เตือนภัย เต้าฮวยนมสดไม่ได้มาตรฐาน

อย.เผยพบเชื้อ “อีโคไล” ในเต้าฮวยนมสด สั่งงดผลิต-เก็บคืนจากท้องตลาดทันที

กรุงเทพฯ 9 พ.ย.- อย. เผยพบเต้าฮวยนมสดปนเปื้อนเชื้ออีโคไล ตัวการอาหารเป็นพิษ และพบสารกันเสีย ยีสต์ เชื้อราโคลิฟอร์มเกินมาตรฐาน ไม่ได้รับอนุญาตเลขสารบบอาหารจาก อย. สถานที่ผลิตไม่ผ่านเกณฑ์จีเอ็มพี สั่งระงับผลิต เรียกคืนผลิตภัณฑ์จากท้องตลาด และดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดทันที

ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า กรณีมีผู้บริโภคร้องเรียนมายัง อย. ให้ตรวจสอบผู้ผลิตน้ำหวานกลิ่นผลไม้รวม ตราซูเปอร์วัน หลังจากพบว่าแสดงเลขสารบบอาหารของผลิตภัณฑ์อื่นบนฉลาก ดังนั้น อย. จึงเข้าตรวจสอบสถานที่ผลิตตามที่ระบุบนฉลากอาหาร ชื่อ ร้านศศิพร เลขที่ 26/88 หมู่ที่ 3 ซอยเพชรเกษม 114 ถนนเพชรเกษม แขวงหนองค้างพลู เขตหนองแขม โดยสถานที่ดังกล่าวมีลักษณะไม่เข้าข่ายเป็นโรงงานตามกฎหมาย ได้รับเลขสถานที่ผลิตที่ไม่เข้าข่ายโรงงาน (สบ.1) ที่ 10-1-04849 และได้รับอนุญาตเลขสารบบอาหารตั้งแต่เลขที่ 10-1-04849-1-0001 ถึง 10-1-04849-1-0013

เมื่อตรวจสอบสถานที่ผลิตตามหลักเกณฑ์จีเอ็มพี พบว่าไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งขณะตรวจไม่พบการผลิตและผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปน้ำหวาน กลิ่นผลไม้รวม ตราซูเปอร์วัน ที่ได้รับการร้องเรียนแต่อย่างใด แต่พบว่ามีการผลิตและผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปเครื่องดื่มวุ้นมะพร้าวบรรจุขวด พลาสติก ฉลากระบุ “เต้าฮวยนมสด ตราศศิพร” แสดงเลขสารบบอาหารหลายรายการ เช่น เต้าฮวยรสนม อย.10-1-04849-1-0002 เต้าฮวยนมรสข้าวโพด อย.10-1-04849-1-0003 เต้าฮวยนมรสชา อย.10-1-04849-1-0008 ส่วนประกอบ นมสดรสผลไม้ ร้อยละ 50 ผลไม้รวม ร้อยละ  35 น้ำตาลร้อยละ 15 แต่งกลิ่นสังเคราะห์ (ไม่ใช้วัตถุกันเสีย) ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมิได้ยื่นขออนุญาตเลขสารบบอาหารจาก อย. จึงได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ส่งตรวจวิเคราะห์ ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยผลการตรวจพบว่ามีวัตถุกันเสียกรดเบนโซอิก ยีสต์ เชื้อรา และเชื้อโคลิฟอร์ม (MPN Coliforms) เกินค่ามาตรฐานกำหนด นอกจากนี้ยังพบเชื้อ อีโคไล (E.coli) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย ซึ่งตามมาตรฐานต้องไม่พบในอาหาร จึงถือเป็นอาหารผิดมาตรฐาน ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค

สำหรับการดำเนินการตามกฎหมายนั้น ผู้กระทำผิดจะได้รับโทษในหลายกรณี เช่น กรณีสถานที่ผลิตไม่ผ่านเกณฑ์จีเอ็มพี ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท กรณีผลิตอาหารผิดมาตรฐาน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท กรณีผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาตเลขสารบบอาหาร แต่มีการแสดงเลขสารบบอาหารบนฉลาก ถือเป็นการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท และเข้าข่ายเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารที่มีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงผู้ ซื้อให้เข้าใจผิดว่าได้รับเลขสารบบอาหารแล้ว ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6-10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000-100,000 บาท.

....................................................................................................

ที่มา : อ.ส.ม.ท. 9 พ.ย. 2554

พิมพ์ อีเมล

เตือนกิน”ขนมปัง”สารกันบูดอื้อ

แฉขนมปังเกือบทุกชนิดผสมสารกันบูด หากกินเข้าไปมากๆ ตับกับไตพัง อย.จนปัญญาเอาผิดยาก เพราะส่วนใหญ่ขายหน้าร้านไม่จำเป็นต้องแจ้ง วอนพ่อค้ามาตรวจรับรองก่อนขาย

ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น เมื่อวันที่ 18 ส.ค. ในการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 19  น.ส.ประภาพรรณ พรหมหิรัญกุล นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 5 และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 13 แห่งทั่วประเทศ ได้นำเสนอการประเมินความเสี่ยง ต่อการได้รับวัตถุกันเสียและจุลินทรีย์จากการบริโภคผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ทั่วประเทศ  โดย น.ส.ประภาพรรณระบุว่า เมื่อปี 2553 กลุ่มศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 14 แห่งทั่วประเทศ และสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้สุ่มเก็บผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ จำพวกขนมปังแถว แซนด์วิช เบอร์เกอร์ พิซซ่า ขนมปังสอดไส้ เค้กมีหน้า เค้กไม่มีหน้า แครกเกอร์ ขนมปังกรอบ เวเฟอร์ ขนมปังแท่ง พัฟ พาย ครัวซองท์ โดนัท คุกกี้ และเอแคร์ ที่ผลิตและจำหน่ายในจังหวัด รวมทั้งสิ้น 837 ตัวอย่าง 

นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ฯ ระบุอีกว่า ทั้งนี้ผลการตรวจหาปริมาณวัตถุกันเสีย ชนิดกรดเบนโซอิก กรดซอร์บิก และกรดโปรปิโอนิก พบมีการใช้วัตถุกันเสีย 658 ตัวอย่าง  โดยพบการใช้วัตถุกันเสียชนิดเดียว 310 ตัวอย่าง ได้แก่ กรดเบนโซอิก 159 ตัวอย่าง มีปริมาณเกินเกณฑ์ 1,000 มก./กก. 2 ตัวอย่าง คือ โดนัท 1,588 มก./กก.  และเอแคลร์ 1,887 มก./กก. ,กรดซอร์บิก 46 ตัวอย่าง มีปริมาณเกินเกณฑ์ 4 ตัวอย่างในเค้กกล้วยหอม ,เค้กโรล และเค้กหน้าคัสตาร์ด ในปริมาณ  1,399-4,974 มก./กก.  และพบกรดโปรปิโอนิก 105 ตย. มีปริมาณมากกว่า 2,000 มก./กก. 12 ตัวอย่าง  ในขนมปังสอดไส้  เค้กไม่มีหน้า ขนมปังแถว เวเฟอร์ แซนด์วิช คุกกี้ เค้กโรล ระหว่าง  2,137-8,516 มก./กก. 

น.ส.ประภาวรรณ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังพบมีการใช้วัตถุกันเสีย 2 ชนิด ได้แก่ กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก 136 ตัวอย่าง  มีปริมาณรวมกันเกินเกณฑ์ 7 ตัวอย่าง ในขนมปังสอดไส้  เอแคลร์ เค้กมีหน้า เค้กไม่มีหน้า เบอร์เกอร์ ระหว่าง 1,289-3,933 มก./กก.  พบทั้งกรดเบนโซอิกและกรดโปรปิโอนิก 104 ตัวอย่าง  มีปริมาณรวมเกินเกณฑ์ 58 ตัวอย่าง ในแซนด์วิช ขนมปังแถว เค้กไม่มีหน้า ขนมปังสอดไส้ เค้กมีหน้า พิซซ่า พัฟพายครัวซองท์ โดนัท เวเฟอร์ และคุกกี้ ระหว่าง 1,012–8,223 มก./กก. พบทั้งกรดซอร์บิกและกรดโปรปิโอนิก  29 ตัวอย่า มีปริมาณรวมเกินเกณฑ์ 6 ตัวอย่าง  ในเค้กโรล เค้กมีหน้า ซอฟท์เค้ก คุกกี้ และขนมปังโฮลวีท  ระหว่าง 1,017-2,189 มก./กก  

นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ฯเปิดเผยต่อว่า ผลการตรวจยังพบการใช้กรดทั้ง 3 ชนิด คือ เบนโซอิก  ซอร์บิก และโปรปิโอนิก  ใน 79 ตัวอย่าง มีปริมาณรวมเกินเกณฑ์ 38 ตัวอย่าง  ในแซนด์วิช พิซซ่า ขนมปังสอดไส้ เค้กมีหน้า เค้กไม่มีหน้า โดนัท ขนมปังแถว พัฟพายครัวซองท์ และเวเฟอร์  ระหว่าง 1,034– 10,471 มก./กก. สำหรับปริมาณสารกันบูดที่ตรวจพบนั้น ประชากรทั่วไปที่บริโภคผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ยังปลอดภัยจากอันตรายของวัตถุกันเสียที่สำรวจ 3 ชนิดนี้ แต่ในชีวิตประจำวันผู้บริโภคยังมีโอกาสที่ได้รับสารเหล่านี้มากกว่านี้จากการบริโภคผลิตภัณฑ์อื่น ทั้งนี้จากการพบการใช้วัตถุกันเสียมากกว่า 1 ชนิด หน่วยงานภาครัฐควรทบทวนข้อกำหนดการใช้วัตถุกันเสียทั้งปริมาณที่อนุญาตให้ใช้ และชนิดวัตถุกันเสียที่อนุญาตให้ใช้ เนื่องจากกรดเบนโซอิกและซอร์บิกไม่ใช่วัตถุกันเสียที่ให้ใช้กับผลิตภัณฑ์ขนมอบโดยตรง 

ด้าน นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการ อย. กล่าวว่า การรับประทานสารกันบูดมาก ๆ อาจส่งผลต่อตับและไตที่จะต้องทำงานหนัก ในการทำหน้าที่ขับสารเหล่านี้ออกจากร่างกาย อย่างไรก็ตามในส่วนของเบเกอรี่หากทำขายหน้าร้านส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องแจ้ง อย. ดังนั้นจึงไม่สามารถควบคุมได้ แต่ถ้าขึ้นทะเบียนกับ อย.นั้นการผลิตทุกอย่างจะต้องได้มาตรฐาน อย่างไรก็ตาม อย.มีแนวคิดที่จะควบคุมอาหารพร้อมบริโภค โดยเฉพาะอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น เป็นสินค้าโอท็อปที่ขึ้นชื่อ เช่น ขนมหม้อแกงหรือกล้วยตาก เบื้องต้นจะให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมอย่างสมัครใจ ดังนั้นอยากฝากไปยังผู้ประกอบการว่า หากสินค้าของท่านได้รับ อย.จะทำให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจ.

..........................................................................................


ที่มา หนังสือพิมพ์าเดลินิวส์ 19 สิงหาคม 2554

พิมพ์ อีเมล

เตือนภัยกาแฟผสมยาลดความอ้วน (ไซบูทรามีน)

“ไวอากร้า-กาแฟลดอ้วน” เกลื่อนเน็ต อย.เตือนถูกหลอก 100% เตรียมลุยกวาดล้าง

 

 

อย.เข้มตั้งหน่วยงานเฉพาะเกาะติดการขายผลิตภัณฑ์ทุกชนิดผ่านทาง อินเทอร์เน็ตหลังระบาดอย่างหนัก โดยเฉพาะยา “ไวอะกร้า” กาแฟลดความอ้วน และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร พร้อมจับมือ ตำรวจ ปคบ.ปอท.และกระทรวงไอซีที ลุยกวาดล้างผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมายต่อเนื่องตลอดปี 2554 เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์ผ่านโลกไซเบอร์เด็ดขาด ชี้โอกาสถูกหลอกมีถึง 100 %

ยุคการสื่อสารไร้พรมแดนทำให้เกิดช่องทางการทำมาหากินขึ้นมากมาย ใครที่ใช้บริการอินเทอร์เน็ตเป็นประจำจะเห็นข้อความโฆษณาขายยา อาหารเสริม กาแฟลดความอ้วน และอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพคนไทยผ่านเว็บไซต์ต่างๆจนนับจำนวนไม่ได้วึ่ง การโฆษณาขายสินค้าประเภทนี้ได้ถูกจับตามองจากหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่าง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยามาโดยตลอด

ตั้งศูนย์เฝ้าระวังจ้องจับคนผิด

ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา บอกกับ “ผู้จัดการ 360 องศารายสัปดาห์”ว่าต้องยอมรับว่าปัจจุบันมีการขายผลิตภัณฑ์สินค้ามากมายโดย เฉพาะในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับยาและอาหารเสริมสุขภาพ โดยนับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552 เป็นต้นมา อย.ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากเนื่องจากในช่วงดังกล่าวได้รับเรื่องร้อง เรียนจากประชาชนที่หลงเข้าใจผิดไปซื้อผลิตภัณฑ์ทั้งยาและอาหารเสริมที่มีการ โฆษณาขายผ่านทางเว็บไซต์ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยประชาชนที่ได้ร้องเรียนเข้ามาต่อเนื่องให้ อย.เข้าไปตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ต่างๆโดยตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมาได้มีการ กวาดล้างไปแล้วหลายรอบสามารถจับกุมผู้กระทำผิดและจากการตรวจสอบพบว่ามี ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ถูกกฎหมายและไม่ได้มาตรฐานหลายร้อยรายการทีเดียว

สืบเนื่องจากปัญหาดังกล่าวทาง อย.จึงได้ตัดสินใจตั้งศูนย์เฝ้าระวังและรับร้องเรียนผลิตภัณฑ์ทุกชนิดทั้ง อาหารและยาที่มีการโฆษณาขายผ่านสื่อต่างๆอย่างเข้มข้น นอกจากนี้ยังได้เปิดช่องทางให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการซื้อสินค้า เหล่านี้ด้วยการเปิดให้มีการร้องเรียนผ่านช่องทาง 1556 ทั้งทางโทรศัพท์ อีเมลล์ หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ เคเบิ้ลทีวี ตลอด 24 ชั่วโมง

“การเปิดศูนย์ดังกล่าวนี้ทำให้เราได้ทราบถึงความเคลื่อนไหวของผู้ ประกอบการ ผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศและยังทำให้เราสามารถตรวจสอบสินค้าเหล่านั้น ได้อย่างรวดเร็วเพราะทันทีที่มีคนร้องเรียนเข้ามาเราจะจัดส่งเจ้าหน้าที่ที่ เกี่ยวข้องออกไปสืบหาข้อมูล หาข้อเท็จจริงเพื่อจะได้ดำเนินการตามกฎหมายได้ทันที”

จับมือ 3 หน่วยงานตรวจเข้ม

นอกจากนี้ อย.ยังได้ร่วมมือกับบตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองครอง ผู้บริโภค (บก.ปคบ.) กองปราบปรามอาชญากรรม ทางเทคโนโลยี (ปอท.) และกระทรวงไอซีที ช่วยกันเฝ้าระวังดูแลการโฆษณาขายสินค้าทุกชนิดทั้งอาหารและยาเพื่อไม่ให้ เกิดผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะการขายยาผ่านทางอินเทอร์เน็ตนั้นน่าเป็นห่วงที่สุด โดยเฉพาะการซื้อยาปลุกอารมณ์ทางเพศประเภท ไวอะกร้า เพราะแค่ทำการโฆษณาขายก็ผิดกฎหมายแล้วเนื่องจากตามกฎหมายแล้วการขายยาจะ อนุญาตให้ขายเฉพาะสถานที่ที่ได้รับอนุญาตเช่นร้านขายยา เท่านั้นส่วนการโฆษณาขายผ่านช่องทางอื่นถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายทั้งสิ้น

“อยากเตือนประชาชนให้ระวังการซื้อสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะใน ส่วนที่เกี่ยวกับยาและอาหารเพราะโอกาสที่ท่านจะถูกหลอกมีอยู่ถึง 100 %เพราะแม้สินค้าบางตัวจะมีการขออนุญาตจาก อย.แต่ก็ไม่ควรซื้อหามาใช้เองโดยพลการเพราะหากใช้ไม่ถูกต้องอาจจะมีอันตราย ถึงชีวิตได้”

รองเลขาธิการ อย. บอกเพิ่มเติมว่า หลังจากที่มีการจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังฯและมีการร่วมมือกับตำรวจทั้งสองหน่วย งานรวมไปถึงกระทรวงไอซีทีแล้ว ปรากฏว่าได้มีการรสืบสวนสอบสวนและจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายที่ผลิต นำเข้า จำหน่าย ผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย ทั้งที่เป็น ยา อาหาร เครื่องสำอาง และเครื่องมือ แพทย์ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2553 ถึงเดือนมีนาคม 2554 สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดรวม 59 ครั้ง ได้ผู้ต้องหาจำนวน 158 ราย มูลค่าของกลางกว่า 440 ล้านบาท รวมทั้ง การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ อย. ในการเฝ้าระวังตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ออกสู่ท้องตลาด ทำให้สามารถตรวจยึดผลิตภัณฑ์สุขภาพของกลาง ตั้งแต่ปี 2551 - ปัจจุบัน มูลค่าของกลางกว่า 10 ล้านบาท

“ในปี 2554 นี้ถือเป็นปีที่ อย.จะทำงานในเชิงรุกมากขึ้นเพราะเมื่อเรามีข้อมูลที่ได้รับการร้องเรียนจาก ช่องทางต่างๆที่เปิดกว้างเช่นนี้จะทำให้เราทำงานได้ง่ายขึ้นและการเข้าถึง ผู้กระทำผิดก็ง่ายขึ้นทั้งนี้เพราะเราได้ส่งเจ้าหน้าที่ทั้งที่เป็นเจ้า หน้าที่ของ อย.และเจ้าหน้าที่ตำรวจของทั้งสองหน่วยงานลงตรวจสอบผู้นำเข้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ผลิตทันทีที่มีเรื่องร้องเรียนมา ”

จับตา “กาแฟลดอ้วน”เป็นพิเศษ

ภญ.ศรีนวล กล่าวต่อไปว่า ในปัจจุบันปรากฏว่ามีผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการลดความอ้วนออกมาจำหน่าย มากขึ้นโดยเฉพาะกาแฟลดความอ้วนจะเห็นว่ามีการโฆษณาเกินจริงผ่านทางเว็บไซต์ ต่างๆมากมาย อย.จึงมีความห่วงใยผู้บริโภคที่ไม่ได้รับรู้ข้อมูลที่แท้จริงว่าการบริโภค กาแฟเหล่านี้มากเกินไปจะเป็นอันตรายถึงชีวิต ฉะนั้นจึงอยากเตือนผู้บริโภคให้จดจำกาแฟยี่ห้อดังต่อไปนี้ บราซิลเพอร์เฟ็ค สลิมมิ่ง คอฟฟี่ (Brazil Perfect Slimming Coffee) ฉลากภาษาต่างประเทศพบไซบูทรามีน , สลิมมิ่ง คอฟฟี่(Slimming Coffee) พบไซบูทรามีน , กาแฟภาษาลาติน กระป๋องสีแดง-ขาว , กาแฟมหัศจรรย์ 26 วันผอม , กาแฟมหัศจรรย์ 26 วันผอม qingshendai , กาแฟภาษาลาติน กระป๋องสีแดง-ทอง , แฟชั่น สลิมมิ่ง คอฟฟี่ (Fashion Slimming Coffee) ฉลากภาษาต่างประเทศ , แฟชั่น สลิมมิ่ง คอฟฟี่ ลี ฟาโล ทิน บอดี คอฟฟี่ (Fashion Slimming Coffee Lie Fallow Thin Body Coffee) ฉลากภาษาต่างประเทศ , สลิมมิ่ง คอฟฟี่ (Slimming Coffee) กล่องสีม่วง ฉลากภาษาต่างประเทศ , สลิมมิ่ง คอฟฟี่ (Slimming Coffee) กล่องสีม่วง-ขาว ฉลากภาษาต่างประเทศพบไซบูทรามีน , โฮล บอดี สลิมมิ่ง คอฟฟี่ เดอะ เธิร์ด เจเนเรชั่น (Whole Body Slimming Coffee the third generation) , สลิมมิ่ง คอฟฟี่ (Slimming Coffee) ฉลากภาษาต่างประเทศ และ เชอโนมีล ฟรุท ไดเอท ฟรุท คอมโพเนน สลิม แคปซูล (Chaenomeles Fruit Diet Fruit Component Slim Capsule)เพราะผลิตภัณฑ์เหล่านี้ทาง อย.ได้ตรวจสอบแล้วปรากฏว่ามียาลดความอ้วนซึ่งถือเป็นยาอันตรายผสมอยู่ใน ปริมาณเกินกว่ากฎหมายกำหนด

“ขอให้ผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อซื้อกาแฟสำเร็จรูปที่โฆษณาสรรพคุณลดความ อ้วนมาบริโภคเด็ดขาด เนื่องจากอาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย หากมีส่วนผสมของยาไซบูทรามีน เพราะมีผลข้างเคียงสูง ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง และหัวใจเต้นเร็ว ส่วนผลข้างเคียงอื่นๆ ได้แก่ ปากแห้ง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ และท้องผูก เป็นต้น ซึ่งยาดังกล่าวต้องใช้โดยอยู่ในความดูแลของแพทย์เท่านั้น”รองเลขาธิการ อย.กล่าวในที่สุด

......................................................................................................................................

ที่มา:

ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์ 16 มิถุนายน 2554 09:47 น.

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน