีข้อเรียกร้องต่อกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กรณีที่ประชาชนไปใช้กรณีฉุกเฉินโรงพยาบาลเอกชน ขอให้เก็บเงินเท่าอัตราที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) หรือ 3 กองทุนประกันสุขภาพร่วมกันจ่าย

          นางสาวบุญยืน ศิริธรรม นายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า ความเสี่ยงขอผู้บริโภคในการโดนเก็บเงินในกรณีนี้ฉุกเฉินนั้นเกินจากการตีความที่ไม่ตรงกัน เช่น มีกรณีที่ผู้เสียหายถูกก้อนหินเล็กๆ กระเด็นใส่ตาอย่างแรงจนเข้าไปถึงขั้วตา ซึ่งน่าจะนับเป็นกรณีฉุกเฉิน แต่โรงพยาบาลกลับตีความว่าไม่ฉุนเฉิน เนื่องจากผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บแค่ที่ดวงตา ไม่ได้ทำให้ถึงขั้นเสียชีวิต

          “ไม่ได้หมายความว่าผ้ป่วยเป็นฝ่ายถูกเสมอ หรือจะต้องตีความเข้าข้างผู้ป่วย แต่อยากให้มีมาตรฐานของการตีความคำว่า ฉุกเฉินเพื่อให้ทั้งบุคลากรของโรงพยาบาลและผู้บริโภคเข้าใจตรงกัน และไม่เกิดการเอารัดเอาเปรียบกัน นอกจากนี้ แม้จะไม่ใช่กรณีฉุกเฉินโรงพยาบาลก็ควรคิดราคายา และค่ารักษาพยาบาลอย่างมีมาตรฐาน เช่น สมมติการผ่าตัดสมอง คำนวณมาแล้วว่าควรได้ค่าตอบแทน 300,000 บาท โรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งก็ต้องคิดค่ารักษาในราคาเท่ากัน ไม่ใช่เป็นเหมือนปัจจุบัน ที่ผ่าตัดสมองโรงพยาบาล ก. คิด 300,000 บาท โรงพยาบาล ข. คิด 500,000 บาท ส่วนโรงพยาบาล ค. เก็บค่ารักษาถึง 700,000 บาท” นางสาวบุญยืนกล่าว

Tags: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, ค่ารักษาพยาบาลแพง, โรงพยาบาลเอกชน, กระทรวงพาณิชย์

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน