นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวภายในงานเสวนา การเยียวยาความเสียหายของผู้บริโภค กรณีผู้ประกอบการยกเลิกการให้บริการช่องรายการทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีว่า กรณีของ บมจ. ซีทีเอช ที่ประกาศยุติการให้บริการช่องรายการในทุกแพลตฟอร์ม โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.2559 เวลา 00.00 น.นั้น มองว่า เป็นเรื่องที่บริษัทต้องออกมารับผิดชอบต่อผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค
ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องสังเกตคือ ซีทีเอช รู้อยู่แล้วว่าจะต้องยุติการให้บริการ แต่ในช่วง 2-3 เดือนที่จะประกาศให้สมาชิกรับทราบนั้น ยังคงมีการทำการตลาดขายคอนเทนต์ช่องรายการอย่างต่อเนื่อง ในส่วนนี้อาจตีความได้ว่า จงใจที่จะเอาเงินของผู้บริโภคหรือไม่ โดยตนมองว่าบริษัทไม่ตั้งใจทำธุรกิจ อาจเป็นไปได้ว่า ซีทีเอชมีจุดประสงค์การทำธุรกิจเพื่อ การฟอกเงิน ส่วนนี้ต้องฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยตรวจสอบ
“ขอเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เข้ามาช่วยเป็นตัวแทนผู้บริโภคฟ้องซีทีเอชต่อศาล เป็นการฟ้องในลักษณะที่เจ้าทุกข์เป็นกลุ่ม ส่วนเรื่องอำนาจของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นั้นมองว่า กรณีนี้คือการเยียวยาในส่วนของยกเลิกกิจการ กสทช.เองมีอำนาจในการตรวจสอบเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ พร้อมทั้งสามารถยื่นข้อเสนอในแผนเยียวยาได้อยู่แล้ว ไม่ใช่แค่รับทราบแผนเยียวยาอย่างที่ผ่านมา” เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าว
ขณะที่นายชัยรัตน์ แสงอรุณ คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กล่าวว่า กรณีซีทีเอชนั้น กสทช.ไม่มีอำนาจในการกำหนดรายละเอียดของแผนเยียวยา ทำได้เพียงเห็นชอบและไม่เห็นชอบ มองว่าต่อไปผู้ประกอบการควรมีการวางเงินเป็นหลักประกันเพื่อใช้ชดเชยกรณีแผน เยียวยาไม่เป็นผล
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวว่า ตนเห็นด้วยที่จะมีกองทุนรองรับการชดเชยผู้บริโภค แต่รายได้ที่จะเข้ามาสนับสนุนไม่ควรมาจากเงินสาธารณะ ควรมาจากบริษัทเอกชนที่ประกอบกิจการ อาจเป็นการวางเงินประกัน 5-10 % ส่วนแผนเยียวยาซีทีเอชนั้น คงต้องให้ทางบริษัทส่งมาใหม่ เพราะของเดิมยังไม่ผ่านการเห็นชอบ
ข้อมูลข่าวจาก MGR Online