เภสัชกรเตือน การรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนักที่มีสารอันตราย นอกจากเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด ยังมีโอกาสเป็นโรคทางจิตเวชด้วย
ทุกวันนี้มีข่าวเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนักที่มีสารอันตรายให้เห็นกันอยู่บ่อยครั้ง และชื่อสารหนึ่งที่หลายคนคงคุ้นหูกันดีก็คือ “ไซบูทรามีน” ซึ่งเป็นสารอันตรายที่เป็นสาเหตุของอาการเจ็บป่วยหรือการเสียชีวิต เช่น กรณี LYN ที่มีการผสมสารดังกล่าวลงในผลิตภัณฑ์ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 4 ราย สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ แม้หน่วยงานภาครัฐจะมีการบุกจับ แถลงข่าว และจัดระบบเรื่องดังกล่าวแล้ว แต่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อันตรายและไม่ได้มาตรฐานก็ยังสามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาดและบนเว็บไซต์ อีกทั้งเรายังคงเห็นข่าวผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือเจ็บป่วยจากการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนักอยู่
งานแถลงข่าว “ไซบูทรามีน: อันตราย สถานะทางกฎหมาย และการลักลอบนำเข้า” ถูกจัดขึ้นเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ภายใต้ความร่วมมือระหว่างศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ร่วมกับชมรมเภสัชชนบท มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และนักวิชาการ เพื่อรายงานสถานการณ์ สร้างความตระหนัก และร่วมกันหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการปลอมปนไซบูทรามีนผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนัก
ภก.วัสนต์ มีคุณ
สาเหตุที่ไซบูทรามีนถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง เมื่อพูดถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนัก เพราะสารดังกล่าวถูกให้เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนที่ผิดกฏหมายจำนวนมาก ภก.วสันต์ มีคุณ เภสัชกรประจำโรงพยาบาลวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร และผู้แทนชมรมเภสัชกรชนบท นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสารอันตรายที่ตรวจพบในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนัก โดยเขาได้รวบรวมข้อมูลช่วงปี พ.ศ. 2557- 2561 จากแหล่งข้อมูล 4 แหล่ง คือ เว็บไซต์หน้าต่างเตือนภัย (คลิ๊กที่นี่) , ข้อมูลการสุ่มเก็บตัวอย่างของสำนักอาหาร ปีงบประมาณ 2560, ประกาศผลวิเคราะห์ของ สำนักคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวมทั้งผลจากการสุ่มตรวจวิเคราะห์ของสาธารณะสุขจังหวัด (สสจ.) พบว่ามีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ถูกประกาศเตือนว่าพบสารอันตรายทั้งหมด 135 ตัวอย่าง และในจำนวนตัวอย่างทั้งหมดนั้น มีสารไซบูทรามีนเป็นส่วนประกอบถึง 115 ตัวอย่าง หรือคิดเป็นร้อยละ 85.19
นอกจากนี้ ภก.วสันต์ ยังอ้างอิงถึงข้อมูลของเว็บไซต์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ว่า ในปี พ.ศ. 2556 - 2559 มีจากการสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 849 ตัวอย่าง พบว่ามี 163 ตัวอย่างที่พบการปนเปื้อนของสารไซบูทรามีน ซึ่งเป็นสารต้องห้าม เพราะเป็นยาแผนปัจจุบันที่มีผลข้างเคียงอันตราย คิดเป็น ร้อยละ 19.20
“หากมองเฉพาะผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีสารปนเปื้อน จะเห็นได้ว่าไซบูทรามีเป็นสารที่นิยมนำมาใช้เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ควบคุมน้ำหนักมากที่สุด และแม้ว่าข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะระบุว่ามีผลิตภัณฑ์ที่ผสมไซบูทรามีน ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นก็ได้รับความนิยมมาก เนื่องจากรับประทานแล้วเห็นผล ดังนั้นปัญหาไซบูทรามีนจึงนับเป็นปัญหาใหญ่ที่ควรหยิบยกขึ้นมาพูดคุยและหาทางแก้ไขกันอย่างจริงจัง” ภก.วสันต์กล่าว
อ.ภก.ถนอมพงษ์ เสถียรลัคนา
ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ ผลกระทบของไซบูทรามีนต่อจิตประสาท อ.ภก.ถนอมพงษ์ เสถียรลัคนา อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม อธิบายถึงผลจากการใช้สารไซบูทรามีนว่า สารดังกล่าวจะออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลาง ช่วยเพิ่มสารสื่อประสาท 3 ชนิด (เซโรโทนิน นอร์อีพิเนฟริน และโดปามีน) ที่ทำให้รู้สึกอารมณ์ดี ต้านซึมเศร้า และลดความอยากอาหาร แต่มีผลข้างเคียงคือ ทำให้นอนไม่หลับ ปากแห้ง ท้องผูก คลื่นไส้ ปวดศีรษะ ความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น ใจสั่น ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้นในช่วงแรกๆ ที่มีการผลิตยาและใช้อย่างถูกกฎหมายจะมีคำแนะนำว่า ระยะแรกของการใช้ยาให้ผู้ป่วยติดตามเรื่องจังหวะการเต้นของหัวใจ ชีพจร และความดันอย่างใกล้ชิด แต่ปัจจุบันเป็นการลักลอบใช้จึงทำให้ความเสี่ยงที่เกิดจากการใช้ยาเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ใช้ไม่ได้รับคำแนะนำในการใช้อย่างถูกต้อง หรือกระทั่งไม่รู้ว่าตัวเองได้รับสารไซบูทรามีน
อ.ภก.ถนอมพงษ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า เนื่องจากไซบูทรามีนเป็นสารที่มีผลข้างเคียงมาก จึงมีข้อห้ามและข้อควรระวังในการใช้กับผู้ป่วยหลายกลุ่ม ได้แก่ คนที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูงที่ยังไม่สามารถควบคุมความดันได้ หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร ผู้ป่วยที่การทำงานของตับหรือไตบกพร่องรุนแรง เด็กและวัยรุ่น รวมถึงผู้ป่วยจิตเวชด้วย เนื่องจากสารไซบูทรามีนนั้นส่งผลทำให้อาการของโรคจิตเวชบางชนิดแย่ลง
“ผลกระทบของไซบูทรามีนต่อผู้ป่วยจิตเวช เช่น ทำให้อาการโรคจิตกำเริบหรือแย่ลง เช่น เห็นภาพหลอน หวาดระแวง เกิดอาการซึมเศร้า หรือในผู้ป่วยจิตเวชหลายชนิดมักเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดอยู่เดิม การได้รับสารไซบูทรามีนก็จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วย นอกจากนี้ในบางรายงาน ยังพบการเกิดอาการของโรคจิตในคนที่ไม่มีประวัติโรคทางจิตเวชมาก่อนด้วย” อ.ภก.ถนอมพงษ์กล่าว
ศ.นพ.วินัย วนานุกูล
ทางด้าน ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าให้ฟังว่า สำหรับสาเหตุที่สารไซบูทรามีนมีผลกระทบต่อจิตประสาท เพราะเป็นยาที่ถูกปรับเปลี่ยนโครงสร้างมาจาก แอมเฟตามีน หรือยาบ้า ซึ่งมีคุณสมบัติอยู่ 3 ประการ คือ หนึ่ง กระตุ้นประสาท ทำให้มีแรง คึกคัก สอง ทำให้เบื่ออาหาร และสาม ทำให้เกิดอาการทางประสาท หลอนประสาท แต่ไซบูทรามีนถูกพัฒนาขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เน้นทำให้เบื่ออาหาร ลดฤทธิ์ของการกระตุ้นประสาทและหลอนประสาทลง อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ได้รับยาในปริมาณมาก ก็จะทำให้มีอาการทางประสาทได้
“มีผู้ป่วยบางรายที่ใช้สารไซบูทรามีนเกิดอาการทางประสาท เช่น ประสาท หลอน หูแว่ว ภาพหลอน พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป ทั้งที่ก่อนหน้าไม่ได้เป็นโรคทางจิตเวช นั่นแปลว่าคนทั่วไปมีโอกาสเป็นโรคทางจิตเวชจากการใช้สารไซบูทรามีนในปริมาณมาก จะเห็นได้ว่าไซบูทรามีนนั้นมีผลกระทบที่ต่อระบบต่างๆ ในร่างกายหลายระบบ เป็นสาเหตุของการเกิดโรค และอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้น ปัจจุบันทางการแพทย์จึงไม่มีการใช้สารดังกล่าวในการรักษาแล้ว ส่วนผลิตภัณฑ์ที่พบเห็นว่าใส่สารไซบูทรามีนทุกวันนี้เป็นการลักลอบใช้ทั้งสิ้น” ศ.นพ.วินัยกล่าว
ติดตามประเด็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับไซบูทรามีนได้ที่ จี้ อย. จัดการปัญหา 'ไซบูทรามีน' เหตุพบเกลื่อนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
อ่านข่าวข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพได้ที่ เสนอร่างโมเดล ‘การทำงาน 7 ระบบ’ ควบคุมผลิตภัณฑ์สุขภาพและโฆษณา