ดีต่อสุขภาพ! มพบ. ชี้ ประกาศ อย. ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายไขมันทรานส์ น่าจะเป็นผลดีต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการ

Trans fat

ดีต่อสุขภาพ! มพบ. เชื่อ ประกาศ อย. ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายไขมันทรานส์ น่าจะเป็นผลดีต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการ พร้อมแนะควรติดตามผู้ประกอบการว่าได้ทำตามประกาศฉบับนี้หรือไม่       

          จากการที่ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561 เรื่องกำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายไขมันทรานส์นั้น

          ตามที่ระบุในราชกิจจานุเบกษาว่า ปรากฏหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนว่ากรดไขมันทรานส์ (Trans Fatty Acids) จากน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partially Hydrogenated Oils) ส่งผลเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 6 (8) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 รมว.สาธารณสุขออกประกาศไว้ให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนและอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ทั้งนี้ ให้ประกาศดังกล่าวใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2561

          นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวว่า ตอนนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกประกาศฉบับนี้ มีผลบังคับใช้อีก 180 วัน ซึ่งคิดว่านานไป แต่ก็ต้องยอมรับและเป็นการให้โอกาสผู้ประกอบการในการเตรียมตัวที่จะเปลี่ยนสูตรในการผลิต โดยไขมันทรานส์มักพบอยู่ในขนมเค้ก ขนมอบกรอบ ครีมเทียม หรือเนยเทียม ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพทั้งโรคหัวใจ หลอดเลือด เมื่อเป็นโรคดังกล่าวจะมีความรุนแรงและมีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง จึงคิดว่ามีความจำเป็นที่ต้องยุติการใช้ไขมันทรานส์ นอกจากนี้ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา มพบ. ได้มีการแถลงผลทดสอบไขมันทรานส์ในโดนัท รสช็อคโกแลต จำนวน 13 ยี่ห้อ พบว่ามี 5 ยี่ห้อ ที่มีปริมาณไขมันทรานส์อยู่ในเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด (WHO) (ติดตาม Facebook LIVE ผลทดสอบ 'ไขมันทรานส์' ในโดนัทรสช็อกโกแลต ได้ที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค) หลังจากนั้นมีผู้ประกอบการ 2 ราย ที่ มพบ. เผยผลทดสอบออกมาแล้วพบว่ามีส่วนผสมไขมันทรานส์เกินมาตรฐาน ได้ทำจดหมายมาถึง มพบ. ว่าได้เปลี่ยนสูตรการทำโดนัทแล้ว

          “เราสนับสนุน อย. ในการออกประกาศฉบับนี้ เนื่องจากเป็นผลดีต่อทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ด้วยระยะเวลา 180 วัน น่าจะเพียงพอที่ผู้ประกอบการจะมีการปรับตัวและหันมาปรับปรุงสูตร อีกทั้ง เมื่อผู้บริโภคตื่นตัวเรื่องไขมันทรานส์ ก็จะทำให้ผู้ประกอบการหันมาสนใจเรื่องนี้มากขึ้นและนำไปสู่การปรับปรุงสูตร ซึ่งจะเป็นผลดีกลับไปสู่ผู้บริโภคต่อไป นอกจากนี้ หลังออกประกาศไปแล้ว อย. ควรติดตามด้วยว่าผู้ประกอบการมีการทำตามระเบียบฉบับนี้มากเพียงใด” นางสาวสารีกล่าว

 

ร่วมรับชม Facebook LIVE ‘การยุติการใช้ไขมันทรานส์ ในมุมมองมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค’ ได้ที่เฟซบุ๊กเพจ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

Tags: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, ไขมันทรานส์, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน