‘ฉลาดซื้อ’ พบ ยาอันตราย ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ‘ลดน้ำหนัก – เพิ่มสมรรถภาพเพศชาย’

news pic 130662 1

นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยผลทดสอบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกลุ่มลดน้ำหนักรอบสอง ยังพบไซบูทรามีน และกลุ่มอ้างสรรพคุณเสริมสมรรถภาพเพศชาย พบยาอันตราย ซิลเดนาฟิล ทาดาลาฟิล เรียกร้อง อย. ลงโทษปรับสูงสุด 2 ล้านบาท 

วันนี้ (13 มิถุนายน 2562) ณ ห้องประชุมชั้น 2 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ภายใต้โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ สุ่มซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนักรอบสอง จำนวน 15 ตัวอย่าง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างสรรพคุณเพิ่มสมรรถภาพทางเพศสำหรับผู้ชาย จำนวน 10 ตัวอย่าง โดยเก็บตัวอย่างระหว่างเดือนมีนาคม - เดือนเมษายน 2562 จากห้างออนไลน์ 6 แห่ง ได้แก่ Lazada, Shop at 24, We mall, Shopee, Watsons และ 411estorenews pic 130662 5

สถาพร อารักษ์วทนะ นักวิชาการประจำ มพบ. กล่าวว่า กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนัก มีการตรวจวิเคราะห์กลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ได้แก่ ไซบูทรามีน (Sibutramine) และยาอันตราย อีกจำนวน 3 ชนิด คือ ฟลูออกซิทีน (Fluoxetine), เฟนฟลูรามีน (Fenfluramine) และบิซาโคดิล (Bisacodyl) พบส่วนผสมยาไซบูทรามีนใน 3 ตัวอย่าง จาก 15 ตัวอย่าง ได้แก่ 1) ผลิตภัณฑ์ ยี่ห้อ S - Line ที่สั่งซื้อจากเว็บไซต์ Lazada 2) ผลิตภัณฑ์ ยี่ห้อชะหลิว 2 (CHALIEW2) ที่สั่งซื้อจากเว็บไซต์ Lazada และ 3) ผลิตภัณฑ์ ยี่ห้อ เดลี่ บาย เอ็นคิว (DELI By NQ) สั่งซื้อจากเว็บไซต์ Lazada

ส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างสรรพคุณเสริมสมรรถภาพเพศชาย มีการตรวจวิเคราะห์ยาอันตราย 3 ชนิด ได้แก่ ซิลเดนาฟิล (Sildenafil), ทาดาลาฟิล (Tadalafil) และวาร์เดนาฟิล (Vardenafil) พบส่วนผสมยาอันตรายทั้งหมด 7 ตัวอย่าง แบ่งเป็นตรวจพบเพียงชนิดซิลเดนาฟิล จำนวน 3 ตัวอย่าง ได้แก่ 1) ผลิตภัณฑ์ ยี่ห้อ ดราโค (DRACO) ที่สั่งซื้อจากเว็บไซต์ Shopee 2) ผลิตภัณฑ์ แซต 4 (Z4) ยี่ห้อ เพลย์ส (PLAYS) ที่สั่งซื้อจากเว็บไซต์ Watsons และ 3) ผลิตภัณฑ์ ยี่ห้อ โมชา (MO CHA) ที่สั่งซื้อจากเว็บไซต์ Shopeenews pic 130662 6

และตรวจพบทั้งชนิดซิลเดนาฟิล และทาดาลาฟิล อีกจำนวน 4 ตัวอย่าง ได้แก่ 1) ผลิตภัณฑ์ ยี่ห้อ โซคูล (So Kool) ที่สั่งซื้อจากเว็บไซต์ We mall 2) ผลิตภัณฑ์ ยี่ห้อ โอเอ็มจี (OMG) ที่สั่งซื้อจากเว็บไซต์ 411estore 3) ผลิตภัณฑ์ ยี่ห้อ ชูว์ (CHU) ที่สั่งซื้อจากเว็บไซต์ Lazada และ 4) ผลิตภัณฑ์ ยี่ห้อ ไวทัลแมกซ์ ไวทอลิตี้ รีบอร์น (Vitalmax, Vitality Reborn) ที่สั่งซื้อจากเว็บไซต์ Lazada

สถาพร กล่าวอีกว่า ไซบูทรามีนเป็นยาต้านอาการซึมเศร้า ซึ่งพบว่าสามารถลดความอยากอาหารได้ จึงมีการนำมาใช้เป็นยาลดน้ำหนัก แต่มีความเสี่ยงทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง เสี่ยงต่อการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและโรคหลอดเลือดในสมอง จึงได้ประกาศให้ยาอันตรายไซบูทรามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1

ส่วนซิลเดนาฟิล (Sildenafil) ทาดาลาฟิล (Tadalafil) และวาร์เดนาฟิล (Vardenafil) เป็นยาที่ใช้รักษาในกลุ่มอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หรือภาวะองคชาตไม่แข็งตัว จัดเป็นยาควบคุมพิเศษ มีผลข้างเคียงสูง เช่น อาการปวดศีรษะ ตาลาย ความดันโลหิตต่ำเฉียบพลัน หัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว ความดัน เบาหวาน โรคหัวใจ และผู้สูงอายุ อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงจนถึงชีวิตได้news pic 130662 3news pic 130662 4

ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประกาศให้ไซบูทรามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 กำหนดให้ผู้ใดที่นำเข้าหรือส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีไซบูทรามีนเป็นส่วนผสม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 - 20 ปี และปรับตั้งแต่ 500,000 - 2,000,000 บาท ผู้ใดขายจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 4 - 20 ปี และปรับตั้งแต่ 4 แสนบาท ถึง 2 ล้านบาท ส่วนผู้ใดที่มีไว้ในครอบครองจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 - 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาทถึง 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมไปถึงผู้ที่บริโภคก็ถือว่าเป็นความผิดด้วย โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

news pic 130662 2          สารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ มพบ. กล่าวว่า เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาหลังจากทราบผลการสุ่มตรวจดังกล่าว ได้ทำหนังสือพร้อมแนบผลทดสอบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ตรวจพบวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทและยาอันตรายดังกล่าวไปยัง อย. เพื่อขอให้ยกเลิกทะเบียนผลิตภัณฑ์ทั้ง 10 รายการ และขอให้มีการลงโทษ โดยการปรับที่อัตราสูงสุดจำนวน 2 ล้านบาทกับผู้ผลิตและผู้จำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาททั้ง 3 รายการ

พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการลงโทษผลิตภัณฑ์เสริมสมรรถภาพเพศชาย โดยให้มีการปรับสูงสุดที่ 120,000 บาท เพราะถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของยา ซึ่งถือเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25(1) ประกอบมาตรา 26(1) ต้องได้รับโทษตามมาตรา 58 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ยังอาจเข้าข่ายอาหารปลอมที่มีฉลากเพื่อลวงให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ตามมาตรา 25 (2) ประกอบมาตรา 27 (4) มีโทษตามมาตรา 59 คือ จำคุกตั้งแต่ 6 เดือน - 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 - 100,000 บาท

“อยากฝากถึงผู้บริโภคว่าไม่ควรเชื่อเลข อย. ที่ปรากฏบนผลิตภัณฑ์เหล่านั้น แต่ควรตรวจสอบประกาศของ อย. หรือทางคลังข้อมูลที่ อย. เปิดให้ประชาชนเข้าไปดูข้อมูลก่อนจะนำมาผู้บริโภค รวมทั้งเรื่องที่มีการโฆษณาอาหารว่าสามารถลดน้ำหนัก เป็นยารักษาโรค และเสริมสมรรถภาพทางเพศได้ ก็ขอให้ผู้บริโภคพึงระวังว่าผลิตภัณฑ์นั้นอาจมีความไม่ตรงไปตรงมาและอาจมีส่วนผสมของยาอันตรายอยู่” สารีกล่าว

อีกทั้งยังต้องการเรียกร้องให้ไม่มีการกำหนดบทลงโทษกับผู้บริโภค เนื่องจากผู้บริโภคที่ไปซื้อมาทานเองหรือผู้ที่ได้รับผลิตภัณฑ์มาจากสถาบันลดน้ำหนัก ก็ไม่อาจทราบได้ด้วยตัวเองว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ มีส่วนผสมของยาอันตรายหรือไม่ อีกทั้งอยากเห็นการลงโทษผู้ผลิตและผู้จำหน่ายที่จริงจังและเข้มงวดมากขึ้นจากทาง อย. ส่วนการลงโทษจากห้างออนไลน์ที่ยังคงมีผลิตภัณฑ์เหล่านี้อยู่ ต้องการให้ห้างออนไลน์มีมาตรการนำสินค้าเหล่านี้ออกและขึ้นแบล็คลิสกับผู้จำหน่ายอย่างน้อย 3 ปีด้วย

 

อ่านเพิ่มเติม :

บทความฉบับที่ 219 ไซบูทรามีนในอาหารเสริมที่กล่าวอ้างลดน้ำหนักจากห้างค้าปลีกออนไลน์ (ภาคต่อ) อ่าน ที่นี่

บทความฉบับที่ 219 ยาแผนปัจจุบันในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อ้างสรรพคุณเพิ่มสมรรถภาพทางเพศสำหรับผู้ชายจากห้างค้าปลีกออนไลน์ อ่าน ที่นี่

และสามารถติดตาม Facebook LIVE ย้อนหลัง นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผย 'ผลทดสอบยาอันตราย ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนักและเสริมสมรรถภาพเพศชาย 25 ยี่ห้อ จากห้างออนไลน์' ได้ที่ เฟซบุ๊คเพจมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน