เตือนกิน”ขนมปัง”สารกันบูดอื้อ

แฉขนมปังเกือบทุกชนิดผสมสารกันบูด หากกินเข้าไปมากๆ ตับกับไตพัง อย.จนปัญญาเอาผิดยาก เพราะส่วนใหญ่ขายหน้าร้านไม่จำเป็นต้องแจ้ง วอนพ่อค้ามาตรวจรับรองก่อนขาย

ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น เมื่อวันที่ 18 ส.ค. ในการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 19  น.ส.ประภาพรรณ พรหมหิรัญกุล นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 5 และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 13 แห่งทั่วประเทศ ได้นำเสนอการประเมินความเสี่ยง ต่อการได้รับวัตถุกันเสียและจุลินทรีย์จากการบริโภคผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ทั่วประเทศ  โดย น.ส.ประภาพรรณระบุว่า เมื่อปี 2553 กลุ่มศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 14 แห่งทั่วประเทศ และสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้สุ่มเก็บผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ จำพวกขนมปังแถว แซนด์วิช เบอร์เกอร์ พิซซ่า ขนมปังสอดไส้ เค้กมีหน้า เค้กไม่มีหน้า แครกเกอร์ ขนมปังกรอบ เวเฟอร์ ขนมปังแท่ง พัฟ พาย ครัวซองท์ โดนัท คุกกี้ และเอแคร์ ที่ผลิตและจำหน่ายในจังหวัด รวมทั้งสิ้น 837 ตัวอย่าง 

นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ฯ ระบุอีกว่า ทั้งนี้ผลการตรวจหาปริมาณวัตถุกันเสีย ชนิดกรดเบนโซอิก กรดซอร์บิก และกรดโปรปิโอนิก พบมีการใช้วัตถุกันเสีย 658 ตัวอย่าง  โดยพบการใช้วัตถุกันเสียชนิดเดียว 310 ตัวอย่าง ได้แก่ กรดเบนโซอิก 159 ตัวอย่าง มีปริมาณเกินเกณฑ์ 1,000 มก./กก. 2 ตัวอย่าง คือ โดนัท 1,588 มก./กก.  และเอแคลร์ 1,887 มก./กก. ,กรดซอร์บิก 46 ตัวอย่าง มีปริมาณเกินเกณฑ์ 4 ตัวอย่างในเค้กกล้วยหอม ,เค้กโรล และเค้กหน้าคัสตาร์ด ในปริมาณ  1,399-4,974 มก./กก.  และพบกรดโปรปิโอนิก 105 ตย. มีปริมาณมากกว่า 2,000 มก./กก. 12 ตัวอย่าง  ในขนมปังสอดไส้  เค้กไม่มีหน้า ขนมปังแถว เวเฟอร์ แซนด์วิช คุกกี้ เค้กโรล ระหว่าง  2,137-8,516 มก./กก. 

น.ส.ประภาวรรณ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังพบมีการใช้วัตถุกันเสีย 2 ชนิด ได้แก่ กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก 136 ตัวอย่าง  มีปริมาณรวมกันเกินเกณฑ์ 7 ตัวอย่าง ในขนมปังสอดไส้  เอแคลร์ เค้กมีหน้า เค้กไม่มีหน้า เบอร์เกอร์ ระหว่าง 1,289-3,933 มก./กก.  พบทั้งกรดเบนโซอิกและกรดโปรปิโอนิก 104 ตัวอย่าง  มีปริมาณรวมเกินเกณฑ์ 58 ตัวอย่าง ในแซนด์วิช ขนมปังแถว เค้กไม่มีหน้า ขนมปังสอดไส้ เค้กมีหน้า พิซซ่า พัฟพายครัวซองท์ โดนัท เวเฟอร์ และคุกกี้ ระหว่าง 1,012–8,223 มก./กก. พบทั้งกรดซอร์บิกและกรดโปรปิโอนิก  29 ตัวอย่า มีปริมาณรวมเกินเกณฑ์ 6 ตัวอย่าง  ในเค้กโรล เค้กมีหน้า ซอฟท์เค้ก คุกกี้ และขนมปังโฮลวีท  ระหว่าง 1,017-2,189 มก./กก  

นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ฯเปิดเผยต่อว่า ผลการตรวจยังพบการใช้กรดทั้ง 3 ชนิด คือ เบนโซอิก  ซอร์บิก และโปรปิโอนิก  ใน 79 ตัวอย่าง มีปริมาณรวมเกินเกณฑ์ 38 ตัวอย่าง  ในแซนด์วิช พิซซ่า ขนมปังสอดไส้ เค้กมีหน้า เค้กไม่มีหน้า โดนัท ขนมปังแถว พัฟพายครัวซองท์ และเวเฟอร์  ระหว่าง 1,034– 10,471 มก./กก. สำหรับปริมาณสารกันบูดที่ตรวจพบนั้น ประชากรทั่วไปที่บริโภคผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ยังปลอดภัยจากอันตรายของวัตถุกันเสียที่สำรวจ 3 ชนิดนี้ แต่ในชีวิตประจำวันผู้บริโภคยังมีโอกาสที่ได้รับสารเหล่านี้มากกว่านี้จากการบริโภคผลิตภัณฑ์อื่น ทั้งนี้จากการพบการใช้วัตถุกันเสียมากกว่า 1 ชนิด หน่วยงานภาครัฐควรทบทวนข้อกำหนดการใช้วัตถุกันเสียทั้งปริมาณที่อนุญาตให้ใช้ และชนิดวัตถุกันเสียที่อนุญาตให้ใช้ เนื่องจากกรดเบนโซอิกและซอร์บิกไม่ใช่วัตถุกันเสียที่ให้ใช้กับผลิตภัณฑ์ขนมอบโดยตรง 

ด้าน นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการ อย. กล่าวว่า การรับประทานสารกันบูดมาก ๆ อาจส่งผลต่อตับและไตที่จะต้องทำงานหนัก ในการทำหน้าที่ขับสารเหล่านี้ออกจากร่างกาย อย่างไรก็ตามในส่วนของเบเกอรี่หากทำขายหน้าร้านส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องแจ้ง อย. ดังนั้นจึงไม่สามารถควบคุมได้ แต่ถ้าขึ้นทะเบียนกับ อย.นั้นการผลิตทุกอย่างจะต้องได้มาตรฐาน อย่างไรก็ตาม อย.มีแนวคิดที่จะควบคุมอาหารพร้อมบริโภค โดยเฉพาะอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น เป็นสินค้าโอท็อปที่ขึ้นชื่อ เช่น ขนมหม้อแกงหรือกล้วยตาก เบื้องต้นจะให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมอย่างสมัครใจ ดังนั้นอยากฝากไปยังผู้ประกอบการว่า หากสินค้าของท่านได้รับ อย.จะทำให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจ.

..........................................................................................


ที่มา หนังสือพิมพ์าเดลินิวส์ 19 สิงหาคม 2554

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน